×

“คุณย่าสอนว่าเราต้องโตโดยไม่เหยียบหัวใคร” นิยามธุรกิจที่ยั่งยืนของ ศิรเดช โทณวณิก ทายาทรุ่น 3 โรงแรมดุสิตธานี

19.04.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ศิรเดช โทณวณิก รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจและโครงการใหม่ กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า การทำธุรกิจต้องเกิดประโยชน์กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่โรงแรม แต่เป็นสังคมที่ดีขึ้น
  • ประวัติศาสตร์หน้าถัดไปของโรงแรมดุสิตธานีคือการยกระดับแบรนด์สู่ความเป็นสากล ทันสมัยภายใต้คุณค่าหลักที่เครือดุสิตยึดถือมาตลอดคือการบริการที่เป็นเลิศอย่างไทย (Thai Hospitality)

บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ด้วยรายได้กว่า 5.5 พันล้านบาทในปี 2561 ที่ผ่านมา ตอกย้ำการเป็นผู้เล่นรายสำคัญของธุรกิจโรงแรมไทย ปัจจุบันเครือดุสิตมีธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ด้วยเครือข่ายบริหารจัดการมืออาชีพ แม้ธุรกิจจะเติบโต แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือหลักคิดของผู้ก่อตั้งโรงแรม และเป็นคุณค่าหลักขององค์กรจวบจนถึงปัจจุบัน

ศิรเดช โทณวณิก รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจและโครงการใหม่ กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กรรมการผู้จัดการกลุ่มสถาบันการศึกษาของดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล และกรรมการผู้จัดการบริษัท อาศัย โฮลดิ้งส์ จำกัด ทายาทรุ่น 3 ของเครือดุสิต ในฐานะ ‘หลานย่า’ ของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ถ่ายทอดความคิดของเขากับ THE STANDARD เขานิยามความยั่งยืนของโลกธุรกิจอย่างไร พบคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์พิเศษนี้

 


ไฟดวงสุดท้ายที่ดับลง คุณค่าความเป็นไทย และก้าวใหม่ของโรงแรมดุสิตธานี

“วันสุดท้ายก่อนปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ตัวผมก็อยู่ที่โรงแรมนะครับ พนักงานทุกคนยืนเรียงแถวเป็น 2 แถวเพื่อส่งลูกค้า คนที่เขาเช็กเอาต์ออกคนสุดท้ายก็ต้องเดินผ่าน 2 แถวนี้ครับ ค่อนข้างเศร้าเหมือนกันที่จะต้องอำลาที่นี่ วันนั้นอยู่กันจนดึกเลย อยู่จนถึงตอนที่เราปิดไฟ เราทำเป็นสารคดีเล็กๆ เก็บเอาไว้ ยังไม่ได้เผยแพร่ในตอนนี้ครับ พนักงานที่ทำงานต่อกับเราก็มีกว่า 200 คน ส่วนใครที่ได้โอกาสที่ดีกว่าเราก็สนับสนุน ทีมผู้บริหารบอกกับพนักงานว่าเราจะไม่ทิ้งกันนะ แม้เราจะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่เราก็ดูแลทุกคนเหมือนคนในครอบครัว”

 

ศิรเดชยอมรับว่ากดดันพอสมควรกับก้าวใหม่ของโรงแรมดุสิตธานีในครั้งนี้ เพราะไม่ต้องการทำธุรกิจบริการเพียงอย่างเดียว แต่อยากจะสร้างสิ่งที่ดีให้กับเมืองด้วยการยกระดับพื้นที่นั้นๆ ด้วย โครงการนี้ควรจะเป็นประโยชน์กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่ใช้ชีวิตบริเวณสีลมและถนนพระราม 4 ด้วย โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เป็นแฟลกชิปสำคัญขององค์กร เมื่อนึกถึงชื่อ ‘ดุสิตธานี’ ก็จะคิดถึงโรงแรมที่เป็นตำนานบริเวณแยกศาลาแดงนี้ ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญกับอุตสาหกรรมโรงแรมไทย

 

“เรื่อง Business Disruption มันมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเกิดภายในหรือว่านอกองค์กรก็ตาม เราต้องดูว่าเราจะจัดการกับความยุ่งยาก (Pain Points) ได้อย่างไร พอทราบว่าโรงแรมจะปิด เราก็เตรียมแผนงานว่าจะทำอย่างไรต่อ ทั้งเรื่องแบรนด์ รายได้ที่หายไป เราเตรียมการล่วงหน้ามา 2-3 ปี เราตั้งเป้าจะสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นแฟลกชิปในแต่ละจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในรูปแบบลักชัวรี ล่าสุดเพิ่งไปขยายธุรกิจที่มัลดีฟส์ เราต้องคิดตลอดว่าจะหารายได้จากส่วนไหนเพิ่มได้อีกเพื่อมาทดแทนส่วนที่หายไปของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี ที่ผ่านมาเราลงทุนทั้งในอุตสาหกรรมโรงแรมและธุรกิจอื่นเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจที่มี นอกจากนี้ยังรับบริหารโรงแรมกว่า 60 แห่งทั่วโลกด้วย นี่เป็นการขยายแบรนด์ (Brand Extension) นะครับ”

 

ส่วนโครงการใหม่ ‘ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค’ ที่เครือดุสิตจับมือกับกลุ่มเซ็นทรัลร่วมพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสมูลค่า 3.67 หมื่นล้านบาทบนพื้นที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เดิมนั้น ศิรเดชไม่ได้คาดหวังว่าอาคารหลังใหม่นั้นจะอยู่ได้เพียง 10-20 ปีเท่านั้น แต่เขาเชื่อว่าแลนด์มาร์กใหม่แห่งนี้จะตระหง่านอยู่บนหัวถนนสีลมไปได้อีก 50-60 ปีข้างหน้า สอดคล้องกับจุดเริ่มต้นของโรงแรมดุสิตที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งสร้างมากับมือ ก็สามารถดำเนินกิจการมาได้ถึง 50 ปี และกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของกรุงเทพมหานครตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา  

 

“เดิมผู้คนอาจมองภาพของโรงแรมดุสิตเป็นโรงแรมที่นำเสนอความเป็นไทยอย่างลึกซึ้ง ซึ่งก็ตรงกับวัตถุประสงค์ของผู้ก่อตั้ง ในขณะที่โจทย์ใหม่คือการเป็นโรงแรมไทยแห่งอนาคต (Thai Hotel For The Future) จึงปรับเป็นรูปแบบมิกซ์ยูสที่กำลังเป็นที่ต้องการในขณะนี้ ทางทีมก็ยังต้องยึดถือสิ่งที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ได้ทำตั้งแต่ตอนแรกคือการบริการที่เป็นเลิศอย่างไทย (Thai Hospitality) และตอบสนองสิ่งที่โลกในอนาคตของธุรกิจโรงแรมต้องการ คุณย่า (ท่านผู้หญิงชนัตถ์) จะพูดตลอดว่า เราทำธุรกิจอย่างไรเราก็ต้องเติบโต ต้องขยายให้มากขึ้น แต่เราจะไม่มีวันเติบโตโดยเหยียบหัวคนอื่นขึ้นไป ท่านพูดเรื่องนี้ตลอดเวลา ทำธุรกิจแบบดุสิตธานีคือทุกคนต้องได้ประโยชน์ นี่คือคุณค่าหลักขององค์กรเรา”

 

 

ไม่เพียงแต่การบริหารงานที่โรงแรมดุสิตเท่านั้น ตัวเขาเองก็ยังทำโครงการ ‘อาศัย’ (Asai) ที่แยกแบรนด์ออกมาต่างหากด้วย เขาต้องการสร้างแบรนด์อาศัยให้เป็น Neighborhood Hotel เนื่องจากเชื่อว่าไม่ใช่แค่เมืองแต่ละเมืองเท่านั้นที่แตกต่างกัน ถนนแต่ละเส้นในเมืองเดียวกันยังมีอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนกันด้วย โครงการอาศัยตั้งอยู่ที่ซอยสาทร 12 แม้จะอยู่ในกรุงเทพฯ เหมือนกัน แต่ศิรเดชก็เห็นว่าที่นี่มีความพิเศษคนละแบบกับย่านเยาวราชหรือสุขุมวิทชัดเจน

 

“แถวนี้จะมีร้านเล็กๆ เท่ๆ เต็มไปหมด มีชุมชนของพวกเขาเอง นี่คือประสบการณ์ที่เป็นของจริงที่สัมผัสได้ การที่เราเชื่อมโยงโรงแรมกับเอกลักษณ์ของพื้นที่ มันมีที่อะไรให้เล่นเยอะเลย ส่งเสริมเรื่องคุณค่าของแบรนด์ได้ดีมาก คือถ้าพูดเรื่อง Lean Luxury ผมคิดว่าคนสมัยนี้คิดว่าไม่จำเป็นต้องพักในห้องขนาด 30 ตารางเมตรเสมอไป ห้องพักแบบ 15-20 ตารางเมตรที่ออกแบบดีๆ ก็อยู่สบายแล้ว บางทีเดินทางมาเหนื่อยเราก็อยากจะขึ้นห้อง อาบน้ำ และนอนเลย ไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนของพนักงานโรงแรมเป็นสิบคน หรืออย่างบุฟเฟต์อาหารทั่วไปที่มีเป็นร้อยเมนู ก็อาจจะไม่จำเป็น บางทีเราก็อยากได้เมนูเด็ดๆ สัก 4-5 อย่างเท่านั้น นี่ล่ะคือ Lean Luxury สำหรับผม ที่ผมตั้งบริษัทใหม่และให้ชื่อ ‘อาศัย’ ที่ถือว่าแหวกแนวจากเดิมไป เป็นเพราะอยากสร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่ไม่ยึดโยงกับโครงสร้างเดิมที่มี ทำให้เป็น Disruptor ไปเลยดีกว่า นี่คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่”

 

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เครือดุสิตให้ความสำคัญกับการลงทุน รวมทั้งบริหารจัดการโรงแรมในต่างประเทศพอสมควร โจทย์ที่สำคัญสำหรับเขาคือการขยายธุรกิจไปต่างประเทศอย่างมีสมดุลที่ลงตัวของความเป็นดุสิตและความเป็นสากล เชื่อว่าจะใส่ความเป็นไทยไปทั้งหมดในทุกองค์ประกอบนั้นไม่เหมาะกับโลกธุรกิจปัจจุบัน เนื่องจากเครือดุสิตต้องการเป็นแบรนด์ระดับโลก แต่ละประเทศหรือพื้นที่ต่างก็มีวิถีของตนเองทั้งสิ้น

 

“นักท่องเที่ยวที่ไปมัลดีฟส์ก็ไม่ต้องการเจออะไรที่มันเป็นไทยแบบเข้มข้น เขาต้องการจะไปดูความงดงามของท้องถิ่น สิ่งที่ควรทำคือไม่เพียงส่งเสริมเรื่องความเป็นไทยอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องเปิดความเป็นสากลในตัวออกไปให้ผู้คนเห็นด้วย โดยยังคงความเป็นไทยอยู่ในแง่ของคุณค่าหลักอย่างการบริการที่งดงามอย่างไทย แต่ส่วนอื่นๆ ก็สามารถปรับให้เหมาะสมกับตลาดได้”

 

THE STANDARD สอบถามมุมมองของเขาที่มีต่อ ‘ศุภจี สุธรรมพันธุ์’ ซีอีโอหญิงคนเก่งของเครือดุสิต ซึ่งก้าวเข้ามาบริหารงานจากการทาบทามของบิดา (ชนินทธ์ โทณวณิก) และสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับตำนานแบรนด์โรงแรมแห่งนี้ ทายาทของธุรกิจครอบครัวกับผู้บริหารมืออาชีพจะทำงานร่วมกันได้อย่างไร

 

“คุณศุภจีคือ The Right One” ศิรเดชกล่าว

 

“เธอเป็นซีอีโอที่เก่งมาก ทั้งวิสัยทัศน์และการบริหารคน เขาเข้ามาอยู่ระหว่างคนรุ่นพ่อและคนรุ่นผม ซึ่งตัวเขาก็จัดการได้ดีมาก ไม่ใช่ว่าเรามีเจ้านายอยู่แล้ว เราจะจัดการกับเจ้านายของเราไม่ได้ ผมว่ายิ่งมีเจ้านายยิ่งต้องจัดการเลย บ่อยครั้งที่ผมกับพ่อเห็นไม่ตรงกัน คุณศุภจีจะเข้ามาช่วยประสาน เขาจัดการตรงนี้ได้ดีมาก ถือว่าโชคดีที่ได้คุณศุภจีเข้ามาเป็นผู้นำของบริษัทเราในตอนนี้ครับ ตอนที่คุณศุภจีเข้ามารับตำแหน่งถือว่ายากมากเลย ไม่ใช่แค่ต้องจัดการกับธุรกิจของครอบครัวอย่างเดียว แต่ยังต้องรับมือกับความแตกต่างระหว่างคนสองรุ่นที่มีอยู่มาก คนที่อยู่กับเรามานานเป็นคนสำคัญที่สร้างคุณค่าให้องค์กร แต่เมื่อโลกธุรกิจเปลี่ยนไป เราก็ต้องมีจุดที่เหมาะกับพวกเขา ส่วนคนรุ่นใหม่จะมาพร้อมกับไอเดียใหม่ ต้องการที่จะเติบโต ตรงนี้คุณศุภจีทำได้ยอดเยี่ยมมาก ผมคิดว่าคนในธุรกิจครอบครัวไม่จำเป็นต้องเก่งเรื่องธุรกิจที่ตัวเองทำอยู่ เพียงแต่หาคนที่เก่งๆ มาบริหารงานเพื่อพาองค์กรเดินไปข้างหน้าได้ สมาชิกครอบครัวก็เป็นคณะกรรมการบริษัทไป”

เมื่อยอมรับก็นับถือ เมื่อนับถือก็นำไปสู่ความร่วมมือที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ  สิ่งที่สำคัญจากนี้คือการมองไปข้างหน้าและสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร

 

 

ความท้าทายของธุรกิจครอบครัวและก้าวที่ยั่งยืนของดุสิตธานี

“การที่เราทำกิจการของครอบครัว เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเองอยู่แล้ว เราทำเพื่อส่วนรวมของทุกคน มันคือความรับผิดชอบ ผมต้องพยายามจัดการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนสองรุ่น ถือเป็นความท้าทายที่ดีครับ การที่เราเป็นคนรุ่นใหม่ไม่ได้หมายความว่าความคิดของคนรุ่นเก่ามันล้าหลังหรือว่าไม่ดีนะ เราต้องมาดูว่าเราจะเอาความคิดของเขาไปแปลงเพื่อใช้กับคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร ความคิดของคนแต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน เพราะน้ำหนักของสิ่งที่คนแต่ละรุ่นให้กับแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน”

 

ไม่เพียงแต่การประสานนำความคิดระหว่างรุ่นเท่านั้น ศิรเดชย้ำว่า ตัวเขาให้ความสำคัญเรื่องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนพอสมควร ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดไม่ได้เลยถ้าองค์กรไม่ได้คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ทั้งหมดรวมถึงผู้คนที่อยู่รอบข้างด้วย เขาเชื่อว่าความยั่งยืนจำเป็นต้องพิจารณาในแง่ของตัวเลขทางบัญชีด้วย ทำธุรกิจอย่างไรก็ต้องมีกำไร ซึ่งบางส่วนยังเข้าใจผิดว่าการทำธุรกิจแบบยั่งยืนคือการกุศลหรือกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ซึ่งเนื้อแท้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

 

“การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนจะต้องฝังอยู่ในทุกกระบวนการทางธุรกิจ (Business Process) ในทุกวันทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลูกค้าหรือพนักงาน ทุกวันนี้เราพยายามสร้างโอกาสในการเติบโตของอาชีพ เพื่อที่วันข้างหน้าพวกเขาจะได้ช่วยเหลือชุมชนและสังคมได้จากการสนับสนุนของเรา ตัวอย่างง่ายๆ คือชาวนาในประเทศไทย มีปัญหาเรื่องหนี้สิน ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ใช้สารเคมีในปริมาณมาก พอมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เข้าโรงพยาบาลก็เสียเงินอีก การไปให้เงินอุดหนุนชาวนาอย่างที่ทำกันก็ถือเป็นการช่วยเขา แต่ทำไมเราไม่ซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนาเองล่ะ หรือชวนให้เขาปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งจะขายได้ราคาสูงและเราก็สามารถซื้อตรงจากพวกเขาได้ ตัวชาวนาก็สามารถกำหนดและขายข้าวในราคาที่ต้องการได้

 

“โยงกลับมาที่พนักงานของโรงแรม ถ้าเราอบรมพวกเขาจนให้ข้อมูลกับแขกที่มาพักได้ว่าข้าวที่กินอยู่นี้มันมาจากจังหวัดอะไร เป็นข้าวพันธุ์ไหน ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะมีข้าวของเขา มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน นี่ล่ะคือการสร้างคุณค่าที่ดี นี่คือปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เพียงแต่สร้างความพึงพอใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลที่ดีต่อยอดขายและธุรกิจด้วย”

วันที่ 25 พฤษภาคมนี้ เขาจะร่วมวงเสวนากับทายาทธุรกิจชั้นนำ รวมถึง ‘ฐาปน สิริวัฒนภักดี’ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด ในเวทีป๋วยทอล์ก ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ของวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยส่วนตัวเขาชื่นชอบแนวคิดของปูชนียบุคคลท่านนี้อยู่แล้ว

 

“อาจารย์ป๋วยเป็นคนที่สุดยอดมาก มีหลักคิดที่ยิ่งใหญ่และชัดเจนมาก สิ่งที่ท่านคิดยังมีผลต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของไทยเรามาจนถึงทุกวันนี้ กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่าแนวคิดท่านสอดคล้องกับเรื่องความยั่งยืนพอสมควร สิ่งที่ผมตั้งใจจะไปแชร์ในงานป๋วยทอล์ก ครั้งที่ 6 ผมอยากจะแชร์ให้คนฟังได้คิดว่าอะไรที่เราสามารถทำให้ทั้งเศรษฐกิจและธุรกิจยั่งยืนได้บ้าง ธุรกิจโรงแรมเองก็ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง ที่โรงแรมเราซักผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดเท้ากันทั้งวัน อาหารลูกค้าจะกินหรือเปล่าไม่รู้ เราก็เสิร์ฟไปก่อน ไฟก็ต้องเปิดอยู่ตลอด ทั้งที่มันมีวิธีที่จะแก้ไขอะไรตรงนี้ได้ค่อนข้างเยอะเลย ผู้บริโภคตอนนี้ต้องการใช้บริการโรงแรมที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม ดีกับชุมชน ข้อมูลที่ดีพวกนี้ผมก็จะนำไปบอกเล่าในงานด้วย ส่วนสิ่งที่ผมคาดหวังจากธุรกิจขนาดใหญ่อื่นอย่างเช่น ไทยเบฟ ผมก็อยากดูว่าข้อปฏิบัติที่เขาทำอยู่ในอุตสาหกรรมของเขาเป็นอย่างไร เขาทำอะไรไปบ้าง คุณหนุ่ม (ฐาปน สิริวัฒนภักดี) เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ก็น่าสนใจว่าเขามีอะไรใหม่ๆ ที่สามารถทำธุรกิจอย่างยั่งยืนได้บ้าง”

 

พลังจากคนรุ่นใหม่ในโลกยุคใหม่คือสิ่งที่จะทำให้โลกหมุนไปข้างหน้า ไม่ว่าเทคโนโลยีหรือโลกธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตามที ความยั่งยืนทางธุรกิจเป็นเรื่องที่มากกว่ากิจกรรมการกุศลหรือตอบแทนสังคมเป็นครั้งคราว และเกี่ยวข้องกับทุกคนในฐานะผู้มีส่วนได้เสียบนโลกใบนี้

 

ยั่งยืนจึงไม่ใช่เพียงอยู่ยาว

แต่เป็นการยืนหยัดที่จะทำสิ่งที่ดีไปตราบนานเท่านาน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X