×

สิงคโปร์ ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจช่วยภาคธุรกิจ-แรงงาน ลดผลกระทบ ภาษีทรัมป์

08.04.2025
  • LOADING...
สิงคโปร์ ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจช่วยภาคธุรกิจ-แรงงาน ลดผลกระทบ ภาษีทรัมป์

ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ประกาศวันนี้ (8 เมษายน) ว่า สิงคโปร์จะจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจระดับชาติเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีตอบโต้ของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและอาจกระทบต่อการจ้างงานและค่าแรงของลูกจ้างด้วย

 

สำหรับผู้ที่จะมารับหน้าที่เป็นประธานคณะฯ คือกัน คิม ยอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ส่วนสมาชิกที่เหลือจะมาจากหลายภาคส่วนด้วยกัน อาทิ ผู้แทนจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของสิงคโปร์ สหพันธ์ธุรกิจสิงคโปร์ สหพันธ์นายจ้างแห่งชาติสิงคโปร์ และสภาสหภาพแรงงานแห่งชาติ  

 

หว่อง กล่าวในแถลงการณ์ต่อรัฐสภาว่า คณะทำงานชุดนี้จะเดินหน้าช่วยเหลือธุรกิจและแรงงานเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทันที พร้อมเสริมสร้างความยืดหยุ่น และปรับตัวให้เข้ากับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ 

 

เขามองว่า ภาษีสหรัฐฯ อาจกดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในระยะสั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออก เช่น ภาคการผลิตและการค้าส่ง นอกจากนี้ สถานการณ์ความไม่แน่นอนของโลก และความเชื่อมั่นที่ถดถอยลง ก็อาจส่งผลกระทบอุตสาหกรรมบริการบางประเภท รวมถึงการเงินและการประกันภัย

 

แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ในปีนี้ แต่หว่องมองว่า ถึงเช่นนั้นเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมกำลังทบทวนตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2025 ซึ่งอยู่ที่ 1-3 % และมีแนวโน้มว่าอาจปรับลดลงอีก

 

“การที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงจะส่งผลให้โอกาสในการจ้างงานลดลง ขณะที่ค่าจ้างก็จะขยายตัวได้ต่ำ และหากบริษัทต่างๆ เผชิญกับความยากลำบาก หรือย้ายการดำเนินงานกลับไปยังสหรัฐฯ ก็จะมีการเลิกจ้างและสูญเสียตำแหน่งงานมากขึ้น” เขากล่าว

 

ยุคของการค้าเสรีได้สิ้นสุดลงแล้ว

 

นอกเหนือจากข้อกังวลเร่งด่วนแล้ว หว่องกล่าวว่าภาษีศุลกากรดังกล่าวได้ยืนยันความจริงอันชัดเจนว่า “ยุคของโลกาภิวัตน์ที่อยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์และการค้าเสรีได้สิ้นสุดลงแล้ว”

 

กันกล่าวว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป และยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบจากภาษีทรัมป์ที่มีต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์ให้ถี่ถ้วน โดยคณะทำงานชุดนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับองค์ประกอบและภารกิจหลักๆ แต่สิ่งหนึ่งที่จะเน้นหนักคือการสื่อสารและการแบ่งปันข้อมูลสู่ทุกภาคส่วน 

 

หว่องชี้ ภาษีทรัมป์ คือการปฏิเสธหลักการพื้นฐานของ WTO 

 

ภาษีตอบโต้ที่ทรัมป์ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน จะมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิดจากสิงคโปร์ที่ 10% แม้จะเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับอีกกว่า 60 ประเทศที่เหลือ แต่สิงคโปร์มองว่าไม่เป็นธรรม เพราะปัจจุบันสิงคโปร์ไม่ได้เก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เลย แต่ยังคงต้องเสียภาษีในอัตราพื้นฐาน 10%

 

“หากภาษีศุลกากรมีผลต่างตอบแทนเฉพาะเจาะจงต่อแต่ละประเทศจริง และมุ่งเป้าไปเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีการเกินดุลการค้า ภาษีของสิงคโปร์ก็ควรจะเป็นศูนย์ แต่เรายังคงถูกเรียกเก็บภาษี 10%” นายหว่องกล่าว พร้อมชี้ให้เห็นว่าสิงคโปร์ขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ และรักษาการค้าเสรีผ่านข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคีมาตลอด

 

“เราผิดหวังอย่างมากกับการตัดสินใจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงมิตรภาพอันลึกซึ้งและยาวนานระหว่างสองดินแดน การกระทำเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำต่อมิตรประเทศ” นายกรัฐมนตรีกล่าวเสริม

 

หว่อง วิพากษ์วิจารณ์แนวทางของสหรัฐฯ ว่าเป็นการปฏิเสธหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) เช่น กฎ Most Favoured Nation ซึ่งกำหนดให้ทุกชาติต้องปฏิบัติแก่สมาชิกทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งหลักการดังกล่าว “ถือเป็นรากฐานของระบบการค้าพหุภาคีมาช้านาน” ในการสร้างหลักประกันความเท่าเทียมสำหรับทั้งประเทศใหญ่และเล็ก

 

หว่องกล่าวว่า นโยบายล่าสุดของสหรัฐฯ บ่อนทำลายหลักการนี้ และ “เปิดประตูสู่ความสัมพันธ์การค้าแบบเลือกปฏิบัติต่อแต่ละประเทศ โดยอิงตามความต้องการฝ่ายเดียว”

 

หากประเทศอื่นๆ ใช้แนวทางเดียวกัน ระบบการค้าตามกฎเกณฑ์ก็จะพังทลาย และนั่นจะเป็นปัญหาสำหรับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ เช่น สิงคโปร์

 

“ในการเจรจาระดับทวิภาคีแบบตัวต่อตัว ประเทศเล็กๆ มีอำนาจในการต่อรองจำกัดดังนั้น มหาอำนาจจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไข และเรามีความเสี่ยงที่จะถูกละเลยและถูกมองข้าม”

 

แฟ้มภาพ: Anusak Laowilas / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising