×

มรดกเส้นทางสายไหมเริ่มแรก ร่องรอยหลักฐานของราชวงศ์ฮั่นในไทย

28.01.2022
  • LOADING...
han dynasty

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • โบราณวัตถุสมัยราชวงศ์ฮั่นที่พบในไทยนี้สะท้อนให้เห็นว่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 2 หรือเมื่อ 2,000-2,300 ปีมาแล้ว เกิดสังคมระดับเมืองที่ซับซ้อนในไทย ชุมชนในเขตนี้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับรัฐต่างๆ อย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นฮั่น ดองซอน ซาหวิ่น อินเดีย และโรมัน 
  • การติดต่อนี้เองที่มีส่วนอย่างยิ่งต่อการทำให้เกิดพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว ชักนำพาศาสนาและระบบทางสังคมการเมืองจากอินเดียเข้ามาจนนำไปสู่การเกิดขึ้นของรัฐยุคต้นในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ประวัติศาสตร์ชาติมักอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนว่าเริ่มต้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งเพดานอายุสมัยนี้เป็นปัญหาของประวัติศาสตร์ชาติที่เน้นไปที่ชนชาติไทย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนเก่าแก่ไปกว่านั้นมาก ระยะหลังมานี้ หลักฐานจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นพบในไทยมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตภาคใต้ สะท้อนว่าไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมมานานกว่าที่เคยเข้าใจกัน

 

หลักฐานทางเหนือ

ที่วัดเกษมจิตตาราม ริมคลองโพธิ์ สาขาหนึ่งของแม่น้ำน่าน ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ดาบปลายของ้าวสำริดของจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น และยังมีของอื่นๆ ที่พบด้วยที่สำคัญคือ กาน้ำสำริด ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระบุว่าอายุ 2,000-2,300 ปี  

 

ดาบปลายของ้าวแบบนี้จีนเรียกว่า ‘ซวางเกอจี่’ (雙戈戟) ปกติจะต้องเข้าด้ามยาว ใช้รบบนหลังม้า และทหารกองหน้าตั้งรับกับม้า ใช้ได้ทั้งฟัน แทง และรับดาบของศัตรู ลวดลายบนอาวุธเป็นลายวนขดเป็นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น จึงเป็นลายแบบราชวงศ์ฮั่น หมายถึง พระอาทิตย์ หรือลม อาวุธแบบนี้พบไม่มากในไทย ทั้งๆ ที่น่าสนใจ และควรศึกษาให้มากขึ้น 

 

han dynasty

ของ้าวแบบจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น พบที่วัดเกษมจิตตาราม จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 

ของพวกนี้เข้ามาในไทยได้อย่างไรนั้น สันนิษฐานได้ 2 ทาง ทางแรก เข้ามาพร้อมกับการติดต่อกับกลุ่มวัฒนธรรมดองซอน (อายุ 2,000-2,500 ปีมาแล้ว) ที่ผลิตกลองมโหระทึก ทางตอนเหนือของเวียดนาม โดยอาศัยแม่น้ำน่าน เชื่อมต่อไปยังแม่น้ำโขง ผ่านที่ลาวไปทางหลวงพระบาง เมืองพวน ไปยังเวียดนาม ซึ่งในเวลานั้นราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25-220/พ.ศ. 568-763) ได้แผ่อิทธิพลลงมาถึงแถบมณฑลกวางซี และตอนเหนือของเวียดนาม ของพวกนี้อาจเข้ามาพร้อมกับการแลกเปลี่ยนทางการค้าในยุคต้น ทำให้ในเขตอุตรดิตถ์พบกลองมโหระทึกรุ่นแรกๆ หลายใบ 

 

ทางที่สอง ของพวกนี้มีฐานะเป็นของขวัญที่ใช้ในการเชื่อมความสัมพันธ์ทางการเมือง ไม่จากราชวงศ์ฮั่นตะวันออกเอง ก็อาจจะเป็นกลุ่มเมืองในวัฒนธรรมดองซอนที่รับมาจากราชวงศ์ฮั่นอีกทอดหนึ่ง เพราะอาวุธแบบซวางเกอจี่นี้พบในเขตวัฒนธรรมดองซอนด้วย แนวคิดปัจจุบันเชื่อว่ากลุ่มวัฒนธรรมดองซอนนี้มีทั้งกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกและไท จึงเป็นร่องรอยแรกๆ ว่าคนพื้นเมืองทางภาคเหนือติดต่อกับกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทมานานแล้ว

 

นอกเหนือจากที่อุตรดิตถ์แล้ว ผู้เขียนเคยได้ข่าวว่ามีการค้นพบในเขตภาคอีสาน และในเขตลพบุรีอีกด้วย เรื่องนี้น่าสนใจที่จะไปสืบค้นต่อ   

 

หลักฐานทางใต้

ลงมาทางใต้ ในยุคที่การเดินทางอ้อมคาบสมุทรมลายูยังไม่พัฒนา พื้นที่บริเวณคอคอดกระจึงเป็นเส้นทางสำคัญ ตลอดทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยพบแหล่งโบราณคดียุคต้นที่พบหลักฐานสมัยราชวงศ์ฮั่น อินเดียโบราณ และดองซอนอยู่หลายแห่ง 

 

นักโบราณคดีฝรั่งเศส เบเรนิซ เบลลินา (Bérénice Bellina) ขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร พบว่าเขาสามแก้วเป็นชุมชนการค้าระดับสากล และเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับและเครื่องมือเครื่องใช้ มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 2-9 

 

หลักฐานที่แสดงการติดต่อกับจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ได้แก่ เครื่องถ้วยราชวงศ์ฮั่นที่พบเป็นจำนวนมากถึง 84 ชิ้น แบ่งเป็น 2 จำพวก พวกแรกใช้เทคนิคการปั้นด้วยขดดินแล้วตี และพวกที่สองใช้แป้นหมุนเพื่อขึ้นรูปภาชนะ 

 

เมื่อพิจารณากันในรายละเอียดจากลวดลายประดับพบว่า มีทั้งแบบจีนตอนใต้ แบบจีนตะวันออก และแบบเวียดนามเหนือ ถือเป็นการค้นพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นนอกแผ่นดินจีนและข้างเคียงที่มากที่สุด นอกจากภาชนะดินเผาแล้ว ยังพบเศษแก้วที่มีส่วนผสมของแร่โปแตชที่ผลิตจากจีนตอนใต้อีกด้วย 

 

han dynasty

เศษภาชนะดินเผาแบบราชวงศ์ฮั่น พบที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร (บัญชา พงษ์พานิช และคณะ 2563:175)

 

เชื่อว่าเครื่องถ้วยพวกนี้อาจสัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ราชวงศ์ฮั่นบุกพิชิตดินแดนในเขตจีนตอนใต้และเวียดนามเหนือ (บัญชา พงษ์พานิช 2563:75-78) ที่เขาสามแก้วนี้ยังพบกลองมโหระทึกจากวัฒนธรรมดองซอน อินเดียยุคโบราณ และเครื่องประดับของวัฒนธรรมซาหวิ่น (Sa Huynh Culture) อีกด้วย

 

จากหลักฐานหลายอย่างชี้ชัดว่า เขาสามแก้วพัฒนาขึ้นเป็นเมืองยุคต้นระดับนครรัฐโบราณแล้ว ในแถบนี้ยังพบแหล่งโบราณคดีที่มีหลักฐานของราชวงศ์ฮั่นอีก ที่สำคัญคือแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง และบางกล้วย อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง แหล่งโบราณคดีควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ แหล่งโบราณคดีท่าชนะ  จังหวัดสุราษฎร์ธานี และแหล่งโบราณคดีขะเมายี้ เกาะสอง ประเทศเมียนมา ซึ่งทุกแห่งยังพบหลักฐานพวกภาชนะดินเผา ตราประทับ ลูกปัดทั้งหินมีค่าและทองคำ ทั้งที่มาจากอินเดียโบราณสมัยราชวงศ์โมริยะ-ศุงคะ และจากโรมัน (เอาไว้ในบทความอื่นจะเล่าให้ฟัง) 

 

han dynasty

 

เครื่องประดับทำจากทองคำ ชิ้นซ้ายมือพบที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร (Bennett 2017:69) ชิ้นขวามือเป็นกำไลทองคำที่ในสุสานของชนชั้นสูงสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกที่เมืองเหอผู่ (ภาพจาก บัญชา พงษ์พานิช) จะเห็นได้ว่ามีรูปแบบที่เหมือนกัน

 

นักโบราณคดีจีนที่ขุดสุสานราชวงศ์ฮั่นตะวันออกที่เหอผู่ (合浦) เคยสงสัยว่า ลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติ เช่น คาร์เนเลียน อาเกต และเครื่องประดับทองคำ ที่พบในสุสานของชนชั้นสูงนั้นมาจากไหน เดิมทีตั้งข้อสันนิษฐานว่ามาจากเส้นทางสายไหมทางบก แต่เมื่อหลักฐานทางโบราณคดีที่พบทางภาคใต้เผยแพร่มากขึ้น ทำให้ต้องเปลี่ยนข้อสันนิษฐานว่า ‘สิ่งของกำหนดค่าศักดิ์ศรี’ (Prestige Goods) เหล่านี้มาจากการติดต่อระหว่างราชวงศ์ฮั่นกับนครรัฐในเขตภาคใต้ของไทย 

 

การติดต่อระหว่างจีนกับบ้านเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเส้นทางทะเลนี้มีหลักฐานประเภทเอกสารยุคต้นๆ อยู่บ้าง ปานกู้ (班固) (พ.ศ. 575-635) นักประวัติศาสตร์จีนสมัยราชวงศ์ฮั่น อธิบายการเดินเรือจากเมืองเหอผู่เพื่อไปยังอินเดียว่า เมื่อออกจากเหอผู่จะไปถึง ‘รินนัน’ (Rinan) (ตังเกี๋ย เวียดนาม) จากนั้นไปยังเมืองตูหยวน (Duyuan) (ซึ่งคงเป็นเมืองออกแก้ว ทางตอนใต้ของเวียดนาม) จากนั้นผ่านเมืองยีลูโม (Yilumo) (คือบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี) จากนั้นไปยังเมืองเจนหลี (Chenli) (คงเป็นเขาสามแก้ว) จากนั้นเดินเท้าอีก 10 วัน (ข้ามคอคอดกระ) ไปยังอีกฝั่งทะเล จะไปถึงเมืองฟูกันดูลู (Fugandulu) (คงเป็นบางกล้วย จังหวัดระนอง) โดยมีปลายทางคือ เมืองอริกาเมฑุ (Arikamedu) และเมืองมันไต (Mantai) ของอินเดีย (บัญชา พงษ์พานิช และคณะ 2563) 

 

โบราณวัตถุสมัยราชวงศ์ฮั่นที่พบในไทยนี้สะท้อนให้เห็นว่า ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 2 หรือเมื่อ 2,000-2,300 ปีมาแล้ว เกิดสังคมระดับเมืองที่ซับซ้อนในไทย ชุมชนในเขตนี้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับรัฐต่างๆ อย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นฮั่น ดองซอน ซาหวิ่น อินเดีย และโรมัน การติดต่อนี้เองที่มีส่วนอย่างยิ่งต่อการทำให้เกิดพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว ชักนำพาศาสนาและระบบทางสังคมการเมืองจากอินเดียเข้ามาจนนำไปสู่การเกิดขึ้นของรัฐยุคต้นในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

อ้างอิง:

  • บัญชา พงษ์พานิช และคณะ. 2563. สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรมเชื่อมโยงโลก. กรุงเทพฯ: สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน). 
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2561. “ภาษาและวรรณกรรม จากจีนสู่ไทย หลายพันปีมาแล้ว,” มติชนสุดสัปดาห์, ฉบับวันที่ 19 – 25 ตุลาคม. Available at:  https://www.matichonweekly.com/column/article_141997
  • Anna Bennett. 2017. U Thong City of Gold: The Ancient History. Bangkok: River Books.
  • Bérénice Bellina. 2014. “The Development of Coastal Polities in the Upper Thai-Malay Peninsula in the Late First Millennium BCE,” in Before Siam was Born: New Insights on the Art and Archaeology of Pre-Modern Thailand and its Neighbouring Regions, edited by N. Revire and S. Murphy.Bangkok: River Books, pp.68-89. 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising