×

ทำไมสิงคโปร์จึงสั่งห้าม Grab ควบรวม Uber

02.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแห่งสิงคโปร์ มีคำสั่งชะลอการควบรวมกิจการของ Grab และ Uber ชั่วคราว เพราะเกรงว่าดีลนี้จะไม่ส่งเสริมรูปแบบการแข่งขัน หรือผูกขาดตลาด
  • Grab สิงคโปร์ ยืนยันว่าจุดประสงค์การรวมกิจการในครั้งนี้เป็นไปเพราะต้องการพัฒนารูปแบบบริการสำหรับผู้โดยสารและคนขับให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ไม่ได้มีเจตนาจะเอารัดเอาเปรียบใคร และจะไม่ปรับขึ้นราคาค่าโดยสารอย่างที่หลายๆ ฝ่ายกังวล
  • รายรับในตลาดไรด์แชริ่งประเทศสิงคโปร์ ปี 2018 อยู่ที่ประมาณ 133 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.14 พันล้านบาท สูงที่สุดเป็นลำดับ 2 ในอาเซียน เป็นรองเพียงแค่อินโดนีเซียเท่านั้น

ต้นสัปดาห์ที่แล้วเกิดข่าวใหญ่ที่สร้างปรากฏการณ์สั่นสะเทือนไปทั่วอุตสาหกรรมไรด์แชริ่ง เมื่อสองคู่แข่งที่ห้ำหั่นกันมายาวนานอย่าง Grab และ Uber ต้องควบรวมกิจการทั้งหมดในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นบริการเรียกรถโดยสาร หรือบริการรับส่งอาหารภายใต้การบริหารงานของ Grab

 

ขณะที่ไรด์แชริ่งจากสหรัฐอเมริกาก็จะได้สิทธิ์ถือหุ้น 27.5% และ ดารา คอสราวชาฮี ซีอีโอคนปัจจุบัน ก็จะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารของ Grab แทน ที่สำคัญยังถือเป็นโอกาสที่ดีของ Uber ในการผละตัวเองออกจากสนามแข่งที่ไม่ทำเงิน

 

การเข้าซื้อในครั้งนี้จะเปิดทางให้ Grab เข้าครอบครองกิจการ Uberในโซนอาเซียนทั้งหมด ตั้งแต่ประเทศไทย, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เมียนมา, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม ไปจนถึงสิงค์โปร์

 

 

แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นจนได้ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแห่งสิงคโปร์ หรือ The Competition Commission of Singapore (CCS) ได้ออกมาชะลอการควบรวมกิจการของ Grab และ Uber ชั่วคราว เพราะเกรงว่าดีลในครั้งนี้จะไม่ส่งเสริมรูปแบบการแข่งขัน หรือตีความง่ายๆ ว่าอาจจะทำให้ Grab ผูกขาดตลาดบริการร่วมเดินทางในสิงคโปร์นั่นเอง

 

ทาง CCS เผยว่ากำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนดำเนินการสอบสวนเบื้องหลังดีลดังกล่าว โดยในระหว่างนี้ได้สั่งขอชะลอการรวมกิจการระหว่าง Grab และ Uber ในประเทศออกไปชั่วคราว และให้ไรด์แชริ่งทั้งสองรายยังคงให้บริการด้วยนโนบายการกำหนดราคา ‘ตามเดิม’ (ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศรวมกิจการออกมา)

 

หลังทางการสิงคโปร์มีมาตรการออกมาเช่นนี้ ฝั่ง Grab ก็ออกมาตอบโต้ทันควัน พร้อมเรียกร้องให้ CCS ยินยอมให้ดีลควบรวมกิจการไรด์แชริ่งยักษ์ใหญ่เกิดขึ้น โดยให้เหตุผลว่าบริษัทมีความตั้งใจจะพัฒนารูปแบบการบริการให้ดีมากยิ่งขึ้น

 

“การพัฒนารูปแบบบริการให้ดียิ่งขึ้นสำหรับผู้โดยสารและคนขับรถเป็นสิ่งที่พวกเราให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกเสมอ พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้เราแข่งขันได้อย่างเสรี และส่งเสริมธุรกิจแท็กซี่ในประเทศให้มีบทบาทสำคัญมากขึ้น” ลิม เคลล์ เจย์ หัวหน้าผู้บริหาร Grab ประจำประเทศสิงคโปร์กล่าว

 

 

ทำไมสิงคโปร์จึงกังวลดีล Grab รวม Uber

สาเหตุสำคัญประการแรกสุดที่ทำให้ CCS สั่งชะลอดีล Grab+Uber เพราะเกรงว่าเมื่อผู้ให้บริการทั้งสองรายนี้ควบรวมกิจการในประเทศเข้าด้วยกัน จะทำให้เกิดการผูกขาดในด้านการแข่งขันและการบริการร่วมเดินทาง

 

ไม่ว่าจะทั้ง Grab หรือ Uber เองต่างก็มีฐานผู้ใช้บริการของตนเป็นจำนวนมากในสิงคโปร์ เมื่อรวมกิจการกันแล้วจึงอาจจะตีความได้ว่า CCS เกรงว่า Grab จะอาศัยข้อได้เปรียบจากการหมดเสี้ยนหนามคู่แข่งรายสำคัญ ปรับราคาค่าบริการเดินทางให้แพงขึ้น ทั้งยังอาจจะพัฒนารูปแบบบริการได้ไม่ดีพอเมื่อเทียบกับช่วงที่ต้องห้ำหั่นแข่งกับผู้ให้บริการอีกรายที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกันในตลาดเดียวกัน ถึงแม้ว่าลิม เคลล์ เจย์ จะออกมาสัญญาว่าจะไม่ขึ้นราคาค่าโดยสารแล้วก็ตาม

 

ประกอบกับการที่สองมหาอำนาจไรด์แชริ่งรวมพลังเข้าด้วยกันเช่นนี้ก็อาจจะส่งผลให้ผู้เล่นรายอื่นในตลาดร่วมเดินทางอย่าง Ryde (สิงคโปร์) หรือ Go-Jek (อินโดนีเซีย) ที่มีแผนจะขยายตลาดเข้ามาในประเทศสิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม พลอยได้รับผลกระทบในการถูกแย่งสัดส่วนผู้ใช้งานตามไปด้วย (ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2016 Switchback สตาร์ทอัพผู้ให้บริการร่วมเดินทางแบบ Carpool ในสิงคโปร์จำต้องปิดตัวลงและส่งไม้ต่อให้ Grab (GrabHitch) มาแล้ว)

 

ด้าน ComfortDelGro ผู้ให้บริการแท็กซี่รายใหญ่ที่สุดในประเทศก็คงจะต้องเตรียมคิดหากลยุทธ์ต้านทาน Grab ที่รวม Uber เข้าด้วยกันยกใหญ่แน่นอน

 

นอกจากนี้นักกฎหมายและผู้ใช้บริการหลายรายในสิงคโปร์ยังกังวลใจว่าข้อมูลส่วนตัวของตนจะถูกโอนถ่ายระหว่างผู้ให้บริการทั้งสองรายโดยพลการ และไม่ได้รับการยินยอมหรือขออนุญาตจากตัวผู้ใช้เสียก่อน

 

ฝั่งคนขับ Uber ที่เตรียมจะปิดตัวลงในสิงคโปร์ก็ตกอยู่ในสภาวะวิตกกังวลไม่แพ้ผู้โดยสาร โดยสำนักข่าว Channel NewsAsia ได้สัมภาษณ์คนขับรถร่วมเดินทางหลายๆ ราย และพบว่าส่วนใหญ่กลัวว่าอาจจะถูกปรับลดค่าตอบแทนลงเพราะ Grab จะมีคนขับมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้นโนบายคุณสมบัติของผู้ให้บริการทั้งสองรายที่ต่างกันก็อาจจะทำให้พลขับหลายคนตกที่นั่งลำบากได้เหมือนกัน

 

 

ข้อมูลที่น่าสนใจจากเว็บไซต์ Statista คาดการณ์ล่วงหน้าว่า รายรับในตลาดไรด์แชริ่งประเทศสิงคโปร์ ปี 2018 น่าจะไปจบอยู่ที่ประมาณ 133 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.14 พันล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่ารายรับที่สูงที่สุดเป็นลำดับ 2 ในอาเซียน เป็นรองเพียงแค่อินโดนีเซียเท่านั้น (คาดว่าน่าจะมีรายรับมากกว่า 159 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018)

 

โดยภายในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า (2022) ตลาดไรด์แชริ่งในสิงคโปร์จะมีสัดส่วนรายรับเพิ่มขึ้น 7.6% เป็น 178 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการเข้าถึงผู้คนเป็น 12% จากปีนี้ที่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 10%

 

ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นระฆังดังเตือนเร่งให้ CCS ต้องรีบลงมาตรวจสอบดีลดังกล่าวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้เล่นรายใดรายหนึ่งในอุตสาหกรรมร่วมเดินทางได้สิทธิพิเศษและมีผลประโยชน์เหนือผู้เล่นเจ้าอื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในที่สุด

 

ยิ่งไปกว่านั้น ต้องบอกว่าตอนนี้ไม่ใช่แค่สิงคโปร์แล้วที่แสดงความกังวลต่อดีลควบรวมสองไรด์แชริ่งยักษ์ใหญ่ เพราะมีรายงานว่าทางการประเทศมาเลเซีย นำโดยคณะกรรมการการขนส่งสาธารณะทางบก (SPAD) และคณะกรรมการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า (MyCC) ก็เตรียมจะหารือกันเพื่อตรวจสอบว่าดีลดังกล่าวละเมิดกฎด้านการแข่งขันในประเทศหรือไม่ เราจึงต้องตามดูกันยาวๆ ว่าข้อพิพาทในครั้งนี้จะจบลงเช่นไร

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X