สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute: SIPRI) เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก พบว่าคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน มีจำนวนเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ขณะที่มหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัย ท่ามกลางสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดมากขึ้น
“เรากำลังเข้าใกล้หรืออาจจะถึงจุดสิ้นสุดของระยะเวลาอันยาวนานที่อาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกนั้นมีจำนวนลดลง” แดน สมิธ (Dan Smith) ผู้อำนวยการ SIPRI กล่าว
ข้อมูลจากทีมนักวิจัยของ SIPRI พบว่ามหาอำนาจด้านอาวุธนิวเคลียร์ทั้ง 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส อินเดีย อิสราเอล เกาหลีเหนือและปากีสถาน มีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์รวมกันนับจนถึงต้นปีนี้อยู่ที่ 12,512 หัวรบ ซึ่งลดลงจากช่วงต้นปี 2022 ที่มีจำนวน 12,710 หัวรบ
ในจำนวนนี้ 9,576 หัวรบ ถูกเก็บอยู่ใน ‘คลังแสงทางทหารที่อาจมีการใช้งาน’ ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว 86 หัวรบ
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน รัสเซีย อินเดีย เกาหลีเหนือ และปากีสถาน โดยจีนนั้นมีหัวรบนิวเคลียร์เพิ่มมากที่สุดจาก 350 หัวรบ เป็น 410 หัวรบ ส่วนรัสเซียเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก 4,477หัวรบ เป็น 4,489 หัวรบ
ขณะที่รัสเซียและสหรัฐฯ ยังเป็น 2 ประเทศที่มีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์รวมกันคิดเป็นเกือบ 90% ของทั้งหมดทั่วโลก
นอกจากนี้ SIPRI ยังแยกความแตกต่างระหว่างคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศต่างๆ ที่พร้อมใช้งานและที่เก็บรวบรวมไว้ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงหัวรบเก่าที่มีกำหนดจะทำลายทิ้ง
“คลังแสงเก็บหัวรบนิวเคลียร์ที่ใช้งานได้จริงและตัวเลขเหล่านี้เริ่มเพิ่มขึ้น” สมิธกล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขหัวรบนิวเคลียร์ทั่วโลก ณ ตอนนี้ ยังคงห่างไกลจากจำนวนกว่า 70,000 หัวรบ ในช่วงทศวรรษที่ 1980
ทั้งนี้ นักวิจัยของ SIPRI ตั้งข้อสังเกตว่าความพยายามทางการทูตในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์และการลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์กำลังเผชิญกับความพ่ายแพ้ หลังจากที่รัสเซียเปิดฉากสงครามรุกรานยูเครน
โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มอสโกประกาศว่าจะระงับการเข้าร่วมในสนธิสัญญา New START หรือสนธิสัญญาว่าด้วยการลดอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ที่ทำขึ้นในปี 2010
ภาพ: Feng Li / Getty Images
อ้างอิง: