×

สัญญาณเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า สะเทือนเศรษฐกิจโลก

โดย THE STANDARD TEAM
15.09.2023
  • LOADING...
china flag

‘เศรษฐกิจจีน’ มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง สร้างความกังวลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก จากการที่เป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ล่าสุดผลสำรวจของ Bloomberg ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP จีน ในปี 2566 แตะระดับ 5% หลังจาก GDP ไตรมาสที่ 2 ขยายตัวเพียง 6.3% สะท้อนภาคการผลิต การบริโภค และการส่งออก ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง รวมทั้งมีความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ หากดูภาพรวมเศรษฐกิจจีนที่แผ่วลง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย หลักๆ อยู่ในมิติการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 ที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยมีปัจจัยฉุดรั้งจากตลาดจีนที่เป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับสองยังคงหดตัว

 

ตัวเลขเศรษฐกิจพาเหรดชี้ให้เห็นภาพเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเปราะบาง 

 

เศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้เร็วเหมือนประเทศหลักอย่างสหรัฐอเมริกา หลังจากจีนเปิดประเทศเมื่อปลายปี 2565 แต่กลับไม่เป็นไปตามคาด สะท้อนจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ในด้านภาคการผลิตสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 49.3 จุด หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งปรับตัวลดลงทั้งภาคการผลิตและบริการ ท่ามกลางความเสี่ยงใหม่จากการผิดนัดชำระเงินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน 

 

ด้านการส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2566 ลดลง 15% โดยนับเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 และเมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออกในประเทศคู่ค้าหลักในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 พบว่า ยอดการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักอันดับหนึ่งของจีน ติดลบมากที่สุดถึง 23% เนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเด็นความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีชิป และการกระจายห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมต่างๆ ขณะที่ยอดการส่งออกไปยังรัสเซีย (สัดส่วนส่งออก 4%) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 52% แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนตลาดสหรัฐฯ ที่ลดลงได้ อีกทั้งความต้องการสินค้าทั่วโลกที่ลดลง ล้วนเป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อการส่งออกจีนให้ทรุดลงอย่างมาก 

 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกรกฎาคมของจีนปรับตัวลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี และสวนทางกับประเทศในฝั่งตะวันตกและเกือบทั่วโลกที่เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อสูงรุนแรงจากสถานการณ์ความตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน และเร่งตัวขึ้นท่ามกลางภาวะอุปทานตึงตัวและอุปสงค์ที่พุ่งขึ้น แต่เศรษฐกิจจีนกลับไม่ฟื้นตัวในลักษณะเช่นนั้น 

เศรษฐกิจจีนแผ่วลง ส่งผลกระทบต่อคู่ค้าที่พึ่งพาตลาดส่งออกจีน

 

ด้วยภาพเศรษฐกิจจีนที่ไม่ได้เติบโตเท่าที่คาดการณ์กันไว้ และปัจจัยที่เกี่ยวกับนโยบายเปลี่ยนผ่านไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุปสงค์ภายในประเทศที่หันไปใช้จ่ายในประเทศมากกว่านอกประเทศ ดังนั้นหากหลังจากนี้เศรษฐกิจจีนยังไม่มีสัญญาณดีขึ้น จะยิ่งมีผลกระทบมากขึ้นกับทั้งภาคส่งออกและท่องเที่ยวของไทย ซึ่งไม่นับผลกระทบทางอ้อมที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยจากแรงซื้อภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่อาจลดลงได้ 

 

เมื่อลงรายละเอียดในด้านการส่งออกไทยที่พึ่งพาตลาดจีนในสัดส่วน 13% พบว่า สินค้าส่งออกไปจีนอยู่ใน 3 หมวดหลัก ทั้งสินค้าเกษตร เคมีภัณฑ์ และสินค้าอุตสาหกรรมราว 60% ของการส่งออกทั้งหมดที่ส่งไปจีน โดยกลุ่มผลไม้สด ผลไม้แช่เย็นและแช่แข็ง รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับ ยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่กลุ่มสินค้าที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องคอมพิวเตอร์, แผงวงจรไฟฟ้า, เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบางอุตสาหกรรมที่จีนเริ่มผลิตเอง เพื่อทดแทนการพึ่งพาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเคมีภัณฑ์ เมื่ออุปสงค์จากจีนหายไปมากกว่าที่คาดและความหวังว่าจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแรงๆ เหมือนอดีต คงทำได้ยาก เพราะมีข้อจำกัดด้านการคลัง ที่สำคัญการออกมาตรการด้านเศรษฐกิจของจีนในช่วงที่ผ่านมากระตุ้นการบริโภคต่างๆ วันนี้ย้อนกลับมาสร้างปัญหาให้จีนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์

 

ดังนั้นเมื่อพิจารณารวมกับตลาดหลักอื่นที่มีแนวโน้มหดตัวเช่นกัน ทั้งตลาดสหรัฐฯ อาเซียน และสหภาพยุโรป นับเป็นความท้าทายของภาคการส่งออกไทยในปี 2566 เป็นอย่างมากที่จะรักษาการเติบโตไว้ได้ ทำให้ภาพรวมส่งออกไทยทั้งปี 2566 มีแนวโน้มจะหดตัวราว 1% เทียบกับปี 2565 ที่ขยายตัวได้ 5.7%

 

ผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าคาด

 

ผลจากการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงและปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ (ภาคอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 29% ของ GDP) ส่งผลให้การบริโภคและการใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนลดลง ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็นสัดส่วน 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมด จากเดิมคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาปีนี้ราว 5 ล้านคน แต่ปัจจุบันในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยเพียง 2 ล้านคน

 

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี จากการประกาศมาตรการ ‘ฟรีวีซ่า’ สำหรับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย ที่คาดว่าเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป จะเป็นปัจจัยบวกที่กระตุ้นภาพรวมการท่องเที่ยวในไตรมาสสุดท้ายของปีซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน และมีแนวโน้มที่จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ทำให้คาดการณ์นักท่องเที่ยวจีนทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน (ซึ่งยังคงไม่ถึง 30% ของนักท่องเที่ยวจีนก่อนสถานการณ์โควิด-19) และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภาพรวมอยู่ที่ราว 28 ล้านคน 

 

นอกจากนี้พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนที่เปลี่ยนไปหลังสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่ การระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น และการซ้ำเติมด้วยอัตราการว่างงานในวัยหนุ่มสาวที่มากขึ้น อาจทำให้ชาวจีนไม่มั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากๆ เหมือนในอดีต และไม่มั่นใจในการท่องเที่ยวในต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนจากค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวจีนต่ำกว่าในอดีตมาก 

 

สุดท้ายนี้ต้องฝากความหวังไว้กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่คาดว่ารัฐบาลจีนจะออกมาในไตรมาสสุดท้ายของปีว่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน เพื่อเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2567 กันครับ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X