×

อาการ ‘คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง’ หลังฉีดวัคซีน Sinovac กับข้อสรุปที่ยังคลุมเครือ

23.04.2021
  • LOADING...
อาการ ‘คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง’ หลังฉีดวัคซีน Sinovac กับข้อสรุปที่ยังคลุมเครือ

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • จุดเริ่มต้นของข่าวนี้ไม่ได้ออกมาจากฝั่งกระทรวงสาธารณสุข แต่เป็นเฟซบุ๊กของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ระบุว่า เกิดเหตุการณ์อัมพฤกษ์ 6 ราย
  • กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าว ‘อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้หลังฉีดวัคซีนโควิด-19’ สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีผู้ป่วยจำนวน 6 ราย ที่จังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ 5-9 เมษายน 2564 ทุกรายเป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 21-54 ปี ทำงานเป็นบุคลากรทางการแพทย์ พบอาการผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่ แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก มี 1 รายมีอาการชาแต่ไม่มีอ่อนแรง เกิดขึ้นภายหลังจากได้รับวัคซีน 5-30 นาที 
  • ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แสดงความเห็นในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 22 เมษายน ว่า “ลักษณะที่เกิดขึ้นทำให้เส้นเลือดเกร็งและหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อสมองไม่เพียงพอ และพิสูจน์แล้วจากการสอดสายฉีดสีเข้าเส้นเลือดสมองและให้ยาขยายเส้นเลือดผู้ป่วย อาการดีขึ้นทันที” 

2-3 วันมานี้ วัคซีน Sinovac ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ ทั้งที่เป็นวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตวัคซีนมานาน วัคซีนที่หลายคนเคยฉีดก็ผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือวัคซีนพิษสุนัขบ้า แต่ไม่มีข่าวว่าทำให้เกิดอาการ ‘คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง’ มาก่อน

 

จึงขอลำดับเหตุการณ์ทั้งหมด และสาเหตุที่เป็นไปได้ของอาการดังกล่าว ดังนี้

 

วันที่ 20 เมษายน 2564

จุดเริ่มต้นของข่าวนี้ไม่ได้ออกมาจากฝั่งกระทรวงสาธารณสุข แต่เป็นเฟซบุ๊กของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ระบุว่า เกิดเหตุการณ์อัมพฤกษ์ 6 ราย

 

หลังฉีดวัคซีน Sinovac ที่จังหวัดระยอง และอีกรายหนึ่งที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมกับแผนภาพสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคที่ 6 (สคร.6) ชลบุรี ขณะที่ในไลน์ก็มีการแชร์รายงานการสอบสวนโรคในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป

 

วันที่ 21 เมษายน 2564

ต่อมาวันที่ 21 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการแถลงข่าว ‘อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้หลังฉีดวัคซีนโควิด-19’ สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีผู้ป่วยจำนวน 6 ราย ที่จังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ 5-9 เมษายน 2564 ทุกรายเป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 21-54 ปี ทำงานเป็นบุคลากรทางการแพทย์

 

พบอาการผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่ แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก มี 1 รายมีอาการชาแต่ไม่มีอ่อนแรง เกิดขึ้นภายหลังจากได้รับวัคซีน 5-30 นาที ทุกรายได้รับการตรวจและรักษาตามมาตรฐาน แต่ผลสแกนคอมพิวเตอร์ (CT) และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สมองไม่พบความผิดปกติ 

 

ทุกรายอาการดีขึ้นภายใน 3 วัน ทั้งหมดได้รับวัคซีน Sinovac ล็อตเดียวกัน (Lot No. J202103001) ผลตรวจสอบคุณภาพโดยสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่พบความผิดปกติ และล็อตนี้มีการกระจายทั่วประเทศ มีผู้ได้รับวัคซีนมากกว่า 3 แสนคน แต่ยังไม่พบความผิดปกติ

 

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน ชี้แจงความเห็นของคณะกรรมการว่า

 

  • ผู้ป่วยมีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง แต่เป็นชั่วคราวและกลับมาปกติ
  • คาดว่าน่าจะเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน เพราะเกิดหลังจากฉีด 5-10 นาที แต่ยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร 
  • ยังสามารถใช้วัคซีนล็อตนี้ต่อไปได้ เพราะมีประโยชน์มากกว่าอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น 
  • แต่จะต้องเฝ้าติดตามดูต่อไปว่าจะเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้อีกหรือไม่

 

ในการแถลงข่าวดังกล่าวยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทอีก 2 ท่านจากสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ร่วมยืนยันความเห็นของคณะกรรมการ และแนะนำผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว หากมีอาการแขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัย 

 

วันที่ 22 เมษายน 2564

อย่างไรก็ตาม วันที่ 22 เมษายน 2564 มีข่าวอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนที่จังหวัดลำปางจำนวน 40 ราย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข ตอบคำถามถึงกรณีนี้ว่าพบผู้ป่วยอาการ ‘คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง’ เพียง 1 รายเท่านั้น

 

แหล่งข่าวระบุว่า เป็นหญิงอายุ 46 ปี ได้รับการฉีคซีน Sinovac (Lot No. J202103002) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 หลังจากนั้น 15 นาทีมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาเจียน พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก CT ไม่พบความผิดปกติของเนื้อสมอง แต่ CT หลอดเลือดพบหลอดเลือดสมองหดตัว 

 

ได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดและฉีดสีเพื่อศึกษาหลอดเลือดพบว่า หลอดเลือดสมองกลับมาเป็นปกติ แต่ยังมีอาการชาอยู่ จึงได้รับยานิโมดิปีน (Nimodipine) หลังจากนั้นไม่มีอาการอ่อนแรงหรือชา แพทย์สรุปว่า เป็นภาวะหลอดเลือดแดงหดตัวชั่วคราว (RCVS)

 

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางและโรงพยาบาลต่างๆ ยังคงฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ถึงแม้จะหยุดชั่วคราวเพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดก่อน แต่เมื่อส่วนกลางแจ้งไปว่าสามารถฉีดต่อไปได้ ก็เริ่มดำเนินการฉีดต่อควบคู่กับการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยยังไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น 

 

ภาวะหลอดเลือดแดงหดตัวชั่วคราวคืออะไร

ภาวะหลอดเลือดแดงหดตัวชั่วคราว (Reversible cerebral vasoconstriction syndrome: RCVS) เป็นโรคที่มีความหมายตรงตามชื่อ คือสามารถหายได้เองภายใน 3 เดือน พบในเพศหญิงอายุ 20-50 ปี พบไม่บ่อยและยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

 

  • ยาที่มีผลทำให้หลอดเลือดแดงหดตัว เช่น ยาแก้ปวดไมเกรนกลุ่ม Ergot และ Triptans ยาแก้คัดจมูกกลุ่ม Ephedrine ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SSRI หรือ SNRI
  • สารเสพติด เช่น กัญชา โคเคน ยาม้า และยาบ้า
  • หลังคลอดบุตรในช่วง 1 เดือน อาจพบร่วมกับภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์

 

อาการที่พบคือปวดศีรษะรุนแรงทั่วทั้งศีรษะ และเกิดขึ้นทันทีทันใดเหมือนฟ้าผ่า (Thunderclap) นานประมาณ 1-3 ชั่วโมง ร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน และอาการผิดปกติทางระบบประสาทจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบ เช่น แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด ตามัว ชักตามมา

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 เมษายน ว่า “ลักษณะที่เกิดขึ้นทำให้เส้นเลือดเกร็งและหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อสมองไม่เพียงพอ และพิสูจน์แล้วจากการสอดสายฉีดสีเข้าเส้นเลือดสมองและให้ยาขยายเส้นเลือดผู้ป่วย อาการดีขึ้นทันที 

 

“ในขณะเดียวกันต้องระวังว่าถ้าเส้นเลือดเกร็งและหดตัวนานจะเกิดเส้นเลือดตันซ้ำซ้อนและเนื้อสมองตายถาวร ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด โดยหลายแห่งใช้วิธีนี้แล้วผู้ป่วยดีขึ้นเช่นกัน” ส่วนสาเหตุสันนิษฐานว่า “ไม่น่าจากตัววัคซีนเอง แต่ควรจะมีสิ่งปนเปื้อนในขณะเตรียมหรือการบรรจุขวด”

 

ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เห็นว่ายังต้องฉีดวัคซีนต่อ ร่วมกับสังเกตอาการที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 30 นาที และสังเกตอาการต่อที่บ้านอีก 24 ชั่วโมง หากมีอาการให้รีบมาโรงพยาบาล ซึ่งมียาขยายหลอดเลือดทั้งชนิดกินและฉีด ถึงแม้จะเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก แต่ไม่ควรเป็นอุปสรรคสำหรับการให้วัคซีน

 

เป็นปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจากการฉีดวัคซีนหรือไม่

ในการแถลงข่าวของอธิบดีกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 22 เมษายน ได้อธิบายกระบวนการทำงานของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่า จะมีการสรุปความเห็น 3 ระดับ คือ เกี่ยว-น่าจะ-ไม่เกี่ยวกับวัคซีน ซึ่งในกรณีของจังหวัดระยอง คณะกรรมการเห็นว่า ‘น่าจะ’ เกี่ยวข้องกับวัคซีน 

 

นอกจากนี้ยังพูดถึงปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจากการฉีดวัคซีน (ImmunizationStress-Related Response: ISRR) ว่ามักพบในผู้หญิงอายุไม่มาก เป็นกับวัคซีนหลายล็อต เกิดขึ้นเร็ว มีอาการทางระบบประสาท หายเองและกลับมาเป็นปกติได้ เมื่อตรวจด้วย MRI มักไม่พบความผิดปกติ

 

ถึงแม้จะไม่ได้สรุปว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นภาวะ ISRR หรือไม่ แต่ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน บางคนสังเกตว่าอาจเกี่ยวกับ ‘ความเครียด’ หรือมีปัญหาสุขภาพจิต จึงแนะนำให้นำการประเมินสุขภาพจิตมาประกอบ

 

ข้อสรุปที่ยังคลุมเครือ

อาการหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่คล้ายกับโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นที่จังหวัดระยอง 6 ราย น่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน Sinovac แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนอีก 1 รายที่จังหวัดลำปาง ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการ แต่แพทย์ผู้รักษาสรุปว่า เป็นภาวะ RCVS ซึ่งอาจสัมพันธ์กับวัคซีนเช่นกัน

 

สำหรับกรณีเกี่ยว/น่าจะเกี่ยวกับวัคซีน อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้แจงว่า คณะกรรมการมี 3 ตัวเลือกในการตัดสินใจ คือ 

 

  • ให้ฉีดวัคซีนต่อ เพราะมีประโยชน์มากกว่าโทษ 
  • หยุดฉีดวัคซีนถาวร เพราะมีโทษมากกว่า เช่น ผลข้างเคียงรุนแรง หรือมีอันตราย 
  • หยุดฉีดวัคซีนชั่วคราว เพื่อตรวจสอบสาเหตุให้แน่ชัด 

 

แต่ท้ายที่สุดคณะกรรมการก็เลือกให้ฉีดวัคซีนต่อ ท่ามกลางความกังวลของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งได้รับการจัดสรรวัคซีน Sinovac ให้ในระยะแรกของการกระจายวัคซีน ส่วนประชาชนบางส่วนก็อาจได้รับวัคซีน Sinovac อีกล็อตที่เพิ่งนำเข้ามาเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน

 

กรมควบคุมโรคต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนอย่างรอบด้านกับประชาชน ซึ่งด้านประโยชน์มักจะได้ยินประจำอยู่แล้ว ส่วนด้านโทษก็ควรสื่อสารความเสี่ยงด้วย ที่สำคัญจะต้องสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ด้วยความเป็นวิชาการ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการเอง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X