×

บิ๊กเอกชน-ผู้ประกอบการ ฝากการบ้านถึงแพทองธาร “ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤต อยากให้เร่งแก้ทุกด้าน ทำอะไรได้ให้รีบทำ”

21.08.2024
  • LOADING...

การเข้ามาบริหารงานของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในเวลานี้ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ซึ่งก่อนที่จะไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ โจทย์ที่แพทองธารต้องเร่งรีบกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น

 

  • ปัญหาหนี้ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันคนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงมากถึง 16 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 90.9% ของ GDP
  • ปัญหาราคาพลังงานผันผวน หนี้กองทุนทั้งน้ำมันและค่าไฟฟ้า
  • ปัญหาสินค้าจีนทะลัก ซึ่งมีผลกระทบต่อ SMEs ภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างมากในขณะนี้
  • ปัญหาโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรม
  • ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
  • สงครามการค้าใหม่
  • แผนผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่หวังจะเป็นยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจไทย
  • แผนกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว

 

นี่เป็นเพียงโจทย์ที่รอวัดฝีมือนายกฯ คนใหม่ในเบื้องต้นเท่านั้น ฟากฝั่งภาคเอกชนและผู้ประกอบการส่งเสียงสะท้อนถึงนายกฯ คนใหม่อย่างไรบ้าง มีเรื่องไหนที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 

 

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี หรือ DUSIT ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า เรื่องการท่องเที่ยว อยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ 2-3 ประเด็น

 

  • ประเด็นแรก การสร้างแบรนดิ้งประเทศไทยให้เป็น Premium Destination โดยเน้นในเรื่องคุณภาพ และเสริมด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เช่น การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งการสร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย

 

  • ประเด็นที่สอง การกระตุ้นให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมเสริมทักษะบุคลากรเพื่อการบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นให้ธุรกิจให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นกัน

 

  • ประเด็นที่สาม การลดความซ้ำซ้อนและความยากของกฎระเบียบ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

“ความสำเร็จของการท่องเที่ยวไม่ได้อยู่ที่การท่องเที่ยวเองเท่านั้น แต่ต้องอาศัยหลายๆ ภาคส่วน ทั้งเรื่องของสายการบิน สนามบิน รวมทั้งกฎระเบียบเกี่ยวกับการขอวีซ่าและกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการพักอาศัยระยะยาว”

 

 

‘การบินไทย’ ฝากนายกฯ ใหม่ ให้มีนโยบายหนุนภาคท่องเที่ยวที่ต่อเนื่อง

 

ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย หรือ THAI ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า โจทย์ที่ต้องการฝากถึงนายกฯ ใหม่ คือ ต้องการให้ดำเนินนโยบายสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวที่ต่อเนื่องจากนโยบายของ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ที่มีแนวทางชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมามีความก้าวหน้าในระดับหนึ่งแล้ว ทั้งภาคธุรกิจการบิน รวมทั้งการลงทุนขยายความจุจำนวนผู้โดยสารของสนามบินที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนในระยะยาวควรขยายความจุของสนามบินเพิ่มอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

“มองว่าในธุรกิจสายการบินมีความเห็นว่า รัฐบาลควรผ่อนปรนกฎระเบียบข้อบังคับให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจสายการบินในปัจจุบันมีนโยบายเปิดให้แข่งขันแบบเสรี ส่งผลให้มีการแข่งขันสูงระหว่างประเทศ โดยภาพการแข่งขันจะเป็นปัจจัยสะท้อนศักยภาพในการแข่งขันของสายการบินแต่ละแห่ง เพื่อให้ธุรกิจสายการบินมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น” ชายกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีนโยบายที่สามารถสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ดี เช่น มาตรการฟรีวีซ่า รวมถึงนโยบายที่อำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวโดยการนำระบบดิจิทัลมาช่วยพัฒนาให้ดีขึ้น ทำให้การใช้เวลาในสนามบินสั้นลง

 

เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือเป็นภาคที่สามารถเพิ่มผลผลิตหรือสร้างรายได้ที่เป็นเงินตราให้กับประเทศไทยได้อย่างรวดเร็วที่สุดโดยไม่ต้องลงทุนขนาดใหญ่ เพราะสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบันมาบริหารจัดการสร้างรายได้ให้กลับเข้ามาได้ทันที จากการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย

 

ห่วงเศรษฐกิจไทยอยู่ในขั้นวิกฤต!

 

ขณะที่ มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง จังหวัดอุดรธานี ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ขอแสดงความยินดีกับแพทองธาร ที่ได้ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 31 ของประเทศไทย เพราะคนไทยคงเลือกอะไรไม่ได้แล้ว ส่วนในมุมความเชื่อมั่นยังไม่สามารถประเมินได้

 

แต่เรามองได้ 2 มุม ในฐานะของคนที่จะเป็นผู้นำ ความสามารถกับบารมีต้องมาด้วยกัน แต่ที่มาแน่ๆ คือ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ในฐานะพ่อ เขาเข้ามาเต็มตัวแน่ ปัญหาที่ตามมาคือ คนที่เป็นที่ปรึกษาหรือรัฐมนตรีที่มีประสบการณ์จริงๆ อาจไม่มีโอกาสได้ช่วยงานเต็มที่ เรียกได้ว่าจะมีปัญหากับการบริหารงานแน่นอน

 

“ยิ่งตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในขั้นวิกฤต สิ่งที่อยากให้รัฐบาลผลักดันอย่างเร่งด่วนคือนโยบายทุกด้านเลย ทำอะไรได้ให้รีบทำ ส่วนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่ตอนนี้สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย แล้วยังหาข้อตกลงกับธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ ถ้าดันต่อ คุณแพทองธารก็มีโอกาสที่จะตกอยู่ในสถานะเดียวกันกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่องจำนำข้าวในอดีตที่ผ่านมา แล้วทักษิณจะยอมให้ลูกสาวสุ่มเสี่ยงหรือไม่”

 

โดยส่วนตัวมองว่ารัฐบาลจะมีนโยบายใหม่ออกมาแก้เกมหรือทดแทนนโยบายเงินดิจิทัล

 

ด้าน วิโรจน์ วชิรเดชกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานธุรกิจในประเทศ บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง หรือ SNNP กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เมื่อได้นายกฯ คนใหม่แล้ว ต้องรีบจัดตั้ง ครม. ชุดใหม่ให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้งบประมาณประจำปีล่าช้าไปมากกว่านี้ เพราะถ้าช้าลงอาจมีผลต่อ GDP ของประเทศที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ และต้องรีบแถลงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน

 

ส่วนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ส่วนตัวยังประเมินไม่ได้ว่าจะได้ไปต่อหรือไม่ แต่มองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นเท่านั้น และประชาชนในตลาดต่างจังหวัดต่างตั้งหน้ารอเงินดิจิทัลในไตรมาส 4 ซึ่งถ้าไม่ได้ อาจทำให้บรรยากาศการจับจ่ายไม่คึกคักเท่าที่ควร และอีกหนึ่งปัจจัยที่เห็นผลกระทบไปบ้างแล้วคือ เมื่อรัฐบาลหยุดชะงักไป มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทุกคนต้องคอยจับตาดูอย่างใกล้ชิด

 

สำหรับศรีนานาพร เราเดินตามแผนงานเดิม ไม่ว่าการเมืองหรือเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร บริษัทมุ่งหน้าดันสินค้ากลุ่มขนมและเครื่องดื่มให้เติบโตทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้กลยุทธ์สร้างทีมขายให้แข็งแกร่ง พัฒนาสินค้าและกำหนดราคาเข้าไปวางขายในแต่ละช่องทางแตกต่างกัน หากสังเกตจะเห็นว่าสินค้าของศรีนานาพรจะมีหลากหลายราคา ไม่ว่าจะเป็นเบนโตะ ขนมขาไก่โลตัส ซึ่งเริ่มต้นที่ 5 บาท เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค

 

ผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคห่วงกำลังซื้อรากหญ้า

 

แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจสินค้าอุปโภค-บริโภครายใหญ่กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เมื่อการเมืองสะดุดย่อมต้องมีผลกระทบตามมาอยู่แล้ว เพราะในช่วงที่ต้องรอเลือกนายกฯ ใหม่ พร้อม ครม. ชุดใหม่ ซึ่งมีกระบวนการไม่ต่ำกว่า 1 เดือน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะนโยบายและแผนงานต่างๆ ที่อาจชะลอตามไปด้วย

 

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือความเชื่อมั่นของต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน เพราะเขาจะมองความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นตัวแปรหลัก

 

สำหรับมุมมองของเอกชน ส่วนใหญ่ยังเดินหน้าตามแผนเดิมที่วางไว้ หากสังเกตจะเห็นว่าหลายๆ บริษัทไม่ได้เร่งเครื่องลุยเหมือนแต่ก่อน เพราะสถานการณ์ภายในประเทศยังไม่นิ่ง ซึ่งต้องคอยติดตามตลอดเวลา

 

“ยิ่งในไตรมาส 4 นี้ หากเงินดิจิทัล 10,000 บาทยังไม่ได้ตามที่รัฐบาลให้ความหวังเอาไว้ก่อนหน้านี้ ก็จะกระทบต่อการสร้างยอดขายสินค้าอย่างมาก เพราะประชาชนรากหญ้าต่างตั้งหน้าตั้งตารอที่จะนำเงินมาใช้จ่าย”

 

สถานการณ์ดังกล่าวสอดรับกับแหล่งข่าวในธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย ซึ่งกล่าวว่า ในมุมของธุรกิจเอกชน เราอยากได้ ครม. ชุดใหม่ที่มีความรู้และมีฝีมือในการบริหารงานให้มีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนที่เข้ามาดูกระทรวงสำคัญๆ ยิ่งต้องมีความสามารถอย่างมาก ไม่อยากให้ข้อจำกัดทางการเมืองมีผลต่อการเลือกคนมากเกินไป เพราะจริงๆ แล้ว ประเทศไทยเคยเผชิญสถานการณ์แบบนี้มาหลายรอบมาก และบางครั้งจะมีจังหวะที่หลังชนฝาแล้วเราจะได้คนที่มีฝีมือเข้ามาให้เห็น แล้วธุรกิจจะเชื่อมั่นในการทำงาน

 

หลังจากนี้ต้องมารอดูว่า ครม. ชุดใหม่จะสร้างความมั่นใจให้กับธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน แต่ยังเชื่อว่าถ้าการเมืองไม่มีการเปลี่ยนขั้วก็จะสานต่อนโยบายต่างๆ ให้เดินหน้าต่อได้

 

ทั้งนี้ ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก แต่ก็ยังกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในภาพรวม เมื่อทุกอย่างชะลอไปหมด ทั้งค่าแรงและเม็ดเงินกระตุ้นต่างๆ จะกระทบกำลังซื้อ โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด

 

รายงานข่าวระบุว่า ภายในสัปดาห์นี้การจัดตั้ง ครม. ของรัฐบาลแพทองธารจะได้ข้อสรุป และนายกฯ จะประกาศกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่และชี้แจงนโยบายที่จะสานต่อจากรัฐบาลเศรษฐา รวมไปถึงแผนและรูปแบบการดำเนินงานโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising