วานนี้ (20 มิถุนายน) คณะนักโบราณคดีเปิดเผยการค้นพบหลุมศพจากยุคปลายราชวงศ์ซาง (1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) จนถึงยุคต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ปี 25) มากกว่า 1,100 หลุม ในอำเภอเหยียนหยวน มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
สถาบันวิจัยโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีนครเฉิงตู เมืองเอกของซื่อชวน ระบุว่ามีการค้นพบโบราณวัตถุกว่า 5,000 ชิ้น เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องสัมฤทธิ์ เครื่องเหล็ก เครื่องทอง และเครื่องเงินจากซากเหล่าหลงโถว นับตั้งแต่เริ่มขุดค้นเมื่อเดือนเมษายน 2020
คณะนักโบราณคดีกล่าวว่าเครื่องปั้นดินเผาส่วนใหญ่เป็นโถมีหูจับ โดยจุดเด่นการค้นพบในหมู่เครื่องสัมฤทธิ์ ได้แก่ ชุดอุปกรณ์สิ่งทอสภาพดี รถม้าสัมฤทธิ์ 3 ล้อ ซึ่งเชื่อว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบเก่าแก่ที่สุดในจีน และเครื่องสัมฤทธิ์ลักษณะคล้ายกิ่งก้านยื่นออก ที่สะท้อนความเชื่อและการบูชาอันเป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่น
โจวจื้อชิง รองหัวหน้าสถาบันฯ เผยว่าการขุดค้นครั้งนี้สลักสำคัญยิ่งต่อการศึกษาพัฒนาการของวัฒนธรรมสัมฤทธิ์ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลซื่อชวน รวมถึงภาคตะวันตกของมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทั้งเป็นหลักฐานการแลกเปลี่ยนระหว่างบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว