×

ศิริกัญญาพร้อมเอาใจช่วยโหวตนายกฯ 22 ส.ค. ให้ผ่านไปด้วยดี ย้ำก้าวไกลยังไม่จำเป็นต้องรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน รอคดีพิธาคลี่คลายก่อน

โดย THE STANDARD TEAM
18.08.2023
  • LOADING...
ศิริกัญญา ตันสกุล

วันนี้ (18 สิงหาคม) ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนในการโหวตนายกรัฐมนตรี หลังพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติในการจัดตั้งรัฐบาล

 

ศิริกัญญากล่าวว่า คงจะมีความชัดเจนแล้วว่าการจัดตั้งรัฐบาลน่าจะมีพรรครวมไทยสร้างชาติ และที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่ามีครบ 314 เสียง ก็น่าจะมีพรรคพลังประชารัฐมาร่วมเป็นพรรคสุดท้าย จึงคิดว่าไม่น่าจะเหลืออะไรแล้วที่จะต้องงดออกเสียง พรรคก้าวไกลก็คงจะไม่เห็นชอบ ทั้งนี้ ก็ต้องรอมติที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ออกมาอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม ว่าจะโหวตกันไปในทิศทางใด

 

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรหลังจากที่พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคร่วมไทยสร้างชาติ ศิริกัญญากล่าวว่า คาดเดาได้มาเป็นระยะ สัญญาณออกมาตั้งแต่ตอนที่เชิญไปพูดคุยกันที่พรรค มีการจิบน้ำช็อกมิ้นต์ ตนก็เริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่าอาจจะต้องมีการเข้าร่วมรัฐบาลจากพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว ส่วนตัวยอมรับว่าผิดหวัง ไม่คิดว่าจะมาถึงวันนี้ ถ้าแพ็กกันแน่นๆ ก็คงจะต่อสู้กับอำนาจนอกระบบหรืออำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจากเสียงสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้

 

เมื่อถามว่าส่วนตัวมองอย่างไรบ้างที่ใช้คำว่ารัฐบาลแห่งชาติเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้นั้น ศิริกัญญาระบุว่า ถ้าประเทศเดินหน้าไปได้ก็น่าจะออกได้หลายทาง ไม่ใช่ทางนี้ แต่ถ้าจะเป็นการยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริงเราก็ยินดีด้วยว่าสุดท้ายแล้วทั้งสองฝั่งจะไม่ทะเลาะกัน ไม่ต้องมีความขัดแย้งแล้ว

 

“ถ้าเป็นรัฐบาลแห่งชาติจริงก็คือไม่ได้ทะเลาะตบตีกับเพื่อไทยแล้ว มาทะเลาะตบตีกับก้าวไกลแทน แบบนี้เป็นต้น” ศิริกัญญากล่าว

 

เมื่อถามว่าพร้อมทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านหรือไม่ ศิริกัญญาระบุว่า ตอนนี้ก็เริ่มทำงานแล้ว และพร้อมทำงานเต็มที่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน ถึงไม่ได้เป็นรัฐบาลประชาชนก็เข้าใจและให้กำลังใจมาโดยตลอด และไม่ว่าจะอยู่สถานะไหนประชาชนก็พร้อมเป็นโหวตเตอร์ให้พรรคก้าวไกล เมื่อได้ยินแบบนี้เราก็สู้ตาย เริ่มทำงานในฐานะฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ งานในสภา ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ต้องมีฝ่ายอยู่แล้ว เดินหน้ายื่นกฎหมายเป็นระยะๆ และเดินหน้าตรวจสอบหน่วยงานรัฐตามปกติ

 

เมื่อถามว่าจะเรียกว่าพรรคก้าวไกลเป็นผู้นำฝ่ายค้ายได้หรือยังนั้น ศิริกัญญาระบุว่าวันนี้สถานะของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังอยู่ระหว่างการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นก็จะไม่มีหัวหน้าพรรคในสภา และพรรคก้าวไกลก็ยังไม่รีบที่จะตัดสินใจว่าจะเอาตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านหรือไม่ รอให้คดีของพิธาคลี่คลายก่อนแล้วค่อยมาคุยกัน

 

ทั้งนี้ แม้การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นก่อนก็ไม่ได้มีผลอะไร เพราะสถานะของผู้นำฝ่ายค้านไม่มีผลอะไรในการทำงานในฐานะฝ่ายค้านเลย แต่อาจจะมีผลในเรื่องการเป็นคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ

 

“เมื่อหัวหน้าพรรคของเรายังไม่ได้เข้าสภา เราก็คิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน” ศิริกัญญากล่าว

 

เมื่อถามว่าประเมินอย่างไรบ้างในการจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้จะอยู่ได้กี่ปี ศิริกัญญาระบุว่า เอาแง่ดี ถ้าสามารถร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จาก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งสำเร็จก็จะยุบสภาทันที ดังนั้นกรอบเวลาก็ค่อนข้างที่จะชัดเจนก็ขึ้นอยู่กับอายุของ สสร. ว่าจะมีอายุเท่าไร

 

เช่น ถ้า สสร. ทำงาน 6 เดือน รัฐบาลก็จะมีอายุได้ 2 ปีก็น่าจะจบแล้ว ถ้ากรอบระยะเวลาของ สสร. ยาวออกไป ก็น่าจะนานกว่านั้น ทั้งนี้ ก็ต้องให้โอกาสรัฐบาลใหม่ได้ทำงานดูว่าจะมีข้อขัดแย้งกันเองอย่างไรหรือไม่ แต่ไม่ถึง 4 ปีแน่นอน เพราะกรอบระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญยังไงก็ไม่ถึง 4 ปี ถ้าเกิน 4  ปี คือมีเจตนาที่จะยืดระยะเวลาออกไป

 

ส่วนการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 สิงหาคม มองอย่างไร เพราะ สว. ก็เริ่มระบุว่าจะไม่โหวตให้กับ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ศิริกัญญากล่าวว่า เดายากมาก เพราะตอนนี้เราก็นั่งอยู่วงนอก ได้แต่คอยดูว่าข่าวจะเป็นอย่างไร และแน่นอนว่าอาจจะมี สว. บางส่วนออกมาพูดชัดเจนว่าอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่เชื่อว่าไม่ใช่ สว. ทั้งหมด และยังเอาใจช่วยให้การโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยดี

 

เมื่อถามว่าสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเลือกในตอนนี้จะมีผลกับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่นั้น ศิริกัญญากล่าวว่า ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย การตัดสินใจอะไรไปมันจะต้องมีผลที่จะตามมาแน่นอน

 

“เราก็ได้พูดไปบ้างแล้วว่าการตัดสินใจครั้งนี้มันมีราคาที่จะต้องจ่าย ไม่ได้หมายความว่าเอาเงินไปจ่าย แต่มันมีต้นทุนที่สูงมากที่เขาจำเป็นจะต้องแบกรับไว้ และการไม่ฟังเสียงของประชาชน หันหลังให้คำสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน มันคงต้องมีอะไรตอบแทนไปมากกว่าการจัดตั้งรัฐบาล ที่อยู่เบื้องหลังที่เขาจำเป็นจะต้องทำ ก็คงต้องพยายามทำความเข้าใจ” ศิริกัญญากล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X