“WT…”
นี่คือตัวอักษร 3 ตัวที่เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ ศูนย์หน้าแมนเชสเตอร์ ซิตี้ โพสต์แชร์คลิปเหตุการณ์ในช่วงนาทีเป็นนาทีตายของเกมพรีเมียร์ลีกนัดบิ๊กแมตช์กับท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ที่น่าจะแทนความในใจของใครหลายคนที่ได้ดู
เพราะในจังหวะนั้นกองหน้าทีมชาตินอร์เวย์ถูกปะทะบริเวณกลางสนามจนเสียหลักล้มแล้วก็จริง แต่รีบลุกขึ้นมาทันที ซึ่งผู้ตัดสินไซมอน ฮูเปอร์ได้ชูมือเป็นการบอกว่าให้เป็น ‘ลูกได้เปรียบ’ และฮาลันด์ก็เปิดอย่างสวยงามให้แจ็ค กรีลิช กำลังจะหลุดเดี่ยวเข้าไปลุ้นทำประตูชัยอยู่แล้ว
แต่ฮูเปอร์กลับเปลี่ยนใจเป่าหยุดเกมให้กลับมาเล่น ณ จุดที่ฟาวล์แถวกลางสนามแทน
การเปลี่ยนใจครั้งนี้ได้นำไปสู่การถกเถียงอย่างมากมายว่าทำไมผู้ตัดสินจึงกลับการตัดสินในจังหวะสำคัญที่สุดของเกมแบบนี้
ความเดือดดาลของแมนฯ ซิตี้
หลังเสียงนกหวีดจบลงด้วยการเสมอกันไปอย่างสุดเดือด 3-3 แต่ที่เดือดกว่าคืออารมณ์ของนักเตะแชมป์เก่าที่ไม่พอใจกับการทำหน้าที่ของฮูเปอร์ และทำให้มีการรุมประท้วงกันอย่างร้อนแรง
มีการจับภาพได้ว่าฮาลันด์ ซึ่งปกติเป็นนักเตะที่ไม่ค่อยแสดงอาการโมโหโกรธาอะไรใครเท่าไร ถึงกับแจกแกงฟักแกงบวชให้ฮูเปอร์ใส่ถุงเอากลับไปกินที่บ้านเลยทีเดียว
เรื่องความไม่พอใจของนักเตะแมนฯ ซิตี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และกรณีนี้นับว่าน่าเห็นใจ เพราะมันเป็นจังหวะสำคัญที่ตัดสินชัยชนะได้เลยทีเดียว ต่อให้ไม่มีใครจะรู้ว่ากรีลิชจะหลุดไปแล้วจะจบสกอร์ให้ทีมได้หรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วมันอาจจะกลายเป็นลูกล้ำหน้าที่ VAR ริบประตูคืน
แต่อย่างน้อยก็ไม่ใช่การเปลี่ยนใจกลางทางแบบนี้ของผู้ตัดสินที่ให้สัญญาณเล่นต่ออย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี สำหรับเป๊ป กวาร์ดิโอลา ผู้จัดการทีมเรือใบสีฟ้าถูกถามถึงเรื่องนี้ในการแถลงข่าวหลังจบเกม ยังเก็บอาการอยู่โดยปฏิเสธที่จะให้ความเห็น
“คำถามต่อไปเลย ผมจะไม่คอมเมนต์ในแบบมิเกล อาร์เตตา” กวาร์ดิโอลากล่าว
ที่มีการพาดพิงถึงอาร์เตตา อดีตมือขวาคนเก่ง เป็นเพราะผู้จัดการทีมอาร์เซนอลได้เปิดวอร์กับสมาคมฟุตบอลอังกฤษแบบเต็มตัว หลังจากที่เสียประโยชน์จากการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินในสนาม และไม่เป็นผลดีเท่าไรนัก
กวาร์ดิโอลามองว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ “บางครั้งผมอาจจะเสียสติไปกับผู้ตัดสิน แต่ครั้งนี้ไม่มีทาง ทุกคนพลาดกันได้”
และที่สำคัญคือผลเสมอเกมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการตัดสินของฮูเปอร์ “ผมบอกได้ว่าเราไม่ได้เสมอเพราะเรื่องนี้หรอก”
ตีความตามกฎ
ว่าแต่ในจังหวะนั้นฮูเปอร์ให้สัญญาณเป็นลูกได้เปรียบจริงหรือไม่? เรื่องนี้เรามาดูตามกฎกัน
ตามกฎที่บัญญัติโดย International Football Association Board (IFAB) ผู้คุมกฎของวงการฟุตบอล ได้ระบุเกี่ยวกับเรื่องของการที่ผู้ตัดสินให้สัญญาณ ‘ได้เปรียบ’ เอาไว้ดังนี้
“โดยการเหยียดแขนหนึ่งหรือสองข้างในระดับหัวไหล่”
กรณีที่จะมีการให้เป็นลูกได้เปรียบจะมีขึ้นต่อเมื่อ…
- เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อทีมที่ไม่ใช่ฝ่ายกระทำ (Non-offending Team – หรือทีมที่ถูกทำฟาวล์)
- ไม่มีผู้เล่นที่ได้รับบาดเจ็บร้ายแรง
- ไม่นำไปสู่ความเสี่ยงของปฏิกิริยาหรือการเผชิญหน้า
ผู้ตัดสินจะต้องตัดสินใจทางแท็กติกอย่างรวดเร็วในสถานการณ์จริง และต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า
- การอนุญาตให้เล่นต่อไม่จำเป็นจะต้องเป็นประโยชน์เฉพาะต่อทีมที่ไม่ใช่ฝ่ายกระทำ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามันเกิดขึ้นในหรือใกล้กรอบเขตโทษของฝ่ายรับหรืออยู่ในสถานการณ์กดดัน
- ฟรีคิกในสถานการณ์เกมรุกอาจจะดีสำหรับทีมที่ไม่ใช่ฝ่ายกระทำมากกว่าการอนุญาตให้เล่นต่อ
ตามกฎยังระบุว่า “ผู้ตัดสินสามารถรอได้ 2-3 วินาทีว่าจะอนุญาตให้มีการเล่นได้เปรียบต่อหรือไม่ และถ้าทีมที่ไม่ใช่ฝ่ายกระทำไม่ได้รับประโยชน์หรือได้เปรียบ ก็สามารถกลับไปให้ฟรีคิกแบบเดิมได้”
อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่ไม่ใช่ฝ่ายกระทำไม่ควรได้รับโอกาส 2 ครั้ง ยกตัวอย่างเช่น หากมีผู้เล่นถูกทำฟาวล์แล้วลุกขึ้นมาเล่นต่อแล้วมีจังหวะยิงประตู ถ้าไม่ได้ประตู ผู้ตัดสินไม่ควรจะกลับการตัดสินแล้วให้ฟรีคิกในจังหวะแรกอีกรอบ
VAR ทำไมไม่แทรกแซง?
ตามกฎแล้ว VAR จะสามารถเข้ามาแทรกแซงการตัดสินในสนามของผู้ตัดสินได้ในเหตุการณ์ที่ ‘เกิดความผิดพลาดที่ชัดเจน’ หรือ ‘พลาดเหตุการณ์สำคัญอย่างร้ายแรง’ ที่เกี่ยวข้องกับ
- เป็นประตู/ไม่เป็นประตู
- เป็นจุดโทษ/ไม่เป็นจุดโทษ
- เป็นใบแดงโดยตรง (ไม่ใช่ใบเหลืองที่ 2/ การเตือน)
- ระบุผิดตัว (ในกรณีที่ผู้ตัดสินเตือน หรือไล่ผู้เล่นออกผิดคนสำหรับฝ่ายที่กระทำผิด)
ด้วยเหตุนี้ทำให้ VAR ไม่สามารถเข้ามาข้องเกี่ยวกับเหตุการณ์ในสนามที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้ง 4 ประเภทได้
มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ
เหตุการณ์ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บของเกมที่เอติฮัด สเตเดียม ได้นำไปสู่การแสดงความเห็นมากมาย
ในมุมมองของ Football Pundit ผู้เชี่ยวชาญอย่างเจอร์เมน จีนาส ที่วิเคราะห์ในรายการ Match of the Day 2 ทางช่อง BBC บอกว่า “ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ช็อก ผมไม่แน่ใจว่าฮูเปอร์คิดอะไรอยู่ มันเป็นความผิดพลาดที่ชัดเจน และในความเห็นของผมมันเป็นความผิดพลาดระดับมโหฬาร”
ลีออน ออสแมน อดีตนักเตะทีมชาติอังกฤษ กล่าวในรายการเดียวกันว่า “มันเป็นความผิดพลาดมหันต์ ไม่มีทางที่จะเอาตัวรอดได้เลย โดยเฉพาะในวันที่เรามีเทคโนโลยีมาช่วย แต่ผมเองก็เห็นใจเขาเล็กน้อย เขายกมือขึ้นตรงๆ แต่การพลาดครั้งนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากจะพูดถึง”
ไมกาห์ ริชาร์ดส อีกหนึ่งนักวิเคราะห์เกมคนดัง กล่าวในรายการทาง Sky Sports ว่า “ปัญหาที่ผมมีก็คือเรามีหลายสถานการณ์ที่ได้รับอนุญาตให้เล่นต่อ ถ้ามีข้อสงสัยก็ปล่อยให้เล่นไปก่อนแล้วค่อยกลับมาตัดสินก็ได้ นี่คือเหตุผลที่แมนฯ ซิตี้รู้สึกผิดหวัง”
ส่วนเจมี คาร์ราเกอร์ ที่จัดรายการร่วมกับริชาร์ดสมองว่าผู้ตัดสินมีอาการประหม่า ขณะที่รอย คีนมองว่า “เป็นการตัดสินที่แย่มาก”
ก่อนหน้านี้ฮูเปอร์เคยเป็นผู้ตัดสินในเกมที่มีปัญหาระหว่างท็อตแนม ฮอตสเปอร์ กับลิเวอร์พูล ซึ่งในเกมวันนั้นทีมของเจอร์เกน คล็อปป์ ต้องเหลือผู้เล่นแค่ 9 คน และยังมีจังหวะผิดพลาดร้ายแรง เมื่อ VAR ในเกมดังกล่าวทำพลาดในการตัดสินจังหวะลูกที่หลุยส์ ดิอาซ หลุดเดี่ยวเข้าไปทำประตูนำได้
การที่สเปอร์สเป็นฝ่ายได้เปรียบในเกมที่ฮูเปอร์ตัดสินถึง 2 ครั้ง จึงทำให้ถูกจับตามองและตั้งคำถามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทีมของแอนจ์ ปอสเตโคกลู ที่เล่นได้อย่างยอดเยี่ยมสู้กับแมนฯ ซิตี้ได้อย่างสนุกตลอดทั้งเกมก็ตาม
ขณะที่ฮูเปอร์เตรียมจะลงทำหน้าที่ในเกมต่อไปในพรีเมียร์ลีกนัดกลางสัปดาห์ ตัดสินเกมเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ดกับลิเวอร์พูล (อีกแล้ว)
ต้องจับตาดูว่าทางด้านสมาคมฟุตบอล และ PGMOL หน่วยงานที่กำกับดูแลผู้ตัดสิน จะมีมาตรการอย่างไรหรือไม่กับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
โดยที่หากสุดท้ายแมนฯ ซิตี้พลาดแชมป์แบบฉิวเฉียดแค่แต้มเดียวหรือสองแต้ม เหตุการณ์นี้จะกลายเป็นตำนานแน่นอน
อ้างอิง: