Silence ผลงานเรื่องล่าสุดของผู้กำกับรุ่นเก๋า มาร์ติน สกอร์เซซี เขาเลือกเอาเรื่องราวในนิยายคลาสสิกเรื่อง Chinmoku (ความเงียบ) ของ เอนโด ซูซาคุ ที่นำเสนอเหตุการณ์กวาดล้างชาวคริสต์ในประเทศญี่ปุ่นช่วงศตวรรษที่ 17
ถ้าพูดกันตามหน้าประวัติศาสตร์ ช่วงนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเยอะมากจนไม่สามารถเล่าทั้งหมดลงในหนังทั้งเรื่องได้ (ถึงแม้หนังจะยาว 2 ชั่วโมง 40 นาทีแล้วก็เถอะ) วันนี้ THE STANDARD รวบข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงจุดจบ จากยุคที่รุ่งเรืองที่สุดไปจนถึง ‘ยุคมืด’ ของศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่น เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าไปรับชมหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่ ‘เข้มข้น’ ที่สุดของญี่ปุ่นในโรงภาพยนตร์
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในปี 1543 ที่คณะพ่อค้าชาวโปรตุเกสและสเปนเดินเรือมาถึงญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยนำอาวุธปืนและสินค้าต่างๆ มาเป็นของแลกเปลี่ยน
ต่อมา มิชชันนารีฟรังซิส ซาเวียร์ (บาทหลวงที่มีอิทธิพลอย่างมากในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย จีน และญี่ปุ่น จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นนักบุญในปี 1622) ได้เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์เป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 1549 โดยเริ่มต้นที่เมืองคาโกชิมา เมืองหลวงของญี่ปุ่นฝั่งใต้ และยึดฝั่งใต้เป็นพื้นที่หลัก ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยมีเมืองนางาซากิเป็นเสมือนศูนย์กลางในตอนนั้น
ในช่วงแรก คณะมิชชันนารียังไม่เป็นที่ยอมรับของไดเมียวต่างๆ เท่าไร จนกระทั่งเริ่มเห็นว่าเมืองไหนที่เปิดรับคณะมิชชันนารี การค้ากับชาติตะวันตกในเมืองนั้นก็จะเจริญรุ่งเรืองตามไปด้วย ไดเมียวหลายคนจึงตัดสินใจเปิดเมือง และทำให้ศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีการประเมินว่าช่วงปี 1590 น่าจะมีชาวญี่ปุ่นเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์มากถึง 200,000 คน
จากนั้นเริ่มมีความกังวลว่า หากปล่อยให้การขยายตัวของศาสนาคริสต์เป็นไปอย่างรวดเร็วแบบนี้ต่อไปอาจส่งผลกับความมั่นคงของประเทศ ในช่วงปี 1600 หลังจบสงครามเซกิงาฮาระ และเข้าสู่ยุคของ โทกุงาวะ อิเอยาสึ ได้ออกนโยบายว่า ห้ามทำกิจกรรมสอนศาสนาคริสต์ทั้งหมด แต่ยังติดต่อค้าขายกับชาวตะวันตกได้เหมือนเดิม
ต่อมาเมื่ออิเอยาสึถึงแก่กรรมในปี 1616 อำนาจการปกครองตกเป็นของลูกชายอย่าง โทกุงาวะ ฮิเดทาดะ จึงเริ่มมีความคิดปราบปรามชาวคริสต์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์ในปี 1622 ที่เกิดการสังหารชาวคริสต์จำนวนถึง 50 คน การกวาดล้างยังคงดำเนินต่อมาเรื่อยๆ จนเข้าสู่ยุคของ โทกุงาวะ อิเอมิสึ (โชกุนคนที่ 3 แห่งตระกูล ‘อิเอมิสึ’) ที่ทำให้เข้าสู่ยุคมืดของศาสนาคริสต์อย่างแท้จริง
มีการนำบททดสอบที่เรียกว่า ‘ฟุมิเอะ’ ที่จะนำแผ่นภาพที่แกะสลักเป็นรูปพระเยซูหรือพระแม่มารีมาให้เหยียบ หรือถ่มน้ำลายใส่ไม้กางเขน เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ หากไม่ทำตามก็จะถูกทรมานด้วยวิธีการต่างๆ จนกระทั่งยอมทำตาม หรือจนกว่าจะเสียชีวิต
การกดขี่ชาวคริสต์ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงปี 1937 ทำให้ชาวคริสเตียนบนแหลมชิมาบาระและเกาะอามาคุสะ อันเป็นส่วนหนึ่งของเกาะคิวชู ได้ก่อกบฏขึ้นใน ค.ศ. 1637 เรียกว่า กบฏชิมาบาระ เพื่อต่อต้านรัฐบาลโทกุงาวะ รัฐบาลต้องใช้เวลาถึง 1 ปีเต็มในการปราบกบฏ พร้อมกับตัดสินใจออกนโยบายปิดประเทศ ห้ามคนญี่ปุ่นเข้าหรือออกนอกประเทศ และไม่เพียงแต่สั่งห้ามนับถือศาสนาคริสต์เท่านั้น แม้แต่การติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติก็ทำไม่ได้ โดยญี่ปุ่นจะทำการค้าแค่กับชาวฮอลันดาที่สถานีการค้าบนเกาะเดจิมะเท่านั้น
คริสต์ศาสนิกชนชาวญี่ปุ่นที่ยังหลงเหลืออยู่ในเวลานั้นถูกเรียกว่า ‘คาคุเระคิริชิตัน’ หรือ ‘คริสตังลับ’ ต้องปรับตัวด้วยการแปลงรูปเคารพของบรรดานักบุญให้คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปและรูปของพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนา หรือพระแม่มารีที่ถูกพรางให้เหมือนเจ้าแม่กวนอิม ดัดแปลงบทสวดมนต์ให้คล้ายกับบทสวดในศาสนาพุทธ เพื่อให้สามารถปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างปลอดภัย
นโยบายปิดประเทศของอิเอมิสึดำเนินต่อเนื่องมาถึง 200 กว่าปี จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาส่ง นายพลเปอร์รี นำเรือรบมาบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศค้าขายติดต่อกับตะวันตกอีกครั้งใน 1853 พร้อมกับการอนุญาตให้มิชชันนารีสามารถเดินทางเข้ามาสอนศาสนาในญี่ปุ่นได้ เหล่าคาคุเระคิริชิตัน (ที่เหลืออยู่น้อยเต็มที) จึงได้กลับมานับถือศาสนาคริสต์อย่างเปิดเผยอีกครั้งนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ปัจจุบันญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีอิสระในการนับถือศาสนา ประชาชนส่วนมากเลือกที่จะไม่นับถือศาสนาใดเลย (หรือเลือกนับถือเฉพาะบางคำสอนของบางศาสนา หรือบางลัทธิเท่านั้น) อีกส่วนนับถือศาสนาพุทธพุทธและลัทธิชินโต ปัจจุบันมีชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์อยู่ประมาณ 1.5% หรือประมาณ 1,500,000 คน
ตัวอย่างภาพยนตร์
อ้างอิง:
- en.wikipedia.org/wiki/Edo_period
- en.wikipedia.org/wiki/Kirishitan
- www.japantimes.co.jp/life/2007/12/23/general/japans-hidden-christians/#.WFywVRREeX1
- www.historytoday.com/richard-cavendish/st-francis-xavier-departs-japan
- มาร์ติน สกอร์เซซี มีความคิดทำหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 1998 โดยวางตัว แดเนียล เดย์ ลูวิส และ เบนิซิโอ เดล โตโร เป็นนักแสดงนำ
- เป็นการกลับมามีส่วนในการเขียนบทด้วยตัวเองอีกครั้งในรอบ 20 ปีของสกอร์เซซี หลังจากเรื่อง Casino (1995)
- มีแผนกำหนดฉายตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยถูกวางให้เป็นคู่แข่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ล่วงหน้าของ La La Land (แม้สุดท้าย Moonlight จะได้ออสการ์ไปแทนก็เถอะ)