เรียกว่าเป็นมูฟเมนต์ที่ต้องจับตาดูให้ดีสำหรับ ‘สิงห์ เอสเตท’ หรือ บมจ.สิงห์ เอสเตท (S) เพราะทันทีที่ได้ประกาศแผนการลงทุนในกลุ่มธุรกิจใหม่ของบริษัทไปเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พวกเขาก็เริ่มขยับตัวเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเดินตามโรดแมปสำคัญของบริษัทในการเร่งสร้างรายได้ให้ทะยานเติบโตระดับ 3 เท่าใน 3 ปี หรือภายในปี 2567
โดยที่ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ สิงห์ เอสเตท ได้ประกาศออกมาว่า เตรียมจะเข้าลงทุนในโรงงานไฟฟ้าและความร้อนร่วม (Co-Generation Power Plant) ทั้ง 3 แห่ง ภายหลังจากได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น (การประชุมสามัญประจำปีจะมีขึ้นในวันที่ 23 เมษายนนี้) โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,392 ล้านบาท
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ‘จังหวะขยับ’ ในก้าวนี้กำลังบอกอะไรเรา เรื่องที่เราหรือ ‘บรรดานักลงทุน’ ที่มี S อยู่ในพอร์ตของตัวเองควรต้องรู้มีอะไรบ้าง?
ทุ่ม 1.39 พันล้านบาท ลงทุนโรงไฟฟ้า 3 แห่ง ตั้งเป้ากวาดรายได้ 7.5 พันล้านบาทใน 3 ปี
สำหรับแผนการเตรียมเข้าลงทุนโรงผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม 3 แห่งในครั้งนี้ของ สิงห์ เอสเตท อยู่ในรูปแบบ ‘การได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว’ ในการเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 30% ซึ่งเป็นสิทธิ์การเข้าซื้อที่ราคาพาร์ ในมูลค่างบลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,392 ล้านบาท
ซึ่งการได้รับสิทธิ์เข้าลงทุนในสัดส่วนที่มากขนาดนี้ สิงห์ เอสเตท ย่อมรู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งยังทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ ไม่ต้องไปเริ่มต้นขั้นตอนการดำเนินธุรกิจจากศูนย์ด้วยตัวเองตั้งแต่แรก ทั้งยังทำให้มีโนฮาวในการขยายธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมในอนาคต
ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งที่ทางสิงห์ เอสเตท จะเข้าไปลงทุนนั้น มีรายชื่อดังนี้
1. โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อนร่วม (บริษัท อ่างทอง เพาเวอร์ จำกัด) ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จังหวัดอ่างทอง >>> ‘ดำเนินการผลิตอยู่แล้ว’ – กำลังการผลิต 123 เมกะวัตต์
2. โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งใหม่ (บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำกัด) >>> ‘อยู่ระหว่างการก่อสร้าง (คาดว่าพร้อมเปิดดำเนินการปี 2566)’ – กำลังการผลิต 140 เมกะวัตต์
3. โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งใหม่ (บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 2 จำกัด) >>> ‘อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง (คาดว่าพร้อมเปิดดำเนินการปี 2566)’ – กำลังการผลิต 140 เมกะวัตต์
เท่ากับว่า หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จนสามารถเดินหน้าผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเต็มรูปแบบ สิงห์ เอสเตท จะรับรู้กำลังการผลิตของกระแสไฟฟ้าได้สูงถึงกว่า 400 เมกะวัตต์เลยทีเดียว โดยที่ปัจจุบันกว่า 70% หรือ 270 เมกะวัตต์ของกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ล้วนแล้วแต่ถูกจองขายล่วงหน้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 25 ปี เป็นที่เรียบร้อย
ทำให้มีการประเมินกันว่า เม็ดเงินการลงทุนที่ระดับ 1,392 ล้านบาทในวันนี้ จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากๆ เพราะภายในปี 2567 โรงผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งดังกล่าว น่าจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทมากถึง 7,500 ล้านบาทเลยทีเดียว
ทั้งนี้ สิงห์ เอสเตท มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ระดับ 0.96 เท่า และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีก 25,000 ล้านบาท
ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สิงห์ เอสเตท แม่ทัพหญิงสุดแกร่งผู้เตรียมพาสิงห์ เอสเตท บุกน่านน้ำใหม่
‘เจาะน่านน้ำใหม่’ เติมเต็มแผนดันรายได้ผงาด 3 เท่า แตะหลัก 2 หมื่นล้านบาทใน 3 ปี
นี่คือการประกาศแผนการรุกธุรกิจใหม่ของสิงห์ เอสเตท ที่ชัดเจนที่สุดอีกคำรบ ภายหลังจากที่เคยบอกเอาไว้ว่า ปีนี้กลยุทธ์ของบริษัทจะเน้นหนักไปที่การลงทุนเจาะน่านน้ำ รุกกลุ่มธุรกิจใหม่เพื่อดันให้รายได้เติบโตที่ระดับ 3 เท่าตัว ภายใน 3 ปีนับจากนี้ หรือเพิ่มเป็นระดับ 20,000 ล้านบาทต่อปี
โดยธุรกิจกลุ่มที่ 4 ที่สิงห์ เอสเตท จะเริ่มให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ไทม์ไลน์ของแผนการดำเนินงานบริษัท ประกอบด้วย
1. โครงการนิคมอุตสาหกรรม
2. ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า
3. ธุรกิจให้บริการด้านวิศวกรรม
4. ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ
ขณะที่ 3 กลุ่มธุรกิจปัจจุบันของ สิงห์ เอสเตท ได้แก่
1. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ > สร้างรายได้ให้บริษัทรวม 15%
2. ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต > สร้างรายได้ให้บริษัทรวม 24%
3. ธุรกิจโครงการที่พักอาศัย > สร้างรายได้ให้บริษัทรวม 57%
เมื่อเป็นแบบนี้ก็จะเห็นว่า สิงห์ เอสเตท จะมีความได้เปรียบในแง่ความหลากหลายพอร์ตธุรกิจบริษัทเพื่อเดินหน้าสร้างช่องทางรายได้ให้กับบริษัทในทุกมิติ โดยที่แน่นอนว่า อสังหาเชิงพาณิชย์ฯ โรงแรม รีสอร์ต และโครงการที่พักอาศัย ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มธุรกิจที่ทำให้สิงห์ เอสเตท โดดเด่นและมั่นคง แข็งแกร่ง จะยังคงมีสถานะ ‘ฟันเฟืองหลัก’ ในการขับเคลื่อนให้บริษัทมีรายได้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนบทบาทของกลุ่มธุรกิจใหม่ นอกจากจะเข้ามาช่วยดันรายได้ของบริษัทให้พุ่งทะยาน 3 เท่าตัวในปี 2567 แล้วก็ยังจะเข้ามา Synergy ให้กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ของบริษัทมีศักยภาพในการทำรายได้จากรูปแบบหรือโมเดลธุรกิจที่หลากหลาย คู่ขนานไปกับการกระจายความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันได้อย่างลงตัวสุดๆ เหมือนที่ จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บมจ.สิงห์ เอสเตท ได้บอกเอาไว้ว่า
“เราต้องการสร้างธุรกิจนี้ให้ยิ่งใหญ่ มั่นคง และมีผลตอบแทนแน่นอนสม่ำเสมอ พร้อมๆ กับการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโต”
เมื่อสบโอกาสและเวลาที่พอเหมาะพอเจาะ การเดินหมากของสิงห์ เอสเตท ในครั้งนี้จึงน่าจะสร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญให้กับธุรกิจของพวกเขาได้พอสมควร
จับตาดูให้ดีๆ เพราะเกมนี้ สิงห์ เอสเตท ไม่ได้มาเล่นๆ แน่นอน!
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์