×

ศรีเทพ เขาศักดิ์สิทธิ์ ด็อกเตอร์สเตรนจ์ และมณฑลจักรวาล (ตอนที่ 1)

16.09.2023
  • LOADING...
เมืองโบราณศรีเทพ

HIGHLIGHTS

  • ไม่ว่าด็อกเตอร์สเตรนจ์จะมีความเข้าใจต่อมัณฑละอย่างไร แต่โดยทั่วไปแล้ว มัณฑละ (Mandala) หรือมณฑลจักรวาลตามความเชื่อของศาสนาพุทธมหายานนั้น พัฒนาขึ้นมาจากการวาดยันต์ (Yantra) ต่อมาเชื่อว่ายันต์ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์อันเป็นที่สถิตของเทพเจ้า จึงทำให้ยันต์เกิดความซับซ้อนขึ้นและกลายเป็นความศักดิ์สิทธิ์ 
  • มัณฑละอันเป็นที่สถิตของเทพเจ้านี้จึงเริ่มวาดให้กลายเป็นพระราชวัง ซึ่งปกติจะมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีประตูทางเข้า 4 ด้านหันไปทิศทั้งสี่ หรือมุมของโลกทั้งสี่ ซึ่งจะช่วยปกป้องไม่ให้สิ่งชั่วร้ายหรือปีศาจเข้ามา และเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ แผนผังของมัณฑละอาจดูได้จากในศิลปะทิเบต ที่บางครั้งมองอย่างเร็วๆ จะเห็นได้ว่าคล้ายกับแผนผังของเขาคลังนอก
  • เหตุผลที่เขาคลังนอกต้องก่อฐานสูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ เพราะเขาคลังนอกคือการจำลองเรือนฐานันดรสูงของพระเจ้า จึงเต็มไปด้วยซุ้มบัญชรมากมาย 
  • และสามารถตีความได้เช่นกันว่า การก่อสร้างเขาคลังนอกนั้นต้องการให้เกิดความรู้สึกว่า เขาคลังนอกคือภูเขาศักดิ์สิทธิ์ คือเขาพระสุเมรุ ซึ่งถือเป็นแกนกลางของโลกและจักรวาล ซึ่งเป็นที่อยู่ของทวยเทพ ซุ้มบัญชรคือตัวแทนบ้านของพระเจ้าที่สถิตอยู่ตามเขาพระสุเมรุนั่นเอง

พื้นที่แห่งใดที่ได้เป็นมรดกโลกมักส่งผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ ดีขึ้นอย่างชัดเจน เพราะทำให้คนรู้จักกันทั่วโลก ข้อสรุปนี้มาจากงานวิจัยหลายชิ้น เชื่อว่าเมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศไทยคงจะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวมากขึ้น 

 

ในขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยทวารวดี-ก่อนทวารวดี รวมถึงเขมร จะมีผู้คนค้นคว้าศึกษากันมากขึ้น อาจมีผิดบ้างถูกบ้างเป็นเรื่องปกติ ต้องไม่หวงห้าม เพราะจะได้เปิดโอกาสให้คนได้คิดและจินตนาการ 

 

คำถามสำคัญตอนนี้คือ ทำไมศรีเทพถึงได้เป็นเมืองสำคัญในสมัยโบราณ 

 

ถ้าหากจำภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ มีตัวแสดงคนหนึ่งที่มีบทบาทพอสมควรคือ ‘พระศรีถมอรัตน์’ (ต่อมาแต่งตั้งเป็นพระยาศรีไสยณรงค์) ชื่อนี้สำคัญ เพราะสะท้อนว่าในความทรงจำของราชสำนักอยุธยาที่ยังคงจดจำเขาถมอรัตน์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์เมื่อ 600-700 ปีก่อนสมัยสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งเชื่อมโยงกับเมืองโบราณศรีเทพในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อในคติศาสนาพุทธมหายาน

 

เขาถมอรัตน์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองศรีเทพ 

 

ภาพพระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้า ที่สลักภายในถ้ำ (อ้างอิง: ยุทธนา ผิวขม แอดมินเพจ FaithThaiStory)

เขาถมอรัตน์เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม (Cultural Landscape) ของเมืองศรีเทพ ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของเมือง เนื่องจากบนยอดเขามีถ้ำขนาดเล็ก แต่สลักภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์ศรีอริยเมตไตรย และพระพุทธเจ้า (อาจมีพระโพธิสัตว์มหาสถามปราปต์ด้วย) สะท้อนคติความเชื่อในศาสนาพุทธมหายาน เห็นได้จากการนับถือพระโพธิสัตว์ ซึ่งคนโบราณเชื่อว่าจะเป็นผู้ที่ช่วยพาสัตว์ทั้งหลายข้ามสังสารวัฏ และยังอาจเกี่ยวข้องกับลัทธิตันตระที่เชื่อในเรื่องความลี้ลับ ถ้ำบนยอดเขาจึงอาจตอบสนองต่อความเชื่อนี้

 

รูปแบบศิลปะของพระโพธิสัตว์ในถ้ำบนเขาถมอรัตน์นี้คล้ายกับพระโพธิสัตว์สำริดกลุ่มประโคนชัยที่พบในจังหวัดบุรีรัมย์ เทียบศิลปะได้กับศิลปะไพรกเมง-กำพงพระของกัมพูชา จึงกำหนดอายุแคบๆ ว่า พระโพธิสัตว์และพระพุทธรูปที่เขาถมอรัตน์นี้คงสลักเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14

 

เขาคลังนอก มหาสถูปที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพุทธมหายาน

 

เขาถมอรัตน์เชื่อมโยงกับโบราณสถานแห่งหนึ่งที่สำคัญในเมืองศรีเทพคือเขาคลังนอก ซึ่งถือเป็นมหาสถูปที่ใหญ่ที่สุดในไทยในโลกยุคโบราณ คือมีขนาดฐาน 60×60 เมตร (ถ้าไม่นับรวมพระปฐมเจดีย์ที่ไม่ทราบขนาดแน่นอน) ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เขาคลังนอกคล้ายกับโบราณสถานในแถบอินเดียใต้ที่ชอบตกแต่งฐานด้วยซุ้มบัญชรทรงสูงขนาดเล็ก เทียบได้กับศิลปะเกรละ (Kerala) บางคนให้ความเห็นว่าอาจได้แรงบันดาลใจจากศิลปะจาลุกยะ (Chalukya) ด้วยเช่นกัน 

 

เทวสถานในศิลปะเกรละ อินเดียใต้ (อ้างอิง: https://twitter.com/templefable/status/947720947183763456)

 

แต่ถ้าเทียบกันแล้วก็จะเห็นได้ว่ามีข้อต่างอยู่อย่างหนึ่ง เพราะเขาคลังนอกไม่ได้ยกอินเดียใต้มาทั้งดุ้น แต่เป็นการผสมกันระหว่างศิลปะอินเดียใต้คือส่วนฐาน กับอินเดียเหนือจากราชวงศ์ปาละในส่วนยอดที่เป็นเจดีย์ ดูเผินๆ คล้ายกับมหาสถูปบุโรพุทโธบนเกาะชวา แต่ย่อมกว่ามาก 

 

การผสมผสานศิลปะเช่นนี้ เขาคลังนอกจึงสะท้อนให้เราเห็นถึงเครือข่ายการค้าและศาสนาในช่วงราวต้นพุทธศตวรรษที่ 14 หรืออาจราว พ.ศ. 1300-1400 หลังจากนั้นอาจมีการต่อเติมและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของศาสนา 

 

เขาคลังนอกเปรียบได้กับพีระมิดจริงหรือ ความจริงแล้วอาจเปรียบเทียบได้ในเชิงรูปทรงที่ก่อเป็นชั้นฐานขึ้นไป แต่ถ้ามองจากแนวคิดในการสร้างแล้วถือว่าคนละเรื่อง เพราะเขาคลังนอกสร้างขึ้นจากแนวคิดเขาพระสุเมรุผสมกับมณฑลจักรวาล 

 

ในภาพยนตร์ของ Marvel เรื่อง Doctor Strange พระเอกของเรามือหักเพราะขับรถโดยประมาท จนต้องดั้นด้นหาวิธีรักษาถึงเนปาล จนได้เจอกับ Ancient One สุดท้ายได้รับวิชามา และสามารถสร้างโล่สีส้มๆ ของจอมเวทได้เวลาต้องต่อสู้กับศัตรู โล่นี้เรียกว่า ‘Tao Mandala’ ซึ่งลัทธิเต๋าแบบ Marvel นั้นก็ปนๆ กันกับศาสนาพุทธมหายานลัทธิตันตระ 

 

 

มัณฑละของด็อกเตอร์สเตรนจ์ (อ้างอิง: https://marvelcinematicuniverse.fandom.com/wiki/Tao_Mandalas)

 

ไม่ว่าด็อกเตอร์สเตรนจ์จะมีความเข้าใจต่อมัณฑละอย่างไร แต่โดยทั่วไปแล้ว มัณฑละ (Mandala) หรือมณฑลจักรวาลตามความเชื่อของศาสนาพุทธมหายานนั้น พัฒนาขึ้นมาจากการวาดยันต์ (Yantra) ต่อมาเชื่อว่ายันต์ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์อันเป็นที่สถิตของเทพเจ้า จึงทำให้ยันต์เกิดความซับซ้อนขึ้นและกลายเป็นความศักดิ์สิทธิ์ 

 

มัณฑละอันเป็นที่สถิตของเทพเจ้านี้จึงเริ่มวาดให้กลายเป็นพระราชวัง ซึ่งปกติจะมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีประตูทางเข้า 4 ด้านหันไปทิศทั้งสี่ หรือมุมของโลกทั้งสี่ ซึ่งจะช่วยปกป้องไม่ให้สิ่งชั่วร้ายหรือปีศาจเข้ามา และเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ แผนผังของมัณฑละนี้อาจดูได้จากในศิลปะทิเบต ที่บางครั้งมองอย่างเร็วๆ จะเห็นได้ว่าคล้ายกับแผนผังของเขาคลังนอก

 

เหตุผลที่เขาคลังนอกต้องก่อฐานสูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ นั้น เพราะเขาคลังนอกคือการจำลองเรือนฐานันดรสูงของพระเจ้า จึงเต็มไปด้วยซุ้มบัญชรมากมาย และสามารถตีความได้เช่นกันว่า การก่อสร้างเขาคลังนอกนั้นต้องการให้เกิดความรู้สึกว่าเขาคลังนอกคือภูเขาศักดิ์สิทธิ์ คือเขาพระสุเมรุ ซึ่งถือเป็นแกนกลางของโลกและจักรวาล ซึ่งเป็นที่อยู่ของทวยเทพ ซุ้มบัญชรคือตัวแทนบ้านของพระเจ้าที่สถิตอยู่ตามเขาพระสุเมรุนั่นเอง 

 

แผนผังมัณฑละมีหลากหลายรูปแบบ แต่มีระบบระเบียบทำเป็นรูปทรงเรขาคณิต ปกติแล้วพื้นที่รอบนอกของมัณฑละจะทำเป็นวงแหวนไฟ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแสงสว่างและปัญญา เมื่อพ้นวงแหวนเข้าไปมักจะทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมซับซ้อน ซึ่งบริเวณนี้ถือเป็นพระราชวังหรือวิมานของเทพและพระพุทธเจ้า มีการวาดรูปเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ แทรกเข้าไป เช่น ดอกบัว หมายถึงปัญญาหรือการสั่งสอน และ เพชร / วัชระ หมายถึงจิตใจอันบริสุทธิ์ ระหว่างที่พระสงฆ์วาดภาพของมณฑลจักรวาลนี้ เช่น ในทิเบต ปกติแล้วจะต้องมีการทำพิธีกรรม สวดมนต์และคาถาเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่วาดจะได้รับพลังที่สถิตเข้ามาภายในกาย 

 

ภาพวาดเทพเจ้าในศาสนาพุทธตามแนวคิดแบบมัณฑละ มีอายุในคริสต์ศตวรรษที่ 17 (อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Mandala

 

เมื่อเปลี่ยนจากแผนผังมัณฑละตามความเชื่อมาสู่การสร้างศาสนสถานบนภูมิศาสตร์ตามจริงแล้ว ก็คงไม่สามารถสร้างมัณฑละอย่างสมบูรณ์ได้ด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง แต่เห็นชัดว่าเขาคลังนอกมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม เปรียบได้กับวิมานหรือพระราชวังของเทพเจ้าหรือพระพุทธเจ้าในคติมหายาน 

 

ฐานของอาคารทำเป็นฐานยกขึ้นไป 2 ชั้น แต่ละชั้นประดับด้วยซุ้มบัญชร ด้านบนทำเป็นลานรูปสี่เหลี่ยม เดิมทีมีระเบียงคดล้อมรอบเจดีย์ ยังเห็นรอยหลุมเสาใช้สำหรับเดินประทักษิณ (บูชาเจดีย์) 

 

ถัดไปจากตัวเขาคลังนอกที่เป็นฐานขนาดใหญ่พบว่าในแต่ละด้านมีการสร้างเจดีย์ขนาดเล็ก 3 องค์ สะท้อนแนวคิดเรื่องแผนผังจักรวาลได้เป็นอย่างดี เจดีย์ทั้ง 3 องค์นี้อาจเป็นตัวแทนของโลกทั้งสาม หรือความเชื่อเรื่องตรีกายของมหายาน ได้แก่ ธรรมกาย (พระธรรม) สัมโภคกาย (กายทิพย์ของพระพุทธเจ้า) และนิรมาณกาย (ขันธ์ 5)  

 

1 ใน 3 เจดีย์ขนาดเล็กที่เรียงออกไปจากเขาคลังนอก

 

เมื่อขึ้นไปบนลานประทักษิณของเขาคลังนอกแล้วมองไปทางทิศตะวันตกจะมองเห็นเขาถมอรัตน์ตั้งสูงเด่น ในขณะที่ทางทิศใต้จะเป็นตำแหน่งของเขาคลังใน การวางแผนผังให้โบราณสถานแต่ละแห่งอยู่ในแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก แกนทิศเหนือ-ใต้ จึงเป็นความจงใจเพื่อสร้างแผนผังจักรวาลนั่นเอง ทำให้พื้นที่ทั้งเมืองศรีเทพกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่กว้างใหญ่มหาศาล 

 

อย่างไรก็ตาม พบว่าในช่วงเวลาหนึ่ง เขาคลังนอกถูกปรับปรุงดัดแปลงด้วยการปิดทางเข้า 3 ด้าน คือ ประตูทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออก ขึ้นได้ทางเดียวคือทิศตะวันตก ซึ่งก็คือทิศเดียวกับที่เป็นที่ตั้งเขาถมอรัตน์ เรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธนิกายสุขาวดี

 

นิกายสุขาวดีเป็นนิกายที่ได้รับความนิยมในจีน โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) นับถือพระพุทธเจ้าอมิตาภะ (1 ใน 5 พระพุทธเจ้าสำคัญของมหายาน) เชื่อว่าดินแดนของพระองค์อยู่ทางทิศตะวันตก เมื่อใครก็ตามตายจะไปเกิดใหม่ยังดินแดนสุขาวดี (Pure Land Sukhavati) เพียงแค่คนคนนั้นท่องชื่อพระอมิตาภะเท่านั้น ไม่แปลกที่นิกายนี้มีโอกาสจะมาจากจีน เนื่องจากที่เมืองศรีเทพมีการพบพระพิมพ์ดินเผา 2 องค์ที่มีจารึกด้านหลังเป็นภาษาจีนว่า ‘ภิกขุเหวินเซียง’ อยู่ด้วย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 ดังนั้นในครั้งหนึ่งศรีเทพคงเป็นที่จาริกแสวงบุญสำคัญ

 

พระพุทธรูปปางแสดงธรรมสองพระหัตถ์ พบจากเขาคลังนอก ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี (อ้างอิง: กรมศิลปากร, 2551) 

 

จากการขุดค้นทางโบราณคดีได้พบพระพุทธรูปทำปางแสดงธรรมสองพระหัตถ์ (วิตรรกมุทรา) แบบที่นิยมกันในศิลปะทวารวดี โดยพบอยู่ติดกับฐานของเจดีย์และอยู่ในทิศตะวันตก จึงทำให้เคยมีนักวิชาการบางท่านเชื่อว่าปางแบบนี้เป็นปางตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ เนื่องจาก พิริยะ ไกรฤกษ์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะอาวุโส เคยเสนอว่า พระพุทธรูปที่ทำปางคล้ายกันนี้พบในศิลปะจีนสมัยราชวงศ์สุย อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ เชษฐ์ ติงสัญชลี นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ได้เสนอว่า พระพุทธรูปวิตรรกมุทราสองพระหัตถ์แบบนี้คงได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะอมราวดี-อนุราธปุระ (อินเดียใต้-ศรีลังกา) เสียมากกว่า 

 

ไม่ว่าพระพุทธรูปองค์นี้จะเป็นพระอมิตาภะหรือไม่ ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่เขาคลังนอกในสมัยหลังให้ความสำคัญกับทิศตะวันตกเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นดินแดนของพระอมิตาภะ เมื่อพิจารณาภาพสลักบนยอดเขาถมอรัตน์แล้วจะพบว่าประกอบด้วยรูปพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระศรีอริยเมตไตรย (อาจมีพระโพธิสัตว์มหาสถามปราปต์ด้วย) ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าพระพุทธเจ้านี้คงเป็นพระอมิตาภะ ในขณะที่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรถือเป็นผู้ช่วยของพระอมิตาภะ 

 

ส่วนพระศรีอริยเมตไตรยนั้น ความจริงแล้วก็เป็นผู้ที่สถิตยังดินแดนอันบริสุทธิ์ (Pure Land of Maitreya) เช่นกัน แต่เมื่อนิกายสุขาวดีได้รับความนิยมมากขึ้นในจีน จึงทำให้นิกายของพระศรีอริยเมตไตรยถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะพระองค์ยังไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่แท้จริง ต่างจากพระอมิตาภะที่เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าคนจะไม่นับถือพระองค์ เพราะก็ยังหวังพึ่งพาโลกในอนาคตที่พระองค์จะกลายเป็นพระพุทธเจ้า นี่อาจเป็นคำอธิบายได้ว่าทำไมภาพสลักบนเขาถมอรัตน์จึงมีพระศรีอริยเมตไตรยอยู่ด้วย 

 

อาจสรุปได้ว่า เขาคลังนอกเป็นเสมือนสถานที่จาริกแสวงบุญที่คนโบราณเดินประทักษิณรอบพระสถูปเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า แต่ในขณะเดียวกันก็สวดภาวนาว่าถ้าหากตนตายจะได้ไปอยู่ยังดินแดนสุขาวดีของพระอมิตาภะ หรือไปอยู่ยังดินแดนอันบริสุทธิ์ของพระศรีอาริย์ด้วยไปพร้อมกัน ความหมายเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่วางผังให้ศรีเทพกลายเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ ในยุคหนึ่งคงดึงดูดให้ผู้คนเดินทางมายังเมืองแห่งนี้ในฐานะศูนย์กลางของศาสนาพุทธมหายานที่สำคัญเป็นแน่ 

 

อ้างอิง:

  • Choe Yeonshik. “The Cult of the Pure Land of Maitreya in Paekche and Silla in the Three Kingdoms Period,” Journal of Korean Religions. Vol. 6, No. 1, pp. 13-36.
  • Mahayana Buddhism To Mandala. Available at: http://what-when-how.com/buddhism/mahayana-buddhism-to-mandala/
  • Pure Land Buddhism. Available at: https://en.wikipedia.org/wiki/Pure_Land_Buddhism
  • กรมศิลปากร. รายงานการขุดค้นขุดแต่งโบราณสถานเขาคลังนอก บ้านสระปรือ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์. กรุงเทพฯ: สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี, 2551. 
  • เชษฐ์ ติงสัญชลี. การวิเคราะห์การแสดงวิตรรกมุทราสองพระหัตถ์ของพระพุทธรูปในศิลปะทวารวดี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศิลปากร, 2544. 
  • พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยฉบับคู่มือนักศึกษา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528.
  • อนุรักษ์ ดีพิมาย. โบราณสถานเขาคลังนอก: ลำดับอายุสมัยและแนวคิดในการก่อสร้าง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising