ปลายปี 2563 รัฐบาลมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและผู้ที่มีเงินได้เสียภาษีคือ ‘ช้อปดีมีคืน’ โดยคำอธิบายของโครงการนี้คือการให้ประชาชนผู้บริโภคที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย (ไม่รวมคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ) สามารถช้อปปิ้งสินค้าและบริการในประเทศไทยตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยเริ่มซื้อได้ระหว่างวันที่ 23 ตุลาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งกำหนดมูลค่าการซื้อสินค้าบริการสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท โดยมูลค่านี้ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว (เช่น ถ้าจะซื้อสินค้า 28,037 บาท จะมีภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% หรือประมาณ 1,963 บาท รวมจ่ายจริง 30,000 บาท) ก็สามารถนำมูลค่าสินค้าและบริการนี้มาหักจากเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ซึ่งจะชำระจริงต้นปี 2564 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงกำหนดชำระสิ้นเดือนมีนาคม 2564
ผมลองพิจารณาตัวบทกฎหมายโดยวิเคราะห์จากกฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 368 (พ.ศ. 2563) ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2563 แล้ว สามารถวิเคราะห์เพิ่มเติมการใช้สิทธิ์ได้ดังนี้
ที่ว่าช้อปดีมีคืนนั้นคืนอย่างไร
โครงการนี้ให้สิทธิ์สำหรับคนที่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2563 (ซึ่งจะยื่นเสียภาษีต้นปี 2564) เพราะโครงการนี้มีหลักว่ามูลค่าสินค้าและบริการนี้เป็นการลดฐานเงินได้พึงประเมินในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ใช่เรื่องการคืนจำนวนภาษี เพราะกฎหมายได้ระบุให้โครงการช้อปดีมีคืนเป็นการลดฐานเงินได้ที่จะต้องมาคำนวณภาษี ทั้งนี้อ้างอิงจากมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น มีผู้เสียภาษีท่านหนึ่งชื่อสมชาย มีรายได้สุทธิที่จะคำนวณภาษีหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนแล้วประมาณ 1,000,000 บาท ทำให้ต้องเสียภาษีสมมติว่าประมาณเท่ากับ (150,000*0%) + (150,000*5%) + (200,000*10%) + (250,000*15%) + (250,000*20%) = 115,000 บาท แต่ภายในระหว่างวันที่ 23 ตุลาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2563 สมชายไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าตามโครงการช้อปดีมีคืน มูลค่าสินค้ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 30,000 บาทแล้ว ทำให้สมชายสามารถคำนวณภาษีใหม่จากฐานภาษีที่ต่ำลงคือเดิม 1,000,000 บาท จะเปลี่ยนเป็น 970,000 บาท ซึ่งจะทำให้ภาษีประจำปีเท่ากับ (150,000*0%) + (150,000*5%) + (200,000*10%) + (250,000*15%) + (220,000*20%) = 109,000 บาท หรือประหยัดภาษีจำนวน 6,000 บาท สรุปแล้วการช้อปดีมีคืนนั้นคือการนำจำนวนที่ต้องซื้อสินค้าและบริการไปลดจากฐานภาษี ทำให้ลดภาษีได้นั่นเอง
ผมลองสรุปว่าถ้าเราซื้อสินค้าและบริการเต็มจำนวน 30,000 บาท เราจะได้ลดภาระภาษีเท่าไร
คำถามที่มีการสอบถามกันมากคือเรื่องของประเภทสินค้าและบริการ เพราะมีเงื่อนไขที่สำคัญอยู่ 2 ประการคือ
1. ผู้ขายต้องออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ซื้อบุคคลธรรมดาได้ ยกเว้นสินค้า 3 อย่างที่ไม่ต้องมีใบกำกับภาษี แต่มีเพียงใบเสร็จรับเงินคือหนังสือเป็นเล่ม หนังสือแบบอีบุ๊ก และสินค้าโอทอป
2. สินค้าบริการในประเทศไทยนั้นได้ทุกประเภท ยกเว้น 8 รายการดังต่อไปนี้
- สุรา เบียร์ ไวน์
- ยาสูบ
- น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมพาหนะ
- ค่าซื้อรถยนต์ ซื้อรถจักรยานยนต์ และซื้อเรือ
- ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
- E-Magazine และ E-Newspaper
- ค่าซื้อทัวร์ที่จ่ายให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว
- ค่าที่พัก โรงแรม
หลักฐานใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบหน้าตาเป็นอย่างไร
ตัวอย่างใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
(ภาพ: สรรพากร)
ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นั้น ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรระบุว่าต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
1. คำว่า ‘ใบกำกับภาษี’ อยู่ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
3. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อ (เลขประจำตัวผู้เสียภาษี = เลขประจำตัวบัตรประชาชน)
4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือบริการให้ชัดแจ้ง
7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
8. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด (ถ้ามี) เช่น เอกสารออกเป็นชุด, สำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ
โครงการนี้ต้องลงทะเบียนหรือไม่ มีข้อยุ่งยากแค่ไหน
โครงการนี้ไม่มีข้อยุ่งยากแต่ประการใด เพราะไม่ต้องลงทะเบียนกับหน่วยงานราชการ การใช้สิทธิ์แล้วได้ประโยชน์แค่ไหนขึ้นอยู่กับผู้บริโภคแต่ละคน ผมนึกถึงโครงการสมัยก่อนที่รัฐบาลเคยมี ไม่ว่าจะเป็นโครงการช้อปช่วยชาติเมื่อปี 2561-2562 และโครงการส่งเสริมการอ่านในปี 2562 จะมีลักษณะเดียวกันในการใช้สิทธิ์
โครงการนี้กับโครงการอื่นๆ ของรัฐบาลจะใช้สิทธิ์ซ้ำซ้อนกันได้ไหม
โครงการช้อปดีมีคืนใช้สิทธิ์ได้ถ้าผู้ใช้สิทธิ์ไม่เข้าร่วมกับโครงการคนละครึ่ง และต้องไม่เป็นผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
บทสรุป โครงการช้อปดีมีคืนมี ‘ข้อดี’ คือไม่ต้องลงทะเบียนก่อนการใช้สิทธิ์ สำหรับสินค้าบริการที่ซื้อได้ก็หลากหลาย สินค้าและบริการที่นิยม ได้แก่ การรับประทานอาหารนอกบ้าน ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ซื้อสินค้าจำเป็นในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นสินค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือหลายคนอาจนึกถึงโทรศัพท์มือถือ สินค้าเทคโนโลยี ทั้งนี้โปรดถามคนขายสินค้าก่อนเสมอว่าออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบได้หรือไม่ และอย่าลืมว่าการซื้อสินค้าและบริการต้องกระทำภายในวันที่ 23 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคมนี้เท่านั้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์