วานนี้ (4 กรกฎาคม) ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ถึงแนวโน้มการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาลหลัง วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
โหวตเลือกนายกฯ พิธาจะได้เป็นหรือไม่?
ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า ความเป็นไปได้ในการเป็นนายกฯ ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล คงมี 3 แนวทาง ได้แก่
- พิธาและพรรคก้าวไกลมั่นใจในคะแนนเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่จะเติมให้ครบ 376 เสียงในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งตอนนี้พรรคก้าวไกลมี 312 เสียง ฉะนั้น เมื่อดูทิศทางจากการโหวตประธานสภาฯ คงทำให้พรรคก้าวไกลได้คะแนนเพิ่ม 2-3 เสียง และใกล้ถึงวันเลือกนายกฯ ก็อาจจะมีมากกว่านั้น แต่มาในลักษณะของกระเส็นกระสาย คือไม่ใช่มติของทุกคนที่จะมาโหวตให้ แต่ยังมีเวลาอีกหลายวันในการเจรจา
- ในกรณีที่พิธาไม่ได้เป็นนายกฯ วันมูหะมัดนอร์ได้กล่าวเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมว่า “อาจเปิดให้โหวตพิธาได้ 2-3 ครั้ง” แต่วันข้างหน้าอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ เนื่องจากพิธาโหวตไม่ผ่านครั้งแรก ทำให้ก้าวไกลยอมถอยให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีก้าวไกลเป็นพรรคร่วมฯ
- ส.ว. ไม่ต้องการแค่ไม่โหวตพิธา แต่ไม่อยากให้พรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าเป็นเช่นนี้ แพทองธาร ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน สองแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย จะไม่ผ่านด่าน ส.ว. หรือได้ไม่ถึง 376 เสียง ก็จะเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยว่า ‘พรรคเพื่อไทยจะถูกบีบให้หาพรรคอื่นมาร่วมแทนก้าวไกล หรือเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย’
แนวคิดหนึ่งที่ ส.ว. อาจนำไปใช้ได้คือ ถ้า ส.ว. ไม่เอาพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยสามารถไปร่วมกับพรรคอื่นๆ ที่ไม่มีพรรคก้าวไกล ไม่ใช่พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ เพื่อไม่ผิดสัญญา ซึ่งจะมีคะแนน 273 เสียง ซึ่งหมายความว่ายังเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่มีทั้ง 3 พรรคดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทำไม ส.ว. จะไม่โหวตให้พรรคก้าวไกล ในเมื่อพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่เป็นเสียงจากประชาชน เนื่องจากประเทศไทยยังอยู่ในกติกาของรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยวแบบนี้ หรืออาจต้องใช้แนวคิดของ น.ต. ศิธา ทิวารี สมาชิกและแคนดิเดตนายกฯ พรรคไทยสร้างไทย คือ ‘ยื้อไปไม่ให้ ส.ว. โหวตนายกฯ จนถึง 11 พฤษภาคม 2567’
ทั้งนี้ ศ.ดร.สิริพรรณ ระบุว่า อาจเกิดการชุมนุมหาก ส.ว. ไม่โหวตให้พิธา ซึ่งพลังตรงนี้จะมีมาก ถ้ารัฐบาลปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระพยายามจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เนื่องจากไม่มีความชอบธรรม
“หากพรรคอันดับ 2 หรือ 3 พยายามจัดตั้งรัฐบาลกันอยู่ ตนเองคิดว่าพลังของคนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลก็คงจะต้องฟังด้วยว่า ในระบบรัฐสภาไม่จำเป็นเสมอไปที่พรรคอันดับ 1 จะได้เป็นรัฐบาล หลายครั้งก็เกิดรัฐบาลผสมที่ไม่ใช่พรรคอันดับ 1 จัด ในเดนมาร์ก, สวีเดน, เบลเยียม และเยอรมนีก็เป็นแบบนั้น” ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว
ดังนั้น การแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อการไม่โหวตรับรองของ ส.ว. และต้องการสนับสนุนพิธาของผู้สนับสนุนคงเกิดขึ้น แต่อยู่ที่เหตุผลและความชอบธรรมที่จะรองรับว่าจะไปได้หรือไม่ หากไม่มีเหตุผลมากพอ คนที่สนับสนุนคงต้องใช้วิจารณญาณว่า ‘ออกมาสนับสนุนแล้วเดินหน้าไปได้จริงหรือเปล่า’
นอกจากนี้ บางกลุ่มอาจใช้เรื่องการชุมนุมเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารหรือสร้างความไม่สงบ และนำไปสู่ความสูญเสียทางสังคม ฉะนั้น ขอให้ใจเย็นๆ เพราะการกดดัน ส.ว. อาจไม่ได้ช่วยอะไร
อนาคตของขั้วอำนาจเดิม?
ส่วนขั้วอำนาจเดิมคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาตินั้น
พรรครวมไทยสร้างชาติคงไม่ได้หวังหรือแสวงหาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่ได้ยอมหยุด เนื่องจากการส่ง วิทยา แก้วภราดัย ส.ส. บัญชีรายชื่อ ชิงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทั้งๆ ที่ทราบว่าจะไม่ได้ ก็เป็นสัญญาณว่า ‘ฝั่งขั้วอำนาจเดิมหรืออนุรักษนิยมยังไม่ปล่อยมือ’
ทั้งนี้ ถ้ามองขั้วอำนาจเดิมคงไม่ได้มีแค่พรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ยังมีพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์จะพลิกผัน
ศ.ดร.สิริพรรณ ขยายความเพิ่มว่า “อย่าลืมว่าในท้ายที่สุดแล้ว ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 จนถึง 11 พฤษภาคม 2567 ส.ว. ยังคงเป็นตัวแปร แม้ว่าจะไม่อยากเห็น แต่เป็นกติกาที่ระบุไว้”
สิ่งที่ต้องจับตาหลังได้รัฐบาลชุดใหม่?
ขึ้นอยู่กับว่า ‘รัฐบาลชุดใหม่ประกอบด้วยพรรคร่วมอะไรบ้าง’ แต่สังหรณ์ใจว่าค่อนข้างหนักหนาสาหัส เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะ Synchronization หรือเศรษฐกิจถดถอยพร้อมกัน
ซึ่งประเทศไทยไม่ได้มีแค่ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ยังมีหลายกฎหมายที่ระบุใน 100 วันแรกของพรรคก้าวไกลที่จะทำทันทีหลังจัดตั้งรัฐบาล เช่น สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม รวมถึงโจทย์ใหญ่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ถ้าพูดในทางการเมืองและความจริง การต่อรองระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย รวมถึง 8 พรรคร่วมฯ ได้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันในหลายๆ เรื่อง อาจเป็นสาเหตุทำให้รัฐบาลหน้าอยู่ไม่ครบ 4 ปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร
“ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล และพิธาเป็นนายกฯ และทำภารกิจบางอย่างสำเร็จ มีสิทธิมากที่จะยุบสภาเร็ว เพราะว่าก้าวไกลเป็นพรรคที่ใช้เงินในกระบวนการเลือกตั้งน้อยกว่าพรรคอื่น ต้นทุนน้อยกว่า ขณะที่พรรคอื่นๆ ใช้เยอะมาก และความพร้อมที่สู้กันในเวทีสื่อสังคมออนไลน์ก็สู้ก้าวไกลไม่ได้
“ถ้ามองเผินๆ เหมือนไพ่อยู่ในมือก้าวไกล และพิธามีอำนาจยุบสภาได้ แต่ในทางกลับกันได้สร้างความกลัวให้กับพรรคอื่นๆ ที่ยังไม่พร้อมจะมีการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน” ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวปิดท้าย