×

สังคมไทยควรมีโสเภณีถูกต้องตามกฎหมายแน่หรือ

29.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • สังคมไทยยังมองว่าอาชีพโสเภณีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
  • แต่มีความพยายามมาโดยตลอดที่จะผลักดันให้อาชีพนี้ได้รับการยอมรับเพื่อควบคุม
  • แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีมุมมองในด้านศีลธรรมเข้ามาเป็นแรงปะทะ รวมถึงบริบทหลายอย่างที่ต้องพลวัตตาม หากมีการทำให้อาชีพนี้ถูกกฎหมาย

ประเด็นของการผลักดันให้อาชีพการขายบริการทางเพศ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโสเภณี เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายมีมานานพอสมควร

 

ตลอดระยะเวลาของการผลักดันนี้มีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในสังที่ยังไม่มีข้อยุติ

 

ล่าสุดเรื่องดังกล่าวถูกหยิบยกมาพูดกันถึงอีกครั้ง ในงานเสวนา ‘สังคมไทยควรมีโสเภณีถูกต้องตามกฎหมายแน่หรือ?’ ซึ่งจัดขึ้นที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) วันที่ 28 สิงหาคม 2561

 

ประเด็นสำคัญในงานสัมมนาครั้งนี้ว่าด้วยเรื่องของอาชีพการขายบริการทางเพศ ถ้าหากถูกลงทะเบียนให้เป็นหนึ่งในอาชีพที่ถูกกฎหมายขึ้นมาจริงๆ จะมีการควบคุมหรือดูแลสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ในกรอบได้อย่างไร

 

ภายในงานได้มีการหยิบยกกรณีตัวอย่างในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเบลเยียม เยอรมนี รวมไปถึงฝรั่งเศส ที่เปิดให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายภายในประเทศมานานถึง 116 ปี

 

 

สังคมไทยกับเมืองโสเภณี

ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พูดถึงประเด็นตัวอย่างจากต่างประเทศว่า หลายๆ ประเทศมองในเรื่องสิทธิเสรีภาพของอาชีพนี้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ การเปิดให้มีกฎหมายที่ควบคุมอาชีพขายบริการทางเพศเป็นการคุ้มครองทั้งผู้ให้บริการและตัวของผู้เข้าใช้บริการเอง โดยสถานบริการต่างๆ จะถูกแบ่งโซนไว้อย่างชัดเจน รวมถึงการตรวจโรคที่มีอยู่ในสถานบริการนั้นๆ

 

จะเห็นได้ว่าในต่างประเทศนั้นถึงแม้ว่าจะมีการทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย แต่สถานประกอบการประเภทนี้ก็ยังคงต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากรัฐอย่างเข้มงวด ถูกจับตามองมากกว่าอาชีพอื่นๆ

 

ผศ.ดร.มาตาลักษณ์กล่าวอีกว่าหากมองในแง่ของความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะเปิดให้อาชีพค้าบริการทางเพศถูกกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่ยากพอตัว ซึ่งหลายภาคส่วนก็ยังมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่อาจส่งผลถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยเอง เพราะอาชีพนี้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและขัดกับหลักศีลธรรมของไทยเป็นอย่างมาก

 

แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เว็บไซต์ Mirror สื่อของอังกฤษ นำเสนอรายงานข่าวที่น่าตกใจของชาวไทยว่าพัทยามีผู้หญิงขายบริการทางเพศมากถึง 2.7 หมื่นคน และ 1 ใน 5 ของผู้หญิงเหล่านี้อาศัยอยู่อย่างถาวรในเมืองพัทยา

 

แต่จากการรายงานข่าวดังกล่าวดูเหมือนจะมีความย้อนแย้งในสิ่งที่คนไทยมองอยู่ว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายและขัดหลักศีลธรรม เพราะรัฐไทยบางส่วนไม่ยอมรับข้อเท็จจริงนี้

 

 

กฎหมาย ศีลธรรม เสรีภาพของไทยในอาชีพโสเภณี

ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ยังชี้ให้เห็นถึงมุมมองของคนในสังคมโลกเกี่ยวกับการมองอาชีพขายบริการทางเพศ ซึ่งปัญหาหนึ่งคือการมองว่าอาชีพนี้เป็นเรื่องของอาชญากรรมหรือไม่ เพราะหากเรามองว่าสิ่งนี้ไม่เป็นอาชญากรรมก็ไม่ควรไปลงโทษผู้ประกอบอาชีพนี้

 

แต่โจทย์วันนี้สังคมไทยยังมองว่าอาชีพโสเภณีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

 

ขณะที่ทัศนคติของผู้คนในสังคมกับคำว่าโสเภณี เมื่อใช้ไปเรื่อยๆ กลับถูกตีตราให้เกิดภาพในเชิงลบด้วยวัฒนธรรมของภาษา จนทำให้คำนั้นมีลักษณะเป็นลบในสังคมด้วย อย่างคำว่า ผู้ชายขายน้ำ ในปัจจุบันก็กลายเป็นการตีความไปที่ภาพเชิงลบในแง่การขายบริการทางเพศ

 

ด้านทัศนคติในมุมมองของศีลธรรมนั้นยังคงถกเถียงกันว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมหรือไม่ ซึ่งคำตอบมีอยู่ 2 ทางหลักๆ คำตอบแรกคือมองว่าขัดกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

 

ที่ผ่านมาทุกประเทศเถียงกันว่าผิดต่อศีลธรรมไหม ประเทศไทยมองว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อย ขณะที่บางประเทศมองเป็นเรื่องเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

 

แต่บริบทสังคมไทยก็ถูกตั้งคำถามว่าพร้อมหรือยังที่จะมองอาชีพนี้ว่าไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย เพราะปัญหาในเชิงกฎหมายอื่นๆ ก็มีตามมา เช่น กรณีกฎหมายครอบครัว ถ้าเรามีคู่หมั้นและพบว่าคู่หมั้นประกอบอาชีพนี้จะเป็นเหตุให้บอกเลิกไหม แล้วถือว่าชั่วไหม เมื่อกฎหมายไทยบอกว่าสิ่งนี้ผิด

 

ขณะที่คำตอบที่สองมีหลายกลุ่มประเทศได้ลองทำแล้ว นั่นคือการค้าประเวณีไม่ใช่เรื่องทางศีลธรรม แต่เป็นสิ่งที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ก็เป็นกรอบความเสรีส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ความเป็นเสรีที่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

 

ที่ผ่านมามักบอกว่าผู้ที่ต้องการทำงานแบบนี้คือพวกที่ถีบตัวเองออกจากความยากจน ไม่มีทางเลือก และไม่ต้องลงทุน ใช้แต่เนื้อตัวร่างกาย แต่การค้าประเวณีในปัจจุบันพบข้อมูลจากงานวิจัยว่าไม่ได้มาจากความยากจน แต่เป็นเรื่องของการเลือกที่จะทำเองมากกว่า บางคนที่อยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจที่ร่ำรวยก็ทำ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องค้าประเวณี แต่ก่อนเรามักจะพูดถึงกลุ่มผู้หญิงเท่านั้น ปัจจุบันข้อมูลสถิติต่างๆ เปลี่ยนไปแล้ว มีทั้งชาย หญิง และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

 

โจทย์ใหญ่ที่ตามมาคือทำอย่างไรที่จะไม่เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนในเพศต่างๆ หากมีโอกาสที่จะทำให้เรื่องเหล่านี้ถูกกฎหมาย

 

ประเด็นต่อมา เมื่อมองไปที่ปัญหาด้านสุขภาวะแล้ว โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้คนมักตัดสินคนประกอบอาชีพนี้ เพราะเป็นความสัมพันธ์แบบมากหน้าหลายตา ซึ่งการขึ้นทะเบียนทำให้การคุ้มครองตรวจสอบทำได้ดีขึ้น คือมีการบังคับให้ไปตรวจสุขภาพ

 

ยังเป็นคำถามอีกเช่นเดียวกันว่าในที่สุดแล้วปัญหาการค้าประเวณีที่มองว่าเป็นเรื่องอาชญากรรมนั้น อันไหนแก้ปัญหาได้ดีกว่ากัน ระหว่างการทำให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย หรือยอมรับให้ถูกกฎหมายเพื่อเปิดทางให้รัฐเข้าไปจัดการแบบที่กล่าวมา

 

ภาพประกอบเพื่อให้เข้าใจบรรยากาศสถานท่องเที่ยวยามราตรี

 

ลองถามตัวเองดูว่ามองอาชีพนี้อย่างไร

จากบันทึกความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สถานการณ์การค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการค้าประเวณีหญิงในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบการนำผู้หญิงและเด็กเข้าสู่บริการทางเพศ มีการพัฒนารูปแบบให้ซับซ้อนมากขึ้นตามการเติบโตด้านเทคโนโลยีและสถานการณ์บ้านเมืองจนเกิดเครือข่ายธุรกิจผิดกฎหมายที่มีความสลับซับซ้อน และพัฒนาไปสู่องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่นับวันปัญหานี้จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองการเกิดขึ้นของปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอด

 

ปัญหาของการขายบริการทางเพศไม่ใช่แค่คนไทย แต่มีคนอีกหลายชาติมุ่งหน้ามาที่ประเทศนี้เพื่อทำงานอย่างว่าด้วยรายได้และค่าเงินที่มากกว่า ปัญหาอื่นๆ จึงตามมา อาทิ การลักลอบเข้าเมือง เป็นต้น

 

ขณะที่การนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนเองก็มีสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจว่าต้องการสื่อสารข้อเท็จจริงเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ตั้งคำถาม หรือชี้ช่องให้เห็นถูกผิดมากแค่ไหน เพราะต้องยอมรับว่าสื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทำความเข้าใจถึงประเด็นเหล่านี้เป็นอย่างมาก มีความละเอียดอ่อนทั้งต่อบริบทสังคมและขอบข่ายของความเข้าใจต่องานเหล่านี้

 

สุดท้ายแล้ว เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราต้องมององค์ประกอบรอบข้างอีกหลายอย่าง

 

แต่ในฐานะคนไทย ลองถามตัวเองดูว่าเรามองอาชีพนี้อย่างไร

 

แล้วถ้าวันหนึ่งกฎหมายให้การค้าบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย ทัศนคติของคนไทยจะเปลี่ยนตามได้หรือไม่

 

นี่อาจถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องขบคิดใคร่ครวญถึงโจทย์นี้อย่างจริงจัง

 

เพื่อหาคำตอบรวมถึงทางออกที่ดีที่สุดให้แก่ ‘อาชีพพิเศษ’ ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising