×

สิงคโปร์เตรียมจัดเลือกตั้ง 3 พ.ค. นี้ บททดสอบทางการเมืองแรกของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ลอว์เรนซ์ หว่อง

15.04.2025
  • LOADING...

สิงคโปร์เตรียมพร้อมจัดการเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งจะเป็นบททดสอบทางการเมืองครั้งแรกของ ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยการหาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้จะใช้เวลาเพียง 9 วัน ซึ่งประเด็นหลักที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ ค่าครองชีพที่พุ่งสูง ความต้องการด้านที่อยู่อาศัย งาน และการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางประชากรผู้สูงวัยที่มากขึ้นเรื่อย ๆ

 

ประชาชนจำนวนมากคาดว่า พรรค People’s Action Party – PAP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล จะยังคงคว้าชัยชนะกลับมาได้อีกครั้ง โดยพรรค PAP ชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอดนับตั้งแต่สิงคโปร์ได้รับสิทธิในการปกครองตนเองจากอังกฤษในปี 1959

 

ในการเลือกตั้งครั้งก่อนเมื่อปี 2020 พรรคฝ่ายค้านหลักคือ พรรค Workers’ Party สามารถคว้าที่นั่งได้ 10 ที่นั่ง ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ที่สุดของฝ่ายค้านนับตั้งแต่สิงคโปร์ได้รับเอกราชในปี 1965

 

ปีนี้มีที่นั่งในรัฐสภาทั้งหมด 97 ที่นั่งให้ประชาชนลงคะแนนเสียง ในการเลือกตั้งครั้งก่อน พรรค PAP ชนะ 83 จาก 93 ที่นั่ง แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นถูกมองว่าเป็นความพ่ายแพ้เล็กน้อยของพรรค จึงคาดว่าครั้งนี้พรรคจะพยายามคว้าชัยให้มากขึ้น

 

ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ซึ่งอ้างข้อมูลจากโพลของ YouGov พบว่า จากชาวสิงคโปร์ 1,845 คนที่สำรวจในเดือนมีนาคม มี 44% ที่ตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกใคร โดยในจำนวนนั้น 63% สนับสนุนพรรค PAP และ 15% สนับสนุนพรรคแรงงาน

 

นี่ถือเป็นบททดสอบทางการเมืองครั้งสำคัญของลอว์เรนซ์ หว่อง หลังรับตำแหน่งผู้นำประเทศต่อจากนายลี เซียนลุง ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเป็นเวลา 20 ปี

 

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ลอว์เรนซ์ หว่อง ได้นำเสนองบประมาณของประเทศครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี โดยมีมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพหลายอย่าง เช่น การลดหย่อนภาษี เงินช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม และแผนสนับสนุนภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายมองว่าเป็น “งบประมาณสร้างความรู้สึกดี” ก่อนการเลือกตั้ง

 

นับตั้งแต่สิงคโปร์ได้รับเอกราชในปี 1965 ประเทศมีนายกรัฐมนตรีเพียง 4 คน และทั้งหมดมาจากพรรค PAP โดยคนแรกคือ ลี กวนยู บิดาของลี เซียนลุง ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานให้กับสิงคโปร์ยุคใหม่ และดำรงตำแหน่งนานถึง 25 ปี

 

แม้ PAP จะครองอำนาจมาอย่างยาวนาน แต่ก็เคยเผชิญเรื่องอื้อฉาวในปี 2020 เช่น การจับกุมรัฐมนตรีอาวุโสในคดีคอร์รัปชัน และการลาออกของ ส.ส. สองรายจากกรณีมีความสัมพันธ์นอกสมรส

 

การเลือกตั้งในสิงคโปร์ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำตามกฎหมาย โดยพลเมือง 2.75 ล้านคนมีสิทธิเลือกตั้งและต้องออกมาใช้สิทธิโดยบังคับ

 

แม้ว่าสิงคโปร์จะใช้ระบบเลือกตั้งแบบ “First-Past-The-Post” เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร แต่ก็มีความแตกต่างสำคัญที่ทำให้ฝ่ายค้านมีโอกาสชนะได้น้อยลง โดย ส.ส. ไม่ได้ลงเลือกตั้งแบบรายบุคคลทั้งหมด แต่บางเขตต้องแข่งขันกันเป็นทีมสูงสุด 5 คน เรียกว่า เขตตัวแทนกลุ่ม (Group Representative Constituencies – GRCs)

 

ระบบนี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1988 โดยมีเป้าหมายให้มีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์น้อยในประเทศที่มีคนจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติ พรรคฝ่ายค้านมักขาดทรัพยากรและบุคลากรที่มีคุณสมบัติเพียงพอจะส่งคนลงแข่งขันในเขตใหญ่เหล่านี้

 

นอกจากนี้ ผู้สมัครยังต้องวางเงินประกัน 13,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 9,700 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7,700 ปอนด์) และต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 1 ใน 8 จึงจะได้เงินคืน

 

ทั้งนี้ การแบ่งเขตเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลงตามการเติบโตของประชากรอยู่เสมอ ซึ่งฝ่ายค้านมองว่าไม่มีความโปร่งใสและเป็นการแบ่งเขตเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล (gerrymandering) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด

 

ภาพ: Photo by Annice Lyn / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising