ชาวสิงคโปร์นับล้านพากันออกไปใช้สิทธิลงคะแนน ภายหลังเปิดหีบตั้งแต่เวลา 08.00 น. วันนี้ (3 พฤษภาคม) ตามเวลาท้องถิ่น โดยถือเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของประเทศนับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1965 และเป็นบททดสอบแรกของ ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งต่อจาก ลีเซียนลุง เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัคร 206 คน จากทั้งหมด 11 พรรค รวมถึงพรรค PAP (People’s Action Party) ของหว่อง ลงสมัครชิงสมาชิกรัฐสภาซึ่งมีทั้งหมด 97 ที่นั่ง ใน 33 เขตเลือกตั้ง โดยมีประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมดราว 2.75 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม พรรค PAP ได้ที่นั่งสมาชิกรัฐสภาไปแล้ว 5 ที่นั่ง เนื่องจากพรรคคู่แข่งไม่ส่งผู้สมัครลงชิงชัยในหลายเขตเลือกตั้ง ทำให้ผู้สมัครจาก PAP ชนะการเลือกตั้งไปอย่างง่ายดาย
ทั้งนี้ คาดว่าพรรค PAP จะสามารถคว้าชัยชนะและรักษาเสียงข้างมากในสภาได้อย่างง่ายดาย ขณะที่หว่อง ประกาศชัดเจนว่าต้องการอาณัติที่เข้มแข็งจากประชาชนเพื่อนำพาสิงคโปร์รับมือความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโลก และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ
“ดังนั้น ผมจึงบอกกับชาวสิงคโปร์ทุกคนว่า โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบ นี่ไม่ใช่การพนัน นี่คือครอบครัวของคุณ อนาคตของคุณ สิงคโปร์ของเรา” หว่องกล่าวระหว่างการหาเสียง
ภาษีทรัมป์อาจไม่ใช่ปัจจัยลงคะแนน
พรรค PAP ถือเป็น ‘มือที่มั่นคง’ ของสิงคโปร์มาช้านานในการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ชาวสิงคโปร์มีความมั่นใจ และทำให้ปัญหาจากนโยบายขึ้นภาษีของทรัมป์ อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่สำคัญนักในการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง
“เนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปในสิงคโปร์มักจะมุ่งเน้นไปที่ปัญหาในพื้นที่ จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ภูมิรัฐศาสตร์จะกำหนดการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เว้นแต่ชาวสิงคโปร์จะรู้สึกถึงผลกระทบโดยตรงและเป็นรูปธรรมต่อค่าครองชีพ ความมั่นคงในการทำงาน หรือเศรษฐกิจโดยรวม” Nydia Ngiow ผู้เชี่ยวชาญการเมืองสิงคโปร์กล่าว
โดยการครองเสียงข้างมากของพรรค PAP ในสภา ถือเป็นเรื่องปกติในภูมิทัศน์ทางการเมืองของสิงคโปร์มายาวนาน แต่การครอบงำของพรรค PAP กำลังถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ จากกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่ ซึ่งดูเหมือนจะเปิดรับแนวนโยบายจากพรรคทางเลือกอื่นๆ มากขึ้น
ภาพ: Edgar Su / Reuters
อ้างอิง: