ภายหลังจากช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สิงห์ เอสเตท หรือ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศแผนธุรกิจเข้ารุก ‘น่านน้ำใหม่’ ที่สำคัญประกอบด้วย เช่น ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม, ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า, ธุรกิจให้บริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เพื่อเติมเต็มความหลากหลาย กระจายความเสี่ยงพอร์ตธุรกิจบริษัท และเพิ่มขีดศักยภาพในการแข่งขันการดำเนินธุรกิจของบริษัท
ล่าสุดดูเหมือนว่าแผนการ ‘ต่อจิ๊กซอว์’ ขยายกลุ่มธุรกิจใหม่นี้ก็ดูจะเริ่ม ‘ชัดเจน’ และเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพวกเขาออกมาประกาศว่าได้รับสิทธิ์เพียงผู้เดียวในการเข้าซื้อหุ้น 30% ในโรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม (Co-Generation Power Plant) ขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่
1. โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อนร่วม (บริษัท อ่างทอง เพาเวอร์ จำกัด) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จังหวัดอ่างทอง > ‘ดำเนินการผลิตอยู่แล้ว’ – กำลังการผลิต 123 เมกะวัตต์
2. โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งใหม่ (บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำกัด) > ‘อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง (คาดว่าพร้อมเปิดดำเนินการปี 2566)’ – กำลังการผลิต 140 เมกะวัตต์
3. โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งใหม่ (บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 2 จำกัด) > ‘อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง (คาดว่าพร้อมเปิดดำเนินการปี 2566)’ – กำลังการผลิต 140 เมกะวัตต์
สำหรับสิทธิ์ในการเข้าซื้อหุ้นของโรงไฟฟ้าและความร้อนร่วมครั้งนี้ของ สิงห์ เอสเตท จะเป็นไปในรูปแบบ ‘การซื้อราคาพาร์’ โดยคิดเป็นมูลค่างบลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,392 ล้านบาท
เมื่อรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงผลิตทั้ง 3 แห่งที่เข้าลงทุนเข้าด้วยกัน นั่นหมายความว่าพวกเขาจะเป็นเจ้าของกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงถึงกว่า 403 เมกะวัตต์เลยทีเดียว ซึ่งการเข้าซื้ออย่างเป็นทางการจะแล้วเสร็จทันทีที่ได้รับการอนุมัติโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท ในการประชุมสามัญประจำปีในวันที่ 23 เมษายน 2564 ที่จะถึงนี้
ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สิงห์ เอสเตท กล่าวถึงการเข้าลงทุนในครั้งนี้ว่า ใบอนุญาตโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยกำลังการผลิตเช่นนี้ ‘ไม่ใช่สิ่งที่จะหามาได้ง่ายๆ’ ดังนั้นในฐานะตัวแทนของสิงห์ เอสเตท เธอจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่บริษัทได้รับสิทธิ์เข้าถือหุ้นโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งนี้ในสัดส่วนมาก
เพราะว่าผลที่ตามมาคือการที่บริษัทสร้าง ‘Shortcut’ เสกฐานความมั่นคงในอุตสาหกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นมาโดยที่ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยตัวเองจากศูนย์ แถม ณ วันนี้สัดส่วน 70% ของกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งก็สามารถจำหน่ายได้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว
พูดง่ายๆ ก็คือ สิงห์ เอสเตท ‘ขายของได้’ มีคนมาจองคิวตั้งแต่หน้าร้านยังไม่เปิดด้วยซ้ำ!
“ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สิทธิ์ในการเข้าซื้อหุ้นที่เราได้รับนั้นน่าดึงดูดใจเป็นอย่างมาก คือการที่ไฟฟ้าจำนวน 270 เมกะวัตต์ หรือเกือบ 70% ของกระแสไฟฟ้าที่ทั้ง 3 โรงไฟฟ้านี้จะผลิตได้รวมกันนั้นขายได้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว และจะเป็นราคาตามที่ตกลงกันแล้วด้วย ซึ่งทำให้เรามั่นใจได้ว่า เราจะสร้างรายได้เข้ามาได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เสริมศักยภาพให้กับสิงห์ เอสเตท ในการเป็นธุรกิจที่จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้เป็นอย่างดีในทุกสถานการณ์ (Resilient Business)
“อ่างทอง เพาเวอร์ เป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำกำไรได้โดยไม่จำเป็นต้องขายไฟให้กับผู้ใช้ทั่วไป และกระแสไฟฟ้าจำนวน 75% ของกระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ ได้ถูกทำสัญญาซื้อโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 25 ปี ทั้งนี้การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงย่ิงช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรจนสูงขึ้นกว่าอัตราที่ประเมินไว้ในขั้นต้นอีกด้วย” ฐิติมากล่าว
ด้านแม่ทัพอย่าง จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บมจ.สิงห์ เอสเตท กล่าวถึงแผนการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งนี้ว่า “เราได้สิทธิ์ซื้อหุ้นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเงื่อนไขที่น่าดึงดูดใจเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นหนึ่งจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะทำให้สิงห์ เอสเตท ก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผลิตกระแสไฟฟ้า และให้บริการด้านวิศวกรรมอันดับต้นๆ ของประเทศไทย พร้อมกับขยายธุรกิจของเราให้ใหญ่ขึ้นสามเท่าในเวลา 3 ปี
“เราต้องการสร้างธุรกิจนี้ให้ยิ่งใหญ่อย่างมั่นคง และมีผลตอบแทนที่แน่นอนสม่ำเสมอ พร้อมๆ กับการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโต โดยที่เราจะใช้ประโยชน์จากการผนึกกำลังกันของ 4 กลุ่มธุรกิจของสิงห์ เอสเตท มาเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน”
ทั้งนี้ สิงห์ เอสเตท ยังได้คาดการณ์อีกด้วยว่า โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้กับบริษัทมากถึงราว 7,500 ล้านบาท ภายในปี 2567 ซึ่งหมายความว่า การใช้ศักยภาพจากธุรกิจกลุ่มโรงไฟฟ้าก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งในส่วนผสมสำคัญที่ช่วยผลักดันรายได้ของบริษัทให้โตสามเท่าตัวภายในระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า