×

ศิริกัญญามองความเห็น ป.ป.ช. ทำดิจิทัลวอลเล็ตล่าช้าโดยไร้ประโยชน์ แนะรัฐบาลหาข้อมูลมาหักล้างเรื่องความคุ้มค่า

โดย THE STANDARD TEAM
07.02.2024
  • LOADING...

วันนี้ (7 กุมภาพันธ์) ศิริกัญญา ตันสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ประชุมของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะเรื่องการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลกรณีเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

 

ศิริกัญญากล่าวว่า หลายเรื่องที่ ป.ป.ช. มีความเห็นมาในครั้งนี้ไม่ได้แตกต่างจากความเห็นที่หลุดออกมาสู่สื่อมวลชนก่อนหน้านี้ แม้ครั้งนี้จะมีแหล่งข่าวระบุว่า ป.ป.ช. จะพยายามปรับให้โทนของความเห็นเบาลง แต่ความจริงก็เหมือนเดิมทุกประการ หลายเรื่องเป็นสิ่งที่รัฐบาลทราบอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต แต่อยู่ในภาวะกำลังฟื้นตัวเข้าสู่จุดสมดุล หรือการที่หาเสียงไว้แบบหนึ่งแต่กำลังจะทำอีกแบบหนึ่ง 

 

ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า ดังนั้นเรายังคงยืนยันว่าคำแนะนำของ ป.ป.ช. ก็เป็นเพียงอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ. มาตรา 32 แต่รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องทำตามที่ ป.ป.ช. เสนอแนะ แน่นอนว่ามีส่วนที่เราเห็นด้วยในบางข้อ แต่ในหลายข้อเราก็คิดว่าน่าจะเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการแนะนำ อาทิ การให้จำกัดคนที่จะได้รับประโยชน์ให้เป็นเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือรายได้น้อยเท่านั้น ก็ต้องมาดูด้วยว่าวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการที่แตกต่างกัน อาจไม่ได้เพื่อกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะ

 

“การที่ ป.ป.ช. ทำรายงานฉบับนี้ออกมา แล้วทำให้ทุกอย่างต้องดีเลย์ออกไป ค่อนข้างเป็นการเสียระยะเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ความจริงรัฐบาลควรต้องเดินหน้าปรึกษาหารือและนัดประชุมกับคณะกรรมการนโยบายชุดใหญ่ เพื่อสรุปว่าโครงการนี้จะเดินหน้าในวิธีใดมากกว่า” ศิริกัญญากล่าว

 

หากรัฐบาลเดินหน้าโครงการต่อ เรื่องนี้จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศิริกัญญาระบุว่า รัฐบาลทราบมาโดยตลอดว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงิน มีความเสี่ยงทางกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลว่าจะแก้ปมนี้อย่างไร อีกทั้งรายงานของ ป.ป.ช. ยังมีถ้อยคำที่เขียนเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงอาจทำให้คนไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ได้ง่ายดายขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ศิริกัญญาชี้ว่า หลายช่วงหลายตอนในรายงานของ ป.ป.ช. มีการพูดถึงความคุ้มค่าของโครงการและตัวคูณทางการคลัง ส่วนตัวจึงมั่นใจว่า หากรัฐบาลได้การศึกษาขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อหักล้างข้อมูลของ ป.ป.ช. ก็สามารถทำได้ แต่รอจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีผลการศึกษาดังกล่าวจากรัฐบาลมายืนยันความคุ้มค่าของโครงการเลย

 

ศิริกัญญายังย้ำด้วยว่า หนทางที่จะใช้งบประมาณปี 2568 เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย แต่ก็จะทำให้โครงการล่าช้าออกไปอีก หลังเดือนกันยายนของปี 2567 คือเริ่มจากเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าโครงการจะเริ่มเมื่อไร เพราะกำหนดการจากเดือนพฤษภาคมก็เลื่อนไปแล้วอย่างไม่มีกำหนด และอีกข้อจำกัดคือ แม้จะใช้งบปี 2568 ก็ยังไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับโครงการ 5 แสนล้านบาทนี้ ดังนั้นการลดกลุ่มเป้าหมายลงมาก็เป็นทางออกอีกทางหนึ่ง แต่อีกปมที่ยังไม่ได้แก้คือเรื่องความคุ้มค่าของโครงการ

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ถือว่าช้าเกินไปหรือไม่ที่รัฐบาลจะหันกลับมาทบทวนโครงการนี้ ศิริกัญญากล่าวว่า ไม่ช้า เพราะเราไม่เคยปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหา เพียงแต่ว่าตอนนี้ยังไม่เข้าสู่ช่วงวิกฤตเต็มตัว ยังคงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมาได้แล้วในวันนี้โดยที่ไม่ต้องรอถึงเดือนพฤษภาคมหรือตุลาคม ถ้ามีการทบทวนในระหว่างทางว่าควรต้องมีโครงการอื่นๆ ออกมาในระหว่างนี้ก่อน โครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็คงจะต้องรอให้มีเงินมากเพียงพอแล้วค่อยทำ ก็ยังคงเป็นไปได้เช่นเดียวกัน 

 

“เพราะว่าก็ไม่รู้จะโทษใครดีที่ต้องการจะทำโครงการขนาดมหึมาแบบนี้ แต่ไม่ได้เตรียมในเรื่องเงินที่วางไว้ จึงมีปัญหาที่ต้องแก้ไปทีละปะเหลาะแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตอนนี้คิดว่าควรมีแอ็กชันอะไรที่สามารถทำได้เลย อาจจะเล็กลงมา ใช้งบกลางที่มีอยู่แล้วไปพลางก่อน ก็น่าจะทำให้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ภายในระยะเวลานี้” ศิริกัญญากล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X