วันนี้ (20 ตุลาคม) ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายมัธยม) จัดโครงการฝึกเอาชีวิตรอดและการบริหารเหตุการณ์วิกฤต กรณีมือปืนยิงกราด ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โดยมีผู้รวมฝึกอบรมจำนวน 45 คน ได้แก่ ผู้แทนอาจารย์, บุคลากร และนักเรียน เริ่มต้นจากการรับฟังการบรรยายภาพรวมความเป็นมาของ เหตุการณ์กราดยิง (แอ็กทีฟชูตเตอร์) เรียนรู้วิธีคิดของคนร้าย ความสำคัญของการฝึกอบรมที่ทุกคนจะต้องสามารถปฐมพยาบาลและดูแลตัวเองได้ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะมาถึงที่เกิดเหตุ ต่อเนื่องถึงการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในช่วงการควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว
การอบรมแบ่งเป็น 3 ฐาน ฐานแรก คือ ‘หนี ซ่อน สู้’ การหนี ต้องสังเกตทางเข้าออกว่ามีกี่ทิศทาง มีทางไหนสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนได้ หลีกเลี่ยงการหนีไปทางตัน กำแพง หรือเส้นทางที่ไม่สามารถไปต่อได้ ทิศทางการหนีต้องตรงข้ามกับเสียงปืน ส่วนกรณีที่ไม่ได้ยินเสียงปืนให้ไปทิศทางเดียวกับการวิ่งของกลุ่มคน การจดจำรูปพรรณสัณฐานคนร้าย เพศ ความสูง สีผิว การแต่งกาย จำนวนลักษณะอาวุธที่ใช้ จำนวนคนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และสุดท้ายเมื่ออยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้วให้โทรแจ้ง 191 ทันที
การซ่อน เมื่อไม่สามารถหนีหรือหนีไม่ทันและไม่แน่ใจว่าคนร้ายอยู่จุดไหนจะต้องซ่อนทันที โดยเลือกห้องที่มีความแข็งแรง เข้าไปแล้วปิดล็อกประตูหาสิ่งของมาค้ำยันเพื่อไม่ให้ดันจากภายนอกได้ แจ้งตำแหน่งตัวเองกับผู้ใกล้ชิดห้ามแจ้งต่อตำแหน่งตัวเองลงสื่อโซเชียล เพราะคนร้ายอาจจะเข้าถึงข้อมูลได้ ปิดเสียงปิดสั่นลดแสงโทรศัพท์ สังเกตที่ประตูและหาสิ่งของเพื่อเตรียมใช้เป็นอาวุธมาไว้ใกล้เผื่อต้องสู้ ที่สำคัญพยามปลอบขวัญดึงสติกับเพื่อนร่วมห้องและสื่อสารวางแผนหากต้องสู้
การสู้ เมื่อไม่สามารถหนีไปที่อื่นได้แล้วคนร้ายบุกเข้ามาที่ซ่อนทุกคนต้องร่วมใจกันสู้ไม่เฉพาะสู้คนใดคนหนึ่งแต่ต้องสู้ทุกคน โดยมีข้อควรระวังการสู้เป็นกรณีที่คนร้ายบุกเข้ามาหาที่ซ่อน ไม่ใช่การออกไปสู้กับคนร้าย กรณีคนร้ายยังไม่พบเจอเรา โดยสู้จากทุกสิ่งที่สามารถใช้เป็นอาวุธได้เช่นถังดับเพลิง น้ำยาล้างห้องน้ำ โต๊ะ เก้าอี้ ปากกา ดินสอ แม้จะมือเปล่าสู้จนกว่าคนร้ายจะหยุดหรือไม่สามารถจะทำอันตรายต่อเราได้แล้ว
ฐานที่สอง การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเน้นการรักษาพยายามช่วยเหลือชีวิต ทั้งแบบใช้อุปกรณ์สายรัดห้ามเลือดและอุปกรณ์รอบข้างใกล้เคียงสามารถตรวจเช็กอาการผลกระทบอื่นๆ ได้เพื่อรอให้หน่วยปฐมพยาบาลมารับการรักษาตัวต่อ
ส่วนฐานที่สาม การปฏิบัติเมื่อเจอกับวัตถุต้องสงสัยว่าเป็นระเบิด กฎ 3 ข้อที่ต้องจำ คืออย่าแตะสัมผัสวัตถุหรือบุคคลต้องสงสัย สร้างระยะห่าง มุมและช่องทางเดินอากาศ ทำสัญลักษณ์สื่อสารถึงตำแหน่งของที่วางระเบิด เพื่อให้มีความเข้าใจและสามารถร้องขอเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ในกิจกรรมฝึกมีส่วนสถานการณ์จำลองโดยจะมีคนร้ายเข้ามาในสถานที่ที่กำหนดแล้วกราดยิงใส่กลุ่มผู้ฝึกซ้อม เพื่อให้ผู้ฝึกซ้อมใช้ทักษะที่อบรมมาในการปฎิบัติภารกิจ โดยจะสามารถประยุกต์ใช้ในสถานที่ต่างๆ เช่น สถานประกอบการห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สถานที่โล่งแจ้ง รับมือกับอาวุธได้ทั้งปืนและมีด
พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการถอดบทเรียนจุดประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อที่จะทำให้สามารถลดการสูญเสียกับประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในโรงเรียนหรือที่สาธารณะ ต้องการให้ประชาชนได้รับการฝึกซ้อมและเข้าใจถึงยุทธวิธีในการป้องกันตัวเอง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ช่วยเหลือได้
โดยส่วนมากตามสถิติผู้ก่อเหตุมักจะเลือก Soft Target (กลุ่มเป้าหมายอ่อนแอ) เช่นเด็กที่ไม่สามารถต่อสู้ได้หรือกลุ่มที่ไม่ระวังตัว
พล.ต.อ. ต่อศักดิ์กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการฝึกซ้อมในสถานศึกษาวันนี้จะมีการบันทึกเป็นคลิปเพื่อเผยแพร่ไปอีกหลายโรงเรียน นอกจากนี้ในอนาคตอาจจะมีการพูดคุยกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อนำตัวแทนมาฝึกอบรมและถ่ายทอดต่อไปถึงนักเรียนในการดูแลได้