×

กสม. ชี้จัดแสดงศพ ซีอุย ละเมิดชื่อเสียงเกียรติยศ แต่ศิริราชแก้ไขปัญหาเหมาะสมแล้ว ให้ยุติเรื่อง

06.02.2020
  • LOADING...

จากกรณีที่ตัวแทนชาวบ้านอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ขอให้ตรวจสอบกรณีที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นำร่างของ ซีอุย แซ่อึ้ง ผู้ได้รับโทษประหารชีวิตไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์สงกรานต์ นิยมเสน ตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยขอให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในฐานะผู้ถูกร้อง ยกเลิกการจัดแสดงร่างของซีอุย และขอนำร่างซีอุยไปดำเนินการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เนื่องจากซีอุยถือเป็นชาวบ้านผู้เคยอาศัยอยู่ในอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น

 

ล่าสุด วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม. ในการประชุม กสม. ด้านคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ซีอุย หรือ ลีอุย แซ่อึ้ง ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษประหารชีวิต ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2502 เรือนจำกลางบางขวางได้ดำเนินการประหารชีวิตซีอุย ซึ่งระเบียบการประหารชีวิตนักโทษในขณะนั้นกำหนดว่า ถ้ามีญาติมาติดต่อขอรับศพไป เรือนจำ จะอนุญาตให้ก็ได้ หากไม่มีญาติก็ให้รีบจัดการฝังได้ แต่ไม่ปรากฏว่ามีญาติพี่น้องของซีอุยมาขอรับศพไป และไม่ทราบว่าเหตุใดจึงมีการมอบศพของซีอุยแก่ผู้ถูกร้อง มีเพียงข้อมูลที่ปรากฏในมรณบัตรของซีอุย ซึ่งเจ้าหน้าที่เรือนจำแจ้งการตายต่อสำนักทะเบียนเทศบาลเมืองนนทบุรีเท่านั้นว่า ‘ศพให้เก็บที่โรงพยาบาลศิริราช’

 

จากนั้นมาศพของซีอุยจึงถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์สงกรานต์ นิยมเสน เพื่อเป็นวิทยาทานให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านนิติเวชศาสตร์ แต่รูปแบบการจัดแสดงศพของซีอุยมีการปิดป้ายให้ข้อมูลการจัดแสดงบริเวณด้านบนของตู้บรรจุศพว่า ‘Si Quey ซีอุย แซ่อึ้ง (มนุษย์กินคน)’

 

“กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าว ประกอบมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และประมวลกฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับศพ อันมีบทบัญญัติที่รับรองและคุ้มครองศพ ชื่อเสียงและเกียรติยศของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย จึงเห็นว่าแม้ว่าการจัดแสดงศพของซีอุยจะมีประโยชน์ในอันที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้แก่สาธารณชนทางด้านนิติเวชศาสตร์ แต่ถือเป็นหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่จะต้องปกปิดข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ นามสกุล ประวัติ อาชีพ ครอบครัว ของผู้เสียชีวิต เพื่อมิให้เข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือละเมิดสิทธิของผู้เสียชีวิต ญาติ และครอบครัว 

 

ดังนั้นรูปแบบและวิธีการจัดแสดงของผู้ถูกร้องเป็นการเปิดเผยชื่อ นามสกุล และใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะไม่เหมาะสม จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของซีอุย 

 

แต่เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 ผู้ถูกร้องได้ปรับปรุงข้อความในป้ายจัดแสดง และเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 ผู้ถูกร้องได้ประกาศติดตามหาญาติของซีอุย เพื่อเปิดโอกาสให้ญาติได้ร่วมหารือเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับศพของซีอุยให้เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อครบกำหนดในวันที่ 4 สิงหาคม 2562 แล้ว ไม่มีบุคคลใดที่สามารถแสดงตัวได้ว่าเป็นทายาทหรือญาติของซีอุย ต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ผู้ถูกร้องจึงได้แถลงต่อสาธารณะว่าได้นำศพของซีอุยออกจากพิพิธภัณฑ์แล้ว การดำเนินการของผู้ถูกร้องในส่วนนี้จึงถือได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว กสม. จึงมีมติให้ยุติเรื่อง” วัสกล่าว

 

วัสกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีที่ตัวแทนชาวบ้านอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขอนำศพของซีอุยไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนานั้น กสม. เห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีญาติของซีอุยมาติดต่อขอรับศพ และแม้ระยะเวลาจะผ่านพ้นมาเนิ่นนานกว่า 60 ปี แต่สถานะทางกฎหมายของศพซีอุยยังคงถือเป็นศพนักโทษชายเด็ดขาดโดยไม่เปลี่ยนแปลง ในชั้นนี้ กสม. จึงเห็นว่าเรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งเป็นเรือนจำแห่งท้องที่ที่ทำการประหารชีวิตซีอุย สามารถเป็นผู้ดำเนินการเผาหรือฝังศพซีอุยตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ. 2546 ข้อ 18 ได้ จึงมีข้อสังเกตในส่วนนี้ไปยังผู้ถูกร้องและกรมราชทัณฑ์ เพื่อประสานความร่วมมือกันในการจัดการศพซีอุยให้เป็นไปอย่างเหมาะสมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising