×

ต้องปิดกี่วัน เมื่อพบพนักงาน ผู้ใช้บริการ หรือนักท่องเที่ยวป่วยเป็นโควิด-19 ในสถานที่นั้นๆ

10.04.2021
  • LOADING...
ต้องปิดกี่วัน เมื่อพบพนักงาน ผู้ใช้บริการ หรือนักท่องเที่ยวป่วยเป็นโควิด-19 ในสถานที่นั้นๆ

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • การปิดห้าง / ร้าน สถานประกอบการ หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโควิด-19 เป็นการควบคุมโรคในสถานที่นั้น แต่ระยะเวลาขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการปิด ส่วนใหญ่เป็นการปิดเพื่อทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนเชื้อเป็นเวลา 2-3 วัน 
  • วัตถุประสงค์อื่น เช่น การปิดเพื่อสังเกตอาการ ซึ่งถ้าหากพนักงานทั้งหมดเป็นผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูง จะต้องหยุดงานเพื่อกักกันที่บ้านจนครบ 14 วัน สถานประกอบการอาจหมุนเวียนพนักงานจากแผนกอื่นมาทำงานแทน เพื่อลดผลกระทบจากการปิดเป็นเวลานาน
  • กรณีที่พบผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูง แต่สถานที่นั้นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ซึ่งพนักงานจะยังไม่ใช่ผู้ป่วย จึงไม่จำเป็นต้องปิดสถานที่ แต่ยังต้องทำความสะอาดตามปกติคือ การเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสกันบ่อย และเพิ่มความถี่ตามจำนวนผู้มาใช้บริการ

ตอนเย็นเมื่อวาน (9 เมษายน) ผมไปเดินห้าง ในขณะที่ร้านอื่นยังคงเปิดขายปกติ ผมเห็นร้านอุปกรณ์กีฬาร้านหนึ่งดึงประตูเหล็กลงพร้อมกับติดป้ายว่า ‘จากเหตุการณ์ที่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 231 ของการระบาดระลอกใหม่… ทางร้านจะปิดให้บริการเป็นเวลา 1 วัน ในวันที่ 9 เมษายน 2564 เพื่อทำการ Big Cleaning ให้พื้นที่สะอาด…’

 

แต่ก่อนหน้านี้หลายคนน่าจะเคยได้ยินว่าข่าวบางสถานที่ปิดทำความสะอาด 3 วัน เช่น ศูนย์การค้าไอคอนสยาม หลังจากมีพนักงานป่วยเป็นโควิด-19 เมื่อปลายเดือนมกราคม หรือล่าสุดเจ้าอาวาสวัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา ประกาศงดรับนักท่องเที่ยวเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-22 เมษายน 2564 เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หลังพบผู้ป่วยรายหนึ่งมาไหว้พระเมื่อวันที่ 3 เมษายน

 

ในทางระบาดวิทยาแล้ว สถานที่บนไทม์ไลน์ผู้ป่วยจำเป็นต้องปิดหรือไม่ หรือหลังจากพบผู้ป่วยแล้ว สถานประกอบการหรือสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนั้นต้องปิดให้บริการกี่วัน 

 

ทำไมต้องปิดสถานที่บนไทม์ไลน์ผู้ป่วย

 

คำถามว่าสถานประกอบการหรือสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ต้องปิด (แน่นอนว่าชั่วคราว) นานเท่าไร ต้องถามเหตุผลของทีมสอบสวนโรค / คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน หรือเจ้าของสถานประกอบการอาจมีเหตุผลอย่างอื่นในการประกาศปิดเองก็ได้ เท่าที่ผมนึกออกน่าจะมี 3-4 เหตุผล ซึ่งมีระยะเวลาในปิดไม่เท่ากัน และระยะเวลาของบางเหตุผลก็ซ้อนทับกันอยู่

 

อย่างแรก ทุกคนน่าจะเห็นตรงกันคือ การปิดเพื่อทำความสะอาด เพราะสถานที่ที่พบผู้ป่วยอาจมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ตามพื้นผิวที่มีการสัมผัสร่วมกัน เช่น ผู้ป่วยอาจไอจามแล้วใช้มือปิดปาก ก่อนที่จะจับราวบันไดพอดี เชื้ออาจอยู่ตรงบริเวณนั้นได้นานถึง 3 วัน หากไม่ได้ทำสะอาดเป็นประจำทุกวัน แต่ประเด็นนี้ค่อนข้างยาว เพราะมีเอกสารหลายฉบับระบุไม่ตรงกัน ผมจะขอพูดถึงในตอนท้ายอีกทีหนึ่งครับ

 

อย่างที่สองคือ การปิดเพื่อสอบสวนโรค ซึ่งมีกิจกรรมหนึ่งที่จะต้องค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงภายในสถานที่แห่งนั้น ถ้าหากพนักงานเป็นผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูง จะต้องหยุดงานเพื่อกักกันที่บ้าน (Home Quarantine) โดยสถานประกอบการอาจหยุด 1 วันหลังจากทราบว่ามีผู้ป่วย เช่น เย็นวันจันทร์ทราบว่ามีผู้ป่วย เลยประกาศหยุดวันอังคาร 1 วัน เพื่อให้สอบสวนโรคให้เสร็จก่อน จึงค่อยเปิดตามปกติในวันพุธ 

 

พนักงานที่เป็นผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูงก็จะได้หยุดงานไปตั้งแต่วันอังคาร ถ้าเขากลายเป็นผู้ติดเชื้อในภายหลัง เพื่อนร่วมงานหรือผู้มาใช้บริการก็จะไม่มีความเสี่ยงจากการที่เขายังมาทำงานอยู่ในวันนั้น กรณีนี้อาจหยุดเป็นรายแผนก หรือหยุดทั้งสถานประกอบการก็ได้ ขึ้นกับว่าผู้ป่วยทำงานลักษณะใด และมีแผนกใดที่เกี่ยวข้องบ้าง โดยระหว่างที่ปิดก็สามารถเข้าไปทำความสะอาดสถานที่ควบคู่กันได้

 

อย่างต่อมาคือ การปิดเพื่อสังเกตอาการพนักงาน เป็นกรณีที่พนักงานภายในแผนก หรือภายในสถานประกอบการถูกระบุว่าเป็นผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูงทุกคน ทำให้ไม่มีพนักงานทำงานหรือให้บริการจนกว่าจะครบกำหนดกักกัน 14 วัน นับจากวันที่สัมผัสโรคครั้งสุดท้าย (ถ้าผู้ป่วยเป็นพนักงาน น่าจะนับจากวันที่มาทำงานล่าสุดก่อนจะหยุดงาน แต่ถ้าเป็นลูกค้า ก็จะนับจากวันที่มาใช้บริการครั้งสุดท้าย)

 

กรณีนี้ถ้าสถานประกอบการยังเหลือพนักงานที่ไม่มีความเสี่ยงหรือเป็นผู้สัมผัสฯ เสี่ยงต่ำอยู่ ก็สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติหลังทำความสะอาดสถานที่แล้ว (หากพนักงานสวมหน้ากากฯ ตลอดเวลา อย่างมากจะเป็นเพียง ‘ผู้สัมผัสฯ เสี่ยงต่ำ’) หรือถ้าเป็นแผนกสำคัญ สถานประกอบการก็สามารถหมุนเวียนพนักงานจากต่างแผนกหรือสาขาอื่นมาทำงานแทนได้ ซึ่งจะทำให้กิจการไม่ต้องหยุดชะงักนานถึง 14 วัน

 

อย่างสุดท้ายคือ การปิดเพื่อชะลอการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง อย่างเมื่อต้นปี 2564 ศบค. มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ ประกาศ ‘ปิด’ สถานที่เสี่ยง เช่น สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สนามกีฬา และ ‘จำกัดเวลา’ เปิด-ปิดสถานที่เสี่ยงแต่มีความจำเป็น เช่น ตลาด ร้านอาหาร ทั้งที่ยังไม่ใช่สถานที่ที่พบผู้ป่วย แต่มีโอกาสเกิดการระบาด

 

โดยอาศัยการประเมิน ‘ความเสี่ยง’ ตามหลักระบาดวิทยา ได้แก่ ลักษณะกิจกรรม ระยะเวลาที่ใช้ ความหนาแน่นของผู้คนที่มาร่วมงาน และการระบายอากาศ และประเมิน ‘ความจำเป็น’ ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงผลการสอบสวนโรคที่ผ่านมาว่าเกี่ยวข้องกับสถานที่ใดบ้าง เปรียบเทียบเป็นการ ‘ล้อมคอก’ ก่อน ‘วัวหาย’ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง

 

ต้องปิดสถานที่เพื่อทำความสะอาดกี่วัน

 

กลับมาที่เหตุผลที่ทุกคนน่าจะเห็นตรงกันคือ การปิดเพื่อทำความสะอาด โดยตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีการระบาดภายในประเทศ กรมควบคุมโรคได้ออก ‘แนวทางการทําความสะอาดฆ่าเชื้อในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานพยาบาล โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019’ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ระบุสารทำความสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้อ วิธีการทำความสะอาด และอุปกรณ์ป้องกันตัวของผู้ทำความสะอาด

 

ประเด็นสำคัญของเอกสารฉบับนี้มี 2 เรื่อง คือ การทําความสะอาดพื้นผิวควรใช้วิธีการเช็ดอย่างต่อเนื่อง และไม่ควรพ่นด้วยสเปรย์ เนื่องจากจะเป็นการสร้างละออง ทําให้เสมหะ น้ำมูก น้ำลายที่ตกอยู่บนพื้นผิวฟุ้งกระจายขึ้นมาได้ (แต่ยังมีผู้เข้าใจผิดใช้การฉีดพ่นสารเคมีอยู่จนถึงทุกวันนี้) และ ‘เมื่อทําความสะอาดเรียบร้อยแล้ว หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ในวันถัดไปเป็นเวลา 1 วัน’ ดังนั้นในช่วงแรก ทีมสอบสวนโรคจะแนะนำให้ปิดสถานที่ที่พบผู้ป่วยชั่วคราว เพื่อทำความสะอาด 1-2 วัน กล่าวคือ ปิด 1 วันเพื่อทำความสะอาดช่วงเช้า แล้วเปิดให้บริการในช่วงสายของวันถัดไป หรือปิดทำความสะอาด 1 วัน แล้วทิ้งไว้อีก 1 วันก็เพียงพอตามแนวทางนี้ 

 

จนกระทั่งกรณีผู้ป่วยทหารต่างชาติเข้าพักและเที่ยวห้างใน จ.ระยอง ขณะนั้นโรงเรียนและสถานประกอบการหลายแห่งปิดโดยไม่จำเป็น คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงออก ‘แนวทางการดำเนินการปิดหรือไม่ปิดสถานศึกษา สถานประกอบการ กรณีเกิดโรคโควิด-19’ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ระบุว่า ‘ให้ปิดห้องเรียน แผนกที่เกี่ยวข้องในสถานประกอบการ เป็นเวลา 3 วัน เพื่อทำความสะอาด’

 

จึงเป็นที่มาของการที่ศูนย์การค้าไอคอนสยามประกาศปิดร้านที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 วัน หรือกรณีสถานบันเทิง จ.เชียงใหม่ ที่พบผู้ป่วยช่วงเทศกาลปีใหม่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก็สั่งให้ปิด 3 วัน แต่การปิดวัดใหญ่ชัยมงคลนานถึง 2 สัปดาห์ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะสาเหตุใด แต่ถ้าเพื่อทำความสะอาดก็ถือว่าปิดนานกว่าที่กรมควบคุมโรคแนะนำ ซึ่งหากเป็นเอกชนจะส่งผลกระทบต่อรายได้มาก

 

ส่วนที่มาของตัวเลข 3 วัน กรมควบคุมโรคไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม แต่ผมสันนิษฐานว่าเนื่องจากไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 3 วัน (อากาศ 3 ชั่วโมง, กระดาษแข็ง 1 วัน, พลาสติกหรือสเตนเลส 3 วัน แต่เป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ และการอยู่รอดของไวรัสยังขึ้นกับอุณหภูมิด้วย) และเนื่องจากแนวทางของต่างประเทศในระยะหลังมีการกำหนดระยะเวลาไว้

 

ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) แนะนำการทำความสะอาดสถานที่ที่พบผู้ป่วยว่า เปิดประตูหน้าต่าง และใช้พัดลมเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของการอากาศ และ ‘รอ 24 ชั่วโมงก่อนทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อ หากไม่สามารถทำได้ รอนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้’ (สลับกันกับของไทยที่ให้ปิดพื้นที่หลังทำความสะอาด 1 วัน) โดย ‘เมื่อทำความสะอาดพื้นที่อย่างเหมาะสมแล้ว สามารถเปิดใช้ได้’  

 

คำแนะนำที่ผมอ้างถึงนี้เป็นฉบับ 5 มกราคม 2564 แต่ล่าสุดฉบับ 5 เมษายน 2564 CDC ได้แก้ไขโดยตัดตัวเลข ‘24 ชั่วโมง’ ออก เหลือเพียง ‘นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (อย่างน้อยหลายชั่วโมง)’ และกำหนดแนวทางในการทำความสะอาดเมื่อพบผู้ป่วยใหม่ว่า

  • ถ้าผู้ป่วยเพิ่งเข้ามาในสถานที่ภายใน 24 ชั่วโมง ให้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ (Clean and Disinfect)
  • ถ้าผู้ป่วยเข้ามาในสถานที่นั้นๆ เกิน 24 ชั่วโมงแล้ว ให้ทำความสะอาดเป็นหลัก หรือฆ่าเชื้อด้วยก็ได้ 
  • แต่ถ้าเกิน 3 วันไปแล้ว ไม่ต้องทำความสะอาดเพิ่ม นอกเหนือไปจากการทำความสะอาดตามปกติในแต่ละวัน

 

ถ้าประยุกต์ใช้แนวทางนี้กับร้านกีฬาที่ผมเพิ่งเดินผ่านไปเมื่อวาน หรือกับวัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการหรือไหว้พระเกิน 3 วันแล้ว ทางร้านหรือวัดก็ไม่จำเป็นต้องปิดทำความสะอาดแล้ว 

 

ในขณะที่สิงคโปร์แนะนำการทำความสะอาดพื้นที่ปิดให้ ‘ทิ้งห้องไว้อย่างน้อย 3 ชั่วโมงหลังจากผู้ป่วยออกจากห้อง’ ทั้งนี้ เพื่อให้ละอองที่ลอยอยู่ในอากาศตกลงสู่พื้นผิวก่อน หลังจากทำความสะอาดเสร็จควรเปิดให้อากาศถ่ายเท ‘หากเป็นไปได้ งดการใช้พื้นที่ในวันถัดไป’

 

ดังนั้น ระยะเวลาของการปิดสถานที่ด้วยเหตุผลนี้จึงควรขึ้นกับขั้นตอนของการทำความสะอาดเป็นหลัก และถ้าทำความสะอาดอย่างเหมาะสม (การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดอย่างต่อเนื่องในแนวราบ เน้นบริเวณที่มีการสัมผัสร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ และในห้องน้ำ และไม่ฉีดพ่นบริเวณที่สกปรกให้สารคัดหลั่งฟุ้งกระจาย) สถานประกอบการหรือสถานที่ท่องเที่ยวก็สามารถกลับมาเปิดได้ภายใน 2-3 วัน

 

กรณีผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูง ต้องปิดทำความสะอาดด้วยหรือไม่

 

ผมขอปิดท้ายด้วยคำถามที่พบบ่อย คือถ้าสถานประกอบการพบ ‘ผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูง’ ซึ่งผู้ป่วยไม่ได้เกี่ยวข้องกับร้านเลย (ผู้ป่วยเป็นญาติของพนักงาน หรือเพื่อนที่ทำงานอยู่คนละร้าน) สถานที่นั้นๆ จะต้องปิดทำความสะอาดด้วยหรือไม่ หรือถ้านักเรียนเป็นผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูง เนื่องจากอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ปกครองที่ป่วยเป็นโควิด-19 แล้วอย่างนี้โรงเรียนจะต้องปิดทำความสะอาดหรือไม่

 

กรณีนี้ผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูง ยังไม่ใช่ ‘ผู้ป่วย’ จึงยังไม่สามารถแพร่เชื้อได้ เพราะฉะนั้นสถานที่นั้นๆ จึงไม่ต้องปิดเพื่อทำความสะอาด 2-3 วัน แต่ยังต้องทำความสะอาดสถานที่ตามปกติ กล่าวคือ ทำความสะอาดบริเวณที่มีการสัมผัสร่วมกันทุก 1 ชั่วโมง (ความถี่ขึ้นอาจปรับตามจำนวนผู้มาใช้บริการในช่วงนั้นๆ) ห้องน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และจุดนั่งรับประทานอาหารหลังให้บริการลูกค้าแต่ละคน / กลุ่ม

 

แต่ถ้าหากผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูงคนนั้นถูกตรวจพบว่าเป็นผู้ป่วยในภายหลัง จะต้องพิจารณาว่าช่วงที่เขามาทำงานหรือมาใช้บริการเป็นระยะแพร่เชื้อหรือไม่ โดยผู้ป่วยจะสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 2 วันก่อนเริ่มมีอาการ (หรือวันตรวจพบเชื้อ ถ้าไม่มีอาการ) จนถึงเมื่อมีอาการไปแล้ว 10 วัน เช่น เขาหยุดงานวันอังคาร แต่เริ่มมีอาการวันพุธ เขาอาจจะแพร่เชื้อตั้งแต่วันจันทร์ จึงควรปิดสถานที่นั้นเพื่อทำความสะอาด เป็นต้น

 

โดยสรุป การประกาศปิดสถานที่ชั่วคราวเมื่อพบผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการควบคุมโรค ส่วนใหญ่เพื่อการทำความสะอาดพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง 2-3 วัน หรือการสังเกตอาการพนักงานที่เป็นผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูงจนครบ 14 วัน หลังจากนั้นสามารถเปิดทำการได้ตามปกติ แต่อาจปิดสั้นกว่านี้ถ้าอ้างอิงแนวทางการทำความสะอาดของต่างประเทศ หรือสามารถหมุนเวียนพนักงานเข้ามาทำงานแทนได้

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X