×

‘สิงห์ เอสเตท’ อัดเกมหนัก ปิดดีลซื้อ ‘นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์’ 2.42 พันล้านบาท เดินตามโร้ดแมปกลุ่มธุรกิจใหม่

07.05.2021
  • LOADING...
การเข้าซื้อกิจการ ‘นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ สิงห์ เอสเตท

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • บมจ.สิงห์ เอสเตท (S) บริษัทผู้พัฒนาและลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ประกาศบรรลุข้อตกลงมูลค่า 2,421 ล้านบาท ในการเข้าซื้อ ‘นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์’ บนพื้นที่ขนาด 1,790 ไร่
  • การเข้าซื้อกิจการนิคมอุตสาหกรรมอาหารในครั้งนี้เป็นหนึ่งในแผนการรุกกลุ่มธุรกิจที่ 4 ของบริษัท ซึ่งจะเข้ามาเติมเต็มศักยภาพการทำรายได้ของพวกเขา ควบคู่ไปกับการผนึกกำลังร่วมกับโรงไฟฟ้าทั้งสามแห่งที่พวกเขาได้เข้าไปถือหุ้นก่อนหน้านี้

ยังคงเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มุ่งหน้าเดินตามแผนการพัฒนาธุรกิจใหม่ชนิดที่เรียกว่า ‘ไม่มีผ่อนแรง’ กันเลยจริงๆ สำหรับ ‘สิงห์ เอสเตท’ หรือ บมจ.สิงห์ เอสเตท (S) บริษัทผู้พัฒนาและลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา พวกเขาได้ประกาศบรรลุข้อตกลงมูลค่า 2,421 ล้านบาท ในการเข้าซื้อ ‘นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์’ บนพื้นที่ขนาด 1,790 ไร่

 

ดีลที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สิงห์ เอสเตท ได้ดำเนินการลงนามข้อตกลงเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 100% ของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด โดยบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด เป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ซึ่งมีเนื้อที่ 1,790 ไร่ ตั้งอยู่ในจังหวัดอ่างทอง

 

นั่นจึงทำให้พวกเขาจะได้กรรมสิทธิ์กลายเป็นเจ้าของรายใหม่ของนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ไปด้วย 

 

โดยมูลค่าดีล 2,421 ล้านบาท จะแบ่งออกเป็นเงินจำนวนทั้งหมด 2 ก้อนใหญ่ๆ คือ 510 ล้านบาท เป็นเงินที่จ่ายเพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี ในราคาพาร์ (การโอนหุ้นระหว่างกันคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้) 

 

ส่วนอีก 1,726 ล้านบาท จะเป็นเงินที่จะใช้ในการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ที่เหลืออีกส่วนหนึ่งเป็นงบสำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ

 

ทำไมต้องเป็น ‘นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์’

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ สิงห์ เอสเตท กำลังคิดอะไรไว้ในใจกันแน่ การเข้าซื้อนิคมอุตสาหกรรมในครั้งนี้จะส่งผลหรือช่วยผลักดันพวกเขาในการดำเนินธุรกิจอสังหาฯ ของตัวเองอย่างไร

 

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บมจ.สิงห์ เอสเตท เปิดเผยว่า “การซื้อนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโรงไฟฟ้า 3 แห่งที่เราเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากพอสมควรนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งในการเดินหน้าสู่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของเราที่จะสร้างจุดแข็งที่ทรงพลังให้กับธุรกิจจากการส่งเสริมซึ่งกันและกันของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่หลากหลายของสิงห์ เอสเตท เพื่อทำให้เรามีความแข็งแกร่งในการแข่งขัน และทำให้ธุรกิจของเรามีความเป็น Resilient Business”

 

ด้าน ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สิงห์ เอสเตท ระบุว่า “การผสานธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าจะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจของเราทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงาน เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วนิคมอุตสาหกรรมคือ ‘หนึ่งในผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด’ 

 

“ทั้งนี้ การดำเนินกิจการในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้งสามแห่งของเรา และการที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เน้นสินค้าอาหารโดยเฉพาะ ทำให้มีความต้องการใช้ไอน้ำจากผู้ประกอบการแปรรูปอาหารต่างๆ ในนิคมฯ ซึ่งโรงไฟฟ้าของเราก็เป็นผู้ผลิตไอน้ำที่ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วย นอกจากนั้นกิจการโรงไฟฟ้ายังช่วยให้เรามีรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดจากการขายพื้นที่ใน        นิคมอุตสาหกรรม” 

 

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สิงห์ เอสเตท เพิ่งประกาศรุกกลุ่มธุรกิจใหม่ในกลุ่มที่ 4 ประกอบด้วย อาทิ โครงการนิคมอุตสาหกรรม, ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า, ธุรกิจให้บริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง เพิ่มความหลากหลายให้กับพอร์ตธุรกิจบริษัท และมีเป้าหมายดันรายได้ต่อปีให้เพิ่มขึ้น 3 เท่า หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งจะทำให้บริษัทมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 8 หมื่นล้านบาทภายในระยะเวลา 3 ปี

 

ฉะนั้นการเข้าซื้อนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จึงถือเป็นหนึ่งในก้าวย่างที่สำคัญในการต่อจิ๊กซอว์กลุ่มธุรกิจใหม่ของตัวเอง ควบคู่ไปกับการ ‘สร้างจุดเชื่อม’ ให้กลุ่มธุรกิจของบริษัทสามารถผสานการทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและรายได้ให้ได้มากที่สุด 

 

ซึ่งในที่นี้ก็เป็นการประสานประโยชน์เชิงกลยุทธ์ธุรกิจในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกันระหว่างตัวธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม (เวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์) และธุรกิจโรงผลิตกระแสไฟฟ้า (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://thestandard.co/singha-estate-2/)

 

 

มากกว่า ‘ความลงตัวเชิงกลยุทธ์’ คือ ‘อนาคตที่สดใส’ ของกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม 

ไม่ได้แค่มองถึงการผลักดันความลงตัวในเชิงกลยุทธ์ธุรกิจ หรือการ Synergy และการลุยสร้างน่านน้ำใหม่ๆ ขององค์กรเท่านั้น เพราะในมุมมองของแม่ทัพหญิงคนแกร่งจากสิงห์ เอสเตท เธอยังเชื่ออีกด้วยว่าการเข้าซื้อนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จะถือเป็นการลงทุนที่ถูกจังหวะและสามารถ ‘หวังผลได้’ ในระยะยาว

 

“มากกว่าความลงตัวในเชิงกลยุทธ์แล้ว เรายังมองเห็นอนาคตที่สดใสของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยด้วย” 

 

ฐิติมาอธิบายต่อ “นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ยังมีความสำคัญตามนโยบายการขับเคลื่อนประเทศที่มุ่งยกระดับประเทศไทยให้เป็นครัวของโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก โดยทำเลที่ตั้งของนิคมฯ แห่งนี้ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางห่วงโซ่อุปทานอาหารและวัตถุดิบของประเทศ ทั้งแหล่งสำคัญในการผลิตข้าว ผลิตภัณฑ์จากนมและสัตว์ปีก รวมถึงแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เพราะอยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา”

  

ภายในระยะเวลา 2 เดือนที่ประกาศแผนธุรกิจใหม่ของปี สิงห์ เอสเตท เริ่มฉายแววความดุดันในการไล่ต่อจิ๊กซอว์กรุยทางรุกธุรกิจใหม่ของพวกเขาอย่างต่อเนื่องแล้ว และดูท่าว่าพวกเขาจะยังไม่หยุดเพียงแค่นี้แน่นอน…

FYI
  • รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนการพัฒนา ‘อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร’ ซึ่งกำหนดเป็น ‘นโยบายระยะยาว’ 
  • ข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพบว่า อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาในอัตราที่เติบโตรวดเร็วที่สุด ส่วนภาคกลางของประเทศไทยก็มีสัดส่วนของการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนประมาณครึ่งหนึ่งของการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดในปี 2563
  • มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการความเข้มงวดในการเดินทาง หลังการคลี่คลายของวิกฤตโควิด-19
  • 3 กลุ่มธุรกิจแรกของสิงห์ เอสเตท ประกอบด้วย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจโครงการที่พักอาศัย และธุรกิจรีสอร์ตและโรงแรม โดยกลุ่มธุรกิจที่ 4 ของสิงห์ เอสเตท จะเป็นธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเติมเต็มและส่งเสริมซึ่งกันและกันกับธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจบริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจบริการนวัตกรรมอื่นๆ
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising