×

เทียบชัดๆ ภูมิคุ้มกันจาก Sinovac vs. โควิดสายพันธุ์ต่างๆ

15.07.2021
  • LOADING...
Sinovac

ถึงแม้ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac และผู้ป่วยโควิดจะตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อไวรัส (S1-RBD-binding IgG) เหมือนกัน แต่ปริมาณภูมิค้มกันในการยับยั้งไวรัส (NAb) ต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์ ‘ลดลง’ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะสายพันธุ์ ‘เดลตา’ ซึ่งภูมิคุ้มกันจากผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มมีความสามารถในการยับยั้งได้ต่ำที่สุด ซึ่งน้อยกว่าผู้ป่วยโควิดเป็น 3-4 เท่า

 

คณะผู้วิจัยจากหลายสถาบัน ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เผยแพร่ต้นฉบับงานวิจัยก่อนการตีพิมพ์ในเว็บไซต์ medRxiv เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 โดย ‘ภูมิคุ้มกัน’ ที่ตรวจพบเป็นตัวแทนที่บอกถึง ‘ประสิทธิภาพ’ ของวัคซีนได้

 

งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาภูมิคุ้มกันในบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม และผู้ป่วยโควิดที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลในปี 2563 และ 2564 รวมเป็น 3 กลุ่ม ทดสอบการยับยั้งไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOCs) 3 สายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟา (อังกฤษ) เบตา (แอฟริกาใต้) และเดลตา (อินเดีย) พบว่าทั้ง 3 กลุ่มตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อไวรัส (IgG) 

 

แต่ปริมาณภูมิค้มกันในการยับยั้งไวรัส (NAb) แตกต่างกัน หากใช้เกณฑ์ปริมาณภูมิคุ้มกันที่มากกว่า 20 หน่วยถือว่ามีภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสได้ จะพบว่าผู้ป่วยมี NAb ต่อทุกสายพันธุ์มากกว่า 90% (90 ใน 100 คน) แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มมี NAb ลดลงกล่าวคือ 75.0%, 70.0% และ 48.3% ต่อสายพันธุ์อัลฟา เบตา และเดลตาตามลำดับ (75, 70 และประมาณ 50 ใน 100 คน)

 

และเมื่อวิเคราะห์ปริมาณภูมิคุ้มกัน (Titer) และปรับค่าด้วยตัวแปรอื่น ได้แก่ เพศ อายุ และวันที่เก็บตัวอย่าง พบว่าภูมิคุ้มกัน ‘ลดลง’ อย่างชัดเจนในทุกสายพันธุ์ โดยเฉพาะต่อสายพันธุ์ ‘เดลตา’ ซึ่งภูมิคุ้มกันจากผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มมีปริมาณภูมิคุ้มกันต่ำที่สุดคือ 24.5 หน่วย ถือว่าน้อยกว่า 3-4 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยโควิด (69.2 และ 94.4 หน่วยในปี 2563 และ 2564)

 

คณะผู้วิจัยระบุในบทคัดย่อว่า “ผลการวิจัยนี้ยังมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้กำหนดนโยบายด้านสาธารณสุขที่อาจจำเป็นต้องคงไว้ซึ่งยุทธศาสตร์บรรเทาการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางความเสี่ยงที่มีความเป็นไปได้สูงต่อการติดเชื้อสายพันธุ์ที่น่ากังวล ถึงแม้จะเป็นผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนแล้ว” ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วยังต้องป้องกันตัวเองในระยะนี้ เพราะมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา

 

ส่วน ศบค. และกระทรวงสาธารณสุขจะต้องนำผลการวิจัยไปประกอบการปรับแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนในไตรมาศ 3-4 ของปีนี้ และปี 2565

 

Sinovac

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X