×

วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค

01.08.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อโลก

เงินเฟ้อ สหรัฐฯ ที่เร่งตัวสูงขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาซึ่งขยายตัวสูงถึง 9.1% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี ปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าภาวะเงินเฟ้อสูงนี้จะยืดเยื้อไปอีกนานเท่าไร และเมื่อไรเงินเฟ้อโลกจะผ่านพ้นจุดสูงสุด 

 

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันมีข้อมูลหลายตัวที่บ่งชี้ไปในทิศทางที่ว่า ‘เงินเฟ้อโลก’ ใกล้จะผ่านจุดสูงสุดแล้ว สะท้อนผ่าน ‘5 สัญญาณ’ สำคัญดังต่อไปนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


1. ราคาพลังงาน

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าราคาน้ำมันนั้นเป็นสาเหตุหลักของเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันโลกได้พุ่งทะยานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในเดือนมีนาคมที่ระดับ 129 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน มาถึงวันนี้ราคาน้ำมันโลกได้ลดลงกลับมาที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสงครามอีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงสหภาพยุโรปเริ่มผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย นอกจากนี้ อีกหนึ่งพลังงานสำคัญของโลกอย่างก๊าซธรรมชาติ ราคาก็ได้ปรับตัวลดลงกว่า -45% ในช่วงระยะเวลาเพียง 1 เดือน นับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 

 

2. ราคาโลหะอุตสาหกรรม

ราคาโลหะอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ราคาทองแดง’ เนื่องจากนักลงทุนมองว่าราคาทองแดงเป็นดัชนีสำคัญที่ชี้นำว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรต่อไป 

 

ทองแดงเป็นโลหะที่ถูกใช้แพร่หลายเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเหล็กและอะลูมินัม ใช้ในการก่อสร้าง เครื่องจักร มอเตอร์ไฟฟ้า และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ล่าสุดราคาทองแดงได้ปรับลดลงประมาณ 24% โดยเปรียบเทียบจากต้นปี โดยการลดลงของราคาโลหะโลกจะมีนัยสำคัญต่อภาคก่อสร้าง และภาคการผลิตในทุกประเทศ เพราะโลหะเป็นต้นทุนสำคัญของทุกคน 

 

3. ราคาธัญพืช และอาหาร

ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวลดลงของราคาธัญพืช และอาหารโลก เช่น กากถั่วเหลือง ถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวสาลี เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้ามีการขาดแคลนจากภาวะสงครามยูเครน-รัสเซียที่มีการคว่ำบาตรอาหารหลายชนิด ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดหาทรัพยากรทดแทนได้เพิ่มมากขึ้น หากพิจารณาจากราคาข้าวสาลี และข้าวโพดที่พุ่งสูงขึ้นเมื่อมีข่าวว่ารัสเซียบุกยูเครน นับตั้งแต่จุดสูงสุดในกลางเดือนพฤษภาคม ราคาข้าวสาลีและข้าวโพดได้ลดลงกว่า -40% และ -25% ตามลำดับ นอกจากนี้ ราคาถั่วเหลืองก็ปรับตัวลดลงมากว่า -25% หลังจากทำจุดสูงสุดในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา 

 

4. ดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก

ธนาคารกลางประเทศสำคัญเริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธนาคารกลางหลัก อย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อโลกปรับตัวลดลงมาได้นั่นเอง 

 

5. ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย

อย่างไรก็ตาม หากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อยังคงรวดเร็วและรุนแรงในช่วงครึ่งปีหลัง ก็อาจจะทำให้ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มขยับสูงขึ้น และอาจจะลุกลามเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ทำให้ทุกคนเริ่มระมัดระวังในการใช้จ่าย บริษัทเริ่มชะลอการจ้างงาน บางแห่งประกาศลดพนักงานลง 

 

จากภาพรวมทั้ง 5 สัญญาณที่กล่าวไว้ข้างต้น หากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ยังมีแนวโน้มเช่นนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้หมายความว่าปัจจัยสำคัญๆ ที่เป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อจะเริ่มคลี่คลาย และจะนำไปสู่การปรับตัวลดลงของเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีในที่สุด

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X