วันนี้ (8 เมษายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 08.30 น. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้ารายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ได้ถล่ม หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวต่อ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อวางแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างรัดกุม
ทั้งนี้ มี ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, พงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง, รศ.เอนก ศิริพานิชกร ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ, ผศ.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร, ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และ ธนิต ใจสอาด ผู้อำนวยการสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร เข้าร่วมประชุมด้วย
จากนั้น เวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรี แถลงกับสื่อมวลชนว่า ขอให้ความมั่นใจว่ามีกฎหมายในการรองรับเหตุอาคารถล่มครั้งนี้ได้ ซึ่งกฎหมายนี้จะเห็นว่าตึกในกทม.นั้นไม่ได้มีเสียหายมากนัก เป็นความเสียหาย ซึ่งตึกที่ถล่มมานั้นเป็นตึกเดียวที่จะต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริง
จากการพูดคุยในที่ประชุมนั้นมีได้ตั้งข้อสงสัยในหลายเรื่อง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงกระบวนการ จากการลงพื้นที่รวมถึงการพูดคุยกับกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานครนั้น คาดว่ายังต้องใช้เวลาในการเคลียร์ที่เกิดเหตุอีกว่า 1 เดือน และได้มอบหมายให้ 4 สถาบันการศึกษา และกรมโยธาธิการและผังเมือง ทำโมเดลที่จำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ได้รับทราบถึงเหตุผลอะไรที่ทำให้ตึกถล่ม
แพทองธารกล่าวว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตคน ซึ่งรัฐบาลก็จะทำงานอย่างใกล้ชิด โดยจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 90 วัน เนื่องจากเป็นเรื่องของรายละเอียดว่ามีอะไรบ้างที่จะทำให้ตึกถล่ม ซึ่งยังไม่สามารถชี้ขาดได้ว่าอะไรคือสาเหตุของการทำให้ตึกถล่ม โดยทั้ง 4 สถาบันนั้นร่วมมือกันทำและร่วมกันตรวจสอบความโปร่งใส เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนให้ประชาชน
แพทองธารกล่าวอีกว่า ส่วนข้อสงสัยอื่นๆ ขอรอความชัดเจนก่อน ในระยะเวลา 1 เดือนที่มีการเคลียร์สถานที่เกิดเหตุนั้น จะทำให้ได้ข้อมูลเพิ่ม ทางคณะกรรมการก็รอข้อมูลเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีการทบทวนกระบวนการตรวจสอบตึกและอาคารใหม่ของรัฐและเอกชนทั้งหมด จะต้องมีการตรวจสอบว่า approve ทั้งหมดนั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ และเพิ่มการตรวจสอบเรื่องของแผ่นดินไหวด้วย เพื่อให้มีความคล่องตัว และตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น เพิ่มมาตรการให้การสร้างตึกในอนาคตเพื่อให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก
ส่วนเรื่องการตรวจสอบคุณภาพเหล็กนั้น แพทองธารกล่าวว่า เหล็กเป็นหนึ่งในวัสดุที่ในการก่อสร้าง ก็จะต้องตรวจสอบด้วย ซึ่งทั้ง 4 สถาบันการศึกษา และกรมโยธาธิการและผังเมืองจะต้องช่วยกันประกอบให้เห็นว่ามีสิ่งใดบ้างที่ทำให้ตึกถล่ม ส่วนจะใช่สาเหตุที่ทำให้ตึกถล่มนั้น เป็นเรื่องของรายละเอียดขอให้สภาวิศวกรเป็นผู้ให้คำตอบ
แพทองธารยืนยันว่า จากการตรวจสอบครั้งนี้จะต้องมีผู้รับผิดชอบแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้ตึกถล่มหรือไม่ แต่หากมีการทำผิดมาตรฐาน ผิดกระบวนการ ก็ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย สามารถดำเนินคดีได้ทันที
ส่วนกรณีที่บริษัทผู้ผลิตเหล็กมีการวิ่งเต้น เพื่อเอาตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกจากตำแหน่งนั้น แพทองธารยืนยันว่า ได้มีการพูดคุยกับรัฐมนตรีหลายคน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีใครโอเคเรื่องของการวิ่งเต้นอยู่แล้ว พร้อมยืนยันว่าตั้งแต่เกิดเรื่องตนเองยังไม่ได้พูดคุยกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัดเลย ซึ่งตามกระบวนการหากต้องพูดคุยก็คงต้องคุย