รายงานฉบับล่าสุดจากมูลนิธิมินเดอรู (Minderoo Foundation) เปิดเผยว่า โลกของเรามียอดการใช้งานขยะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตจากโพลีเมอร์ที่สร้างขึ้นจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แม้ว่าหลายประเทศจะมีความพยายามในการลดมลพิษจากพลาสติกและลดการปล่อยคาร์บอนก็ตาม
ดัชนีผู้ผลิตขยะพลาสติก (Plastic Waste Makers Index: PWMI) ประจำปี 2023 ของมูลนิธิมินเดอรูเปิดเผยว่า ประชากรทั่วโลกมียอดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งมากถึง 139 ล้านเมตริกตันในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากระดับ 133 ล้านเมตริกตันในปี 2019 โดยจำนวนขยะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในช่วง 2 ปีดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 6 ล้านเมตริกตัน หรือเทียบเท่ากับเกือบ 1 กิโลกรัมต่อคน เนื่องจากดีมานด์บรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น เช่น ฟิล์มห่ออาหาร หรือซองพลาสติกต่างๆ
โดยสถานการณ์ดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลหลายประเทศได้ประกาศนโยบายในการลด-ละ-เลิก การจำหน่าย ผลิต หรือการใช้งานพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งลง รวมถึงการสั่งแบนผลิตภัณฑ์หลายประเภท เช่น หลอดพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก กล่องใส่อาหารแบบใช้แล้วทิ้ง สำลีก้านพลาสติก และถุงพลาสติก แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังคงสูงอย่างน่าหวั่นใจ
ย้อนกลับไปในเดือนกรกฎาคม แคลิฟอร์เนียกลายเป็นรัฐแรกของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศเป้าหมายของตนเอง ซึ่งรวมถึงการลดการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกลง 25% ภายในปี 2032 ส่วนในเดือนธันวาคม สหราชอาณาจักรได้เพิ่มรายการสินค้าที่ถูกแบนให้ครอบคลุมถาดแบบใช้แล้วทิ้ง ก้านลูกโป่ง ถ้วยพลาสติก และภาชนะใส่อาหารบางประเภท นอกจากนี้ยังมีคำสั่งแบนในลักษณะเดียวกันในประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และอินเดีย เป็นต้น
นอกจากนี้ รายงานยังระบุด้วยว่า การรีไซเคิลไม่สามารถขยายตัวได้รวดเร็วพอที่จะรองรับปริมาณขยะมหาศาล โดยตั้งแต่ปี 2019-2021 ปริมาณของพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นอยู่ที่ 15 เท่าของปริมาณพลาสติกรีไซเคิล โดยพลาสติกที่ใช้แล้วมีแนวโน้มที่จะถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ ตามชายหาด ในแม่น้ำ หรือมหาสมุทร มากกว่าที่จะนำมารีไซเคิล
ขณะเดียวกันพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งไม่ได้เพียงแต่สร้างวิกฤตด้านมลพิษเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อภาวะโลกรวนอีกด้วย โดยการศึกษาพบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นตลอดวัฏจักรชีวิตของพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในปี 2021 เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของสหราชอาณาจักรในปีเดียวกันที่ 450 ล้านเมตริกตัน
ดร.แอนดรูว์ ฟอร์เรสต์ เอโอ (Andrew Forrest AO) ประธานมูลนิธิมินเดอรู กล่าวว่า “บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ยอมจัดการกับปัญหาขยะพลาสติก ในทางตรงกันข้าม พวกเขากำลังสร้างผลิตภัณฑ์ที่คุกคามมนุษย์และโลกของเรามากยิ่งขึ้นกว่าเดิม” พร้อมเสนอว่าโลกควรสร้างแนวทางขั้นพื้นฐานใหม่ที่จะช่วยยุติการผลิตพลาสติกในอนาคต เช่น การเรียกเก็บ ‘ค่าธรรมเนียมโพลีเมอร์’ จากการผลิตโพลีเมอร์พลาสติกด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลทุกๆ 1 กิโลกรัม ตลอดจนนโยบายจูงใจทางการเงินต่างๆ ที่ส่งเสริมการใช้ซ้ำและการรีไซเคิล รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญใหม่
แฟ้มภาพ: Rich Carey via Shutterstock
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2023/02/05/energy/single-use-plastics-volume-grows-climate-intl-hnk/index.html
- https://www.thaipr.net/en/general_en/3298422