วานนี้ (21 สิงหาคม) นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงของสิงคโปร์เผยว่า ทางการสิงคโปร์เตรียมยกเลิกกฎหมาย 377A ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคอาณานิคม ที่บัญญัติให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของชุมชน LGBTQIA+ ในสิงคโปร์
สิงคโปร์ โดยเฉพาะในเมืองหลวงถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอนุรักษนิยมสูงมาก ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แรงสนับสนุนความหลากหลายทางเพศในสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการเรียกร้องให้ทางการยกเลิกกฎหมาย 377A เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับคนทุกกลุ่มในสังคม
ลีเซียนลุงระบุว่า “นี่คือสิ่งที่ถูกต้องที่จะต้องทำ และเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่จะยอมรับได้ กลุ่ม LGBTQIA+ ในสิงคโปร์ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น การยกเลิกกฎหมาย 377A จะช่วยทำให้หลักกฎหมายของสิงคโปร์สอดคล้องกับค่านิยมของสังคมในปัจจุบัน และผมหวังว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยบรรเทาความทุกข์ยากให้แก่ LGBTQIA+ ชาวสิงคโปร์ได้”
ทางด้านนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ LGBTQIA+ ในสิงคโปร์รายหนึ่งเผยว่า “ในที่สุดเราก็ทำได้ พวกเราดีใจอย่างมากที่กฎหมายที่คร่ำครึและเต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัตินี้จะได้รับการยกเลิกไปเสียที แม้จะรู้สึกว่าอาจจะใช้เวลานานไปเสียหน่อย แต่สิ่งนี้จะต้องเกิดขึ้น
“เป็นชัยชนะที่ได้มาอย่างยากลำบาก เป็นชัยชนะของความรักที่อยู่เหนือความหวาดกลัว”
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม LGBTQIA+ ในสิงคโปร์ยังคงกังวลกับจุดยืนของรัฐบาลลีเซียนลุง หลังจากที่ผู้นำสิงคโปร์ประกาศที่จะสร้างหลักประกันว่า นิยามของการสมรสระหว่างชายและหญิงจะต้องได้รับการปกป้องทางกฎหมายที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งนั่นอาจยิ่งทำให้การผลักดันและการผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในสิงคโปร์นั้นเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น โดยลีเซียนลุงได้เน้นย้ำว่า ถึงอย่างไรสิงคโปร์ก็ยังเป็นสังคมอนุรักษนิยม มีค่านิยมของสังคมและสถาบันครอบครัวที่ต้องยึดถือ
โดยกลุ่มคอนเซอร์เวทีฟอย่าง Protect-Singapore แสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาลลีเซียนลุงที่ต้องการจะยกเลิกกฎหมายดังกล่าว พร้อมเดินหน้าสนับสนุนให้นิยามการสมรสของคู่รักต่างเพศได้รับการเน้นย้ำในรัฐธรรมนูญของประเทศ รวมถึงกฎหมายแบนสื่อโฆษณา LGBTQIA+ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กๆ ทั้งหมดอีกด้วย
เดิมทีกฎหมาย 377A ในสิงคโปร์ เป็นมรดกตกทอดจากสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ในช่วงยุคอาณานิคม และยังคงบัญญัติไว้เรื่อยมา หลังจากที่ประกาศเอกราชในปี 1965 สิงคโปร์ไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่พยายามจะปรับปรุงกฎหมายของตนให้สอดคล้องกับโลกที่ก้าวเดินไปข้างหน้าทุกวัน อดีตอาณานิคมอังกฤษอย่างอินเดียเอง เมื่อปี 2018 ศาลสูงสุดของอินเดียก็ประกาศยกเลิกการใช้กฎหมาย 377A นี้แล้ว ในขณะที่อดีตอาณานิคมอีกหลายประเทศอย่างเคนยา มาเลเซีย และเมียนมา ยังคงมีกฎหมาย 377A อยู่
ภาพ: Feline Lim / Reuters
อ้างอิง: