ลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสิงคโปร์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กระบุว่า สิงคโปร์พร้อมจะเปลี่ยนระบบการจัดเก็บภาษีตามความจำเป็นเมื่อโลกได้ฉันทามติเกี่ยวกับข้อตกลงการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลจากบริษัทข้ามชาติ ซึ่งถูกนำเสนอโดยกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา อิตาลี และญี่ปุ่น ร่วมด้วยสหภาพยุโรป เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ข้อตกลงดังกล่าวมุ่งเป้าโดยตรงไปยังบริษัทข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและได้กำไรมากที่สุด โดยจะบังคับให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ต้องจ่ายภาษีในประเทศที่พวกเขาไปขายสินค้าและบริการอยู่ ไม่ใช่จ่ายภาษีเฉพาะในประเทศที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลต่ำและบริษัทเหล่านั้นเลือกไปตั้งสาขาอีกต่อไป ซึ่งบริษัทที่คาดกันว่าจะเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มที่จะต้องจ่ายภาษีตามกฎใหม่หากเกิดขึ้นจริง ก็เช่นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google, Amazon หรือ Facebook
สิงคโปร์เป็นประเทศที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จำนวนมากเลือกเข้ามาตั้งสำนักงานประจำภูมิภาค จากนโยบายการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่น่าดึงดูด โดยปัจจุบัน Google, Microsoft และ Facebook ล้วนมีสำนักงานประจำภูมิภาคอยู่ในสิงคโปร์ ผู้เชี่ยวชาญหลายรายจึงเชื่อว่าหากข้อเสนอให้ทั่วโลกจัดเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำอย่างน้อย 15% จากบริษัทข้ามชาติถูกนำมาใช้ สิงคโปร์จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
แม้ว่าอัตราภาษีนิติบุคคลของสิงคโปร์ในปัจจุบันจะถูกกำหนดไว้ที่ 17% แต่รัฐบาลสิงคโปร์ใช้วิธีเสนอข้อจูงใจอื่นๆ ให้กับบริษัทข้ามชาติ ทำให้อัตราภาษีที่ต้องจ่ายจริงต่ำกว่าอัตราที่ถูกกำหนดไว้ค่อนข้างมาก
“เกณฑ์ภาษีใหม่ไม่ควรทำให้แรงจูงใจของธุรกิจในการลงทุนและคิดค้นนวัตกรรมลดลง ไม่เช่นนั้นทุกประเทศจะแย่ลงจากการต่อสู้กับส่วนแบ่งรายได้ที่ลดลง” หว่องกล่าว
หว่องกล่าวว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่ประเมินผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดกับสิงคโปร์จากข้อตกลงนี้ อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่าความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่ต่ำและการให้สิทธิประโยชน์เท่านั้น
“กฎหมายที่น่าเชื่อถือ แรงงานทักษะสูง โครงสร้างพื้นฐานและคุณภาพชีวิตระดับโลกก็เป็นปัจจัยที่บริษัทข้ามชาติใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจตั้งฐานในสิงคโปร์เช่นกัน” หว่องระบุ
ไซมอน โป ศาสตราจารย์ด้านบัญชีของ National University of Singapore Business School กล่าวว่า ข้อตกลงปฏิรูปภาษีครั้งนี้นับเป็นข่าวร้ายสำหรับสิงคโปร์ เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบโดยรวมต่อความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์เพื่อดึงดูดบริษัทระดับโลก
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น
อ้างอิง: