×

ทำไมการจัดพิธีศพของอดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ ถึงกำลังเป็นที่ถกเถียงในสังคมญี่ปุ่น

26.09.2022
  • LOADING...
ชินโซ อาเบะ

ทางการญี่ปุ่นเตรียมจัดพิธีศพให้แก่ ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 27 กันยายนนี้ โดยคาดว่าจะมีผู้นำประเทศทั้งอดีตและปัจจุบัน รวมถึงผู้แทนระดับสูงจาก 217 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมพิธีศพในครั้งนี้

 

โดยอาเบะถือเป็นนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่น ในช่วงปี 2006-2007 และปี 2012-2020 เขาเคยชนะการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้วถึง 3 ครั้ง อีกทั้งยังเป็นนายกฯ คนสุดท้ายของรัชสมัยเฮเซ ภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และเป็นนายกฯ คนแรกในรัชสมัยเรวะ ภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ หลังญี่ปุ่นผลัดแผ่นดิน

 

แล้วทำไมการจัดพิธีศพของอดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ ถึงกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในสังคมญี่ปุ่นช่วงเวลานี้

 

1. พิธีการที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ และงบประมาณที่ใช้

เดิมที ‘รัฐพิธีศพ’ หรือ พิธีศพที่จัดขึ้นโดยรัฐ (State-Funeral) ในญี่ปุ่น จะสงวนไว้ให้กับพิธีศพของบรรดาสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นเท่านั้นนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา มีเพียงพิธีศพของ ชิเงรุ โยชิดะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อปี 1947 รายเดียวเท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐทั้งหมด ก่อนที่พิธีศพบุคคลสำคัญรายต่อๆ มามักได้รับการสนับสนุนจากรัฐส่วนหนึ่งและจากพรรคการเมืองใหญ่ที่บุคคลนั้นสังกัดอยู่อีกส่วนหนึ่ง 

 

ดังนั้นพิธีศพของอาเบะที่จะเป็นพิธีศพที่จัดขึ้นโดยรัฐและรัฐออกงบประมาณให้ทั้งหมดนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันไม่น้อย 

 

ประกอบกับตัวเลขงบประมาณที่ทางการญี่ปุ่นเผยว่า อาจใช้งบในการจัดงาน 1.65 พันล้านเยน (กว่า 430 ล้านบาท) นับเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงมาก สูงกว่าพระราชพิธีพระบรมศพของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่ใช้งบราว 1.3 พันล้านเยน และยิ่งเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจญี่ปุ่นประสบกับภาวะชะงักงัน อันสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนและวิกฤตโลกรวนเช่นนี้ 

 

ประชาชนชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยจึงเริ่มมีแนวคิดไม่เห็นด้วยกับการจัดพิธีศพดังกล่าวในสเกลงานที่ใหญ่โต พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทุ่มงบประมาณช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนและได้รับกระทบอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ 

 

จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนชาวญี่ปุ่นโดย Kyodo ชี้ว่า กว่า 70% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามมองว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังใช้งบประมาณมากเกินไปกับการจัดพิธีศพให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้ล่วงลับ

 

โดยคาดว่างบประมาณเกือบครึ่งหนึ่งจะทุ่มให้กับมาตรการด้านความมั่นคง ขณะที่อีกราว 1 ใน 3 จะใช้ต้อนรับบรรดาผู้นำประเทศ ผู้แทนระดับสูง และบุคคลสำคัญที่จะเดินทางมาร่วมพิธีศพในครั้งนี้ เช่น คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีหญิงสหรัฐอเมริกา รวมถึง นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย และ ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เป็นต้น

 

2. ความสัมพันธ์ระหว่าง ชินโซ อาเบะ, พรรค LDP และโบสถ์แห่งความสามัคคี

บรรดาพรรคฝ่ายค้านและคู่แข่งทางการเมืองของอดีตผู้นำญี่ปุ่นต่างได้รับการสนับสนุนให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง ชินโซ อาเบะ, พรรคลิเบอรัลเดโมเครติก หรือพรรค LDP และโบสถ์แห่งความสามัคคี (Unification Church) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ลัทธิมูน’ ลัทธิทางศาสนาที่ถือกำเนิดขึ้นในเกาหลีใต้ และอาจพัวพันกับการระดมทุนหรือรับบริจาคเงินที่มิชอบด้วยกฎหมาย

 

สาเหตุการเสียชีวิตของอาเบะในวัย 67 ปีที่ถูกลอบยิงขณะกำลังปราศรัยที่เมืองนารา อดีตเมืองหลวงของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็มีความเกี่ยวพันกับลัทธิดังกล่าวด้วย โดยแรงจูงใจในการลงมือก่อเหตุเกิดจากความคับแค้นใจที่อาเบะมีปฏิสัมสัมพันธ์กับลัทธิดังกล่าว ซึ่งมีส่วนทำให้ครอบครัวของ เท็ตสึยะ ยามากามิ (มือปืนผู้ก่อเหตุ) ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แม่ของเขากลายเป็นบุคคลล้มละลายหลังหลงเชื่อให้บริจาคเงินจำนวนมาก

 

ข่าวคราวของความสัมพันธ์ดังกล่าวทำให้สังคมญี่ปุ่นประณามลัทธิดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้มีการตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นถึงกรณีที่มีสมาชิกพรรค LDP และนักการเมืองญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยมีความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์กับลัทธิดังกล่าว จนทำให้ทางพรรค LDP ต้องประกาศตัดสัมพันธ์กับโบสถ์แห่งความสามัคคีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมประกาศจะขับสมาชิกพรรค LDP ที่ลักลอบติดต่อกับลัทธิดังกล่าวให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งข่าวคราวนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของอาเบะและพรรค LDP ไม่น้อย 

 

ขณะที่ผลโพลสำรวจโดย Mainichi Daily ชี้ว่า คะแนนความนิยมของ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และหัวหน้าพรรค LDP คนปัจจุบันลดต่ำลงจาก 29% ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ 23% ในช่วงเวลานี้

 

3. กระแสความไม่พอใจจากการบริหารงานของอาเบะ

แม้ผู้คนจำนวนมากจะมองว่าอาเบะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนบทบาทของญี่ปุ่นทั้งภายในภูมิภาคและบนเวทีโลก แต่ก็มีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังมองว่าแนวทางการบริหารงานของอาเบะอาจนำพาประเทศไปสู่จุดวิกฤต โดยเฉพาะการตีความรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงการผ่านร่างกฎหมายการป้องกันตนเองร่วม (Collective Self-Defense Bill) ที่ผลักดันให้กองกำลังป้องกันตนเอง (SDF) เข้าไปมีส่วนร่วมในการปกป้องพันธมิตรที่ได้รับการอนุมานว่าแนวทางนี้คือการปกป้องตนเองวิถีทางหนึ่ง แม้ญี่ปุ่นอาจจะไม่ได้ถูกโจมตีโดยตรงก็ตาม

 

กฎหมายดังกล่าวเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงได้เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นพันธมิตรทางทหารกับมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งความสัมพันธ์จุดนี้ยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นท่ามกลางการพุ่งทะยานขึ้นของพญามังกรจีน โดยแนวทางนี้อาจเป็นการเปิดประตูโอกาสที่จะทำให้ญี่ปุ่นเข้าไปพัวพันกับสงครามได้มากยิ่งขึ้น มีจุดยืนที่มักจะอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลจีนและเอนไปหาชาติตะวันตกมากกว่า 

 

ความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะลงรอยกับจีนและความพยายามที่จะมีบทบาทนำภายในภูมิภาคนี้ ทำให้ทางการจีนส่งเพียงอดีตรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ไม่ค่อยมีใครภายนอกประเทศรู้จักเข้าร่วมพิธีศพของอาเบะในครั้งนี้ ต่างจากพระราชพิธีพระบรมศพของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่ สีจิ้นผิง ส่ง หวังฉีซ่าน รองประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน เดินทางเข้าร่วมพิธีถึงกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา 

 

กระแสความไม่พอใจนำไปสู่การประท้วงอยู่บ่อยครั้งในช่วงที่อาเบะเป็นผู้นำรัฐบาล ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยจึงมองว่าเขาเป็นผู้กระหายสงคราม ไม่สมควรได้รับเกียรติให้จัดพิธีศพขึ้นเป็นกรณีพิเศษไปกว่าบรรดาอดีตผู้นำหรือบุคคลสำคัญทางการเมืองรายอื่นๆ ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา 

 

ขณะนี้มีผู้ประท้วงการจัดพิธีดังกล่าวนี้ชุมนุมกันในหลายพื้นที่ทั่วญี่ปุ่น โดยเฉพาะในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศ ที่กำลังจัดเตรียมพิธีศพโดยรัฐให้แก่อาเบะ ซึ่งบรรดาผู้นำและบุคคลสำคัญจากต่างประเทศเริ่มทยอยเดินทางมาถึงญี่ปุ่นแล้ว

 

แฟ้มภาพ: Franck Robichon – Pool / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising