จากกรณีที่ภาคีบุคลากรสาธารณสุขและกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าร่วมกันลงชื่อเพื่อเรียกร้องการนำเข้า mRNA วัคซีนสำหรับโรคโควิดเป็นกรณีเร่งด่วน และผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 50,000 รายชื่อภายในเวลา 24 ชั่วโมง โดยในจำนวนนั้นมีบุคลากรทางการแพทย์ร่วมลงชื่อกว่า 12,000 รายชื่อ ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ส่งเสียงเรียกร้องถึงรัฐบาล
ล่าสุด เมื่อวานนี้ (30 มิถุนายน) THE STANDARD ได้ต่อสายพูดคุยกับ นพ.สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ ตัวแทนภาคีบุคลากรสาธารณสุข และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าถึงเหตุผลในการออกมาเรียกร้องดังกล่าว รวมถึงเป้าหมายในระยะต่อไป ซึ่ง นพ.สันติ ระบุว่า แคมเปญดังกล่าวเกิดขึ้นจากการพูดคุยกันของบุคลากรทางการแพทย์วงเล็กๆ ใน Clubhouse ที่ต้องการจะส่งเสียงสะท้อนไปถึงรัฐบาลในเรื่องการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า รวมถึงประชาชนทั่วไป จนสุดท้ายกลายเป็นแคมเปญที่ให้ทุกคนมาร่วมกันลงชื่อเพื่อเรียกร้อง mRNA วัคซีน ที่ถือเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในเวลานี้
สำหรับการที่มีคนมาร่วมลงชื่อกันมากกว่า 50,000 รายชื่อภายในเวลา 24 ชั่วโมง นพ.สันติ มองว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนมากต้องการจะเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ต้องเผชิญหน้ากับโควิดโดยตรง แต่ส่วนมากฉีดวัคซีน Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนที่พิสูจน์มาแล้วว่ามีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับวัคซีนตัวอื่นๆ จึงกลายเป็นความเสี่ยงที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องแบกรับ และแปรเปลี่ยนเป็นความไม่พอใจว่าทำไมภาครัฐจึงไม่จัดหาวัคซีนหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ได้เข้าถึง
“การที่คุณมีอำนาจเต็มแบบนี้ โดยเฉพาะ ศบค. คุณสามารถที่จะทำได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีข้อจำกัดใดๆ ทั้งนั้น เพราะขนาดวัคซีน Sinopharm ยังสามารถนำเข้ามาได้ค่อนข้างเร็วมากๆ เมื่อเทียบกับวัคซีนตัวอื่นๆ มันทำให้เราตั้งข้อสงสัยว่าทำไม mRNA วัคซีนถึงมีข้อจำกัดเยอะเหลือเกิน ทำไมถึงไม่แสดงให้เห็นความพยายามที่จะจัดหาบอกให้ประชาชนรู้เลยว่าทางรัฐบาลตั้งใจหาอยู่ มีแต่วัคซีนทางเลือกที่เอกชนจะนำเข้ามาซึ่งก็ต้องเสียเงินไปฉีด ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ได้เข้าถึงได้ทั้งหมด
“เสียงเหล่านี้เป็นเสียงมาจากคนที่ทำงานด่านหน้า คนที่อยู่กับคนไข้จริงๆ ไม่ใช่เป็นคนวางกลยุทธ์ คนพวกนี้ไม่ได้มีอำนาจอะไรเลย แต่เขาก็รู้สึกว่าเขาอยากสะท้อนอะไรบางอย่าง เพราะหลายคนพยายามอดทนมานานมากๆ แล้วก็พยายามสะท้อนเสียงกันไปตามช่องทางอื่นๆ แล้ว แต่ก็ไม่มีการตอบสนองจากรัฐบาลเลย ฉะนั้นก็เลยมองว่าเราต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว” นพ.สันติ กล่าว
สำหรับเป้าหมายในระยะแรกของภาคีบุคลากรสาธารณสุข และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า คือการรวบรวมรายชื่อให้ครบ 1 แสนรายชื่อ ซึ่งขณะนี้ได้รวมตัวกับกลุ่มหมอไม่ทน และแคมเปญรณรงค์ให้มีการปลดล็อกวัคซีนใน Change.org เพื่อนำรายชื่อมารวมกัน และยื่นให้กับทางภาครัฐผ่านตัวแทนต่างๆ เช่น กลไกทางรัฐสภา หรือยื่นโดยตรงถึง ศบค.
“การที่เราออกมาสะท้อนเสียงเป็นหลักหมื่นหลักแสน ผมว่ามันจะเกิดอิมแพ็ก เพราะอย่างน้อยรัฐบาลก็น่าจะฟังเสียงของพวกเราบ้าง แม้ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ควรจะมีข้อเรียกร้องนี้เกิดขึ้นด้วยซ้ำ มันควรจะเป็นค่ามาตรฐานของรัฐบาลที่ดี เพราะข้อเรียกร้องของเราเป็นเรื่องขั้นพื้นฐานมากๆ แค่เอาวัคซีนมาให้เราฉีดหน่อย ทั้งๆ ที่มันก็ควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วยซ้ำ”
ซึ่งหลังจากยื่นรายชื่อเพื่อเรียกร้องแล้ว จะมีการติดตามทวงถาม หรือยกระดับข้อเรียกร้องหรือไม่ ตัวแทนภาคีบุคลากรสาธารณสุข และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าระบุว่าต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
ในฐานะหนึ่งเสียงที่ร่วมลงชื่อ เมื่อถามว่าอยากส่งเสียงถึงใครมากที่สุด นพ.สันติ ทิ้งท้ายกับ THE STANDARD ว่า
“หนึ่งคือ ศบค. เพราะมีอำนาจมากที่สุดแล้ว และเป็นคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจมากที่สุด ณ ปัจจุบันเขาก็ต้องจัดการ เพราะอำนาจอยู่ในมือเขาแล้ว เขาเอากฎหมายทุกอย่างไปรวมอยู่ใน ศบค. หมดเลย มี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มีทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเหตุผลที่ผ่านมามันเป็นแค่ข้ออ้าง เพราะถ้าคุณจะทำคุณทำได้อยู่แล้ว
“สอง คืออยากฝากถึงบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลายที่ยังไม่ออกมาสักที ผมว่าถึงจุดนี้เราควรมีจริยธรรม ควรมีกระดูกสันหลังที่จะลุกขึ้นมาพูดในข้อเท็จจริง บอกถึงสถานการณ์ที่เป็นความจริงตอนนี้ และช่วยกันสะท้อนให้ประชาชนรับรู้ว่าพวกเรามีความคิดอย่างไรกับสถานการณ์ตอนนี้ ไม่อยากให้เงียบๆ แล้วยอมรับชะตากรรมไปเรื่อยๆ เพราะสิ่งที่เลวร้ายจะเกิดกับประเทศนี้เมื่อพวกเราเงียบ ไม่มีใครออกมาทำอะไร ไม่มีใครออกมาคัดค้านนโยบายภาครัฐที่มันไม่มีประสิทธิภาพ ผลเสียไม่ได้ตกกับใคร ก็ตกกับพวกเรากันเอง รวมถึงประชาชนทั้งประเทศ ฉะนั้นอยากให้มีกระดูกสันหลังในการที่จะออกมาพูด รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในทีม ศบค. ด้วย อยากให้เขาทบทวนตัวเอง แล้วออกมาพูดในสิ่งที่มันควรจะเป็น” นพ.สันติกล่าว