เกิดข่าวช็อกโลกขึ้นในเมืองนารา เมืองเงียบสงบในภูมิภาคคันไซของญี่ปุ่น เมื่อ ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ถูกยิงในระหว่างปราศรัยกลางฝูงชนวันนี้ (8 กรกฎาคม) ซึ่งในเวลา 15.54 น. ตามเวลาประเทศไทย BBC รายงานอ้างสำนักข่าว NHK ว่า อาเบะถึงแก่อสัญกรรมแล้วด้วยวัย 67 ปี หลังทีมแพทย์พยายามช่วยชีวิตอย่างเต็มที่ ขณะที่ผู้นำทั่วโลกทยอยออกมาแสดงความเสียใจและตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ชินโซ อาเบะ เกิดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 1954 ในย่านชินจูกุ โตเกียว เป็นบุตรชายของ ชินทาโร อาเบะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และหลานชายของ โนบุสุเกะ คิชิ อดีตนายกฯ ญี่ปุ่น
ก่อนหน้านี้อาเบะครองสถิติดำรงตำแหน่งนายกฯ ยาวนานที่สุดของญี่ปุ่นในยุคหลังสงคราม โดยนั่งเก้าอี้ 1 ปีในปี 2006 จากนั้นได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยในช่วงปี 2012-2020 ก่อนที่จะตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพจากโรคลำไส้อักเสบกำเริบ
ถนนการเมืองของชายผู้มีฉายาว่า ‘เจ้าชาย’
- อาเบะได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อปี 1993 ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีในปี 2005 โดยที่ จูนิชิโร โคอิซุมิ นายกฯ ญี่ปุ่น ในเวลานั้น แต่งตั้งเขาให้เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้รับการจับตาว่าเป็นทายาททางการเมืองในอนาคต
- เดือนกันยายน 2006 อาเบะก้าวขึ้นเป็นประธานพรรคลิเบอรัลเดโมแครต (LDP) และได้รับการโหวตรับรองเป็นนายกฯ ในรัฐสภาอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้เขากลายเป็นนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดของญี่ปุ่นหลังยุคสงครามโลก อย่างไรก็ตาม เขาลาออกหลังดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 ปี โดยให้เหตุผลเรื่องปัญหาสุขภาพจากโรคลำไส้อักเสบ
- อาเบะตัดสินใจกลับสู่ถนนการเมืองอีกครั้ง และโค่นคู่แข่งอย่าง ชิเกรุ อิชิบะ อดีตรัฐมนตรีกลาโหม ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานพรรค LDP ซึ่งทำให้เขาได้ดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคเป็นครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายน ปี 2012 จากนั้นเขานำพรรคคว้าชัยในศึกเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายในเดือนธันวาคม และกลายเป็นนายกฯ คนแรกที่กลับสู่ทำเนียบได้ครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ปี 1948
- ในปี 2014 และ 2017 พรรค LDP ภายใต้การนำของอาเบะ คว้าชัยอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งใหญ่ได้อีกครั้ง โดยที่อาเบะยังสามารถทำสถิติเป็นนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของญี่ปุ่นหลังยุคสงครามโลกอีกด้วย
- อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคม ปี 2020 อาเบะตัดสินใจประกาศลาออกเป็นครั้งที่สอง ด้วยปัญหาสุขภาพจากโรคลำไส้อักเสบที่กำเริบหนักขึ้น จากนั้นได้ยื่นหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กันยายน ซึ่งรัฐสภาได้โหวตเลือก โยชิฮิเดะ ซูงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีในเวลานั้น ให้เป็นนายกฯ สืบต่อจากอาเบะ
นักการเมืองชาตินิยมสายเหยี่ยว
- อาเบะเป็นที่รู้จักในฐานะนักการเมืองสายเหยี่ยว ในจุดยืนที่หนักแน่นด้านนโยบายป้องกันประเทศและนโยบายต่างประเทศ โดยในอดีตเขามีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพของญี่ปุ่นที่ประกาศใช้หลังสงครามโลก เพื่อให้ญี่ปุ่นกลับมามีกองทัพได้อย่างเต็มรูปแบบ
- ความเป็นนักการเมืองชาตินิยมของอาเบะ ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้เกิดความหวาดระแวงอยู่บ่อยครั้ง และหลายครั้งเกิดความตึงเครียดขึ้น โดยเฉพาะในปี 2013 ที่อาเบะเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิ ซึ่งเป็นสถานที่สักการะดวงวิญญาณของทหารที่เสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
- ในปี 2015 อาเบะเดินหน้าผลักดันให้ญี่ปุ่นมีสิทธิ์ป้องกันตนเอง โดยเปิดทางทางให้สามารถเคลื่อนกองกำลังไปต่างประเทศ เพื่อป้องกันตนเองและพันธมิตรหากถูกโจมตี
- อย่างไรก็ตาม เป้าหมายใหญ่ของอาเบะในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการยอมรับกองทัพญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการนั้นยังไม่สำเร็จ และยังเป็นประเด็นถกเถียงในญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน
ผู้วางโมเดลเศรษฐกิจแบบ ‘Abenomics’
- อาเบะก้าวขึ้นเป็นนายกฯ ท่ามกลางความคาดหวังจากหลายฝ่ายว่า เขาจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศที่ติดหล่มภาวะเงินฝืดมาอย่างยาวนาน ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจที่จัดเป็น ‘ซิกเนเจอร์’ ของอาเบะ และมีชื่อเสียงอย่างมากคือ ‘Abenomics’ โดยเป็นนโยบายที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเครื่องมือการคลัง, นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง
- มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลอาเบะช่วยให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นโตขึ้นในช่วงสมัยแรกของอาเบะ แต่ต่อมาก็เกิดภาวะชะลอตัว ซึ่งทำให้เกิดคำถามหรือความเคลือบแคลงเกี่ยวกับประสิทธิภาพของนโยบาย Abenomics ในเวลาต่อมา
- ความพยายามในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของอาเบะยังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เมื่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2020 ซึ่งถือเป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งแรกของญี่ปุ่นนับตั้งแต่ปี 2015
- ความนิยมในตัวอาเบะตกตำ่ลงอย่างมาก เนื่องจากประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวทางการรับมือกับโรคระบาดโควิดของเขา ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่พบเคสผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก อาเบะยังถูกวิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการจัดหาหน้ากากอนามัยให้ประชาชนล่าช้า จนนโยบาย Abenomics ถูกนำไปล้อเลียนว่า ‘Abenomasks’ หรืออาเบะไม่มีหน้ากาก นอกจากนี้ประชาชนยังเคลือบแคลงในนโยบายของอาเบะในการกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายในประเทศ หลังซบเซาอย่างหนักจากโรคระบาด
อาเบะถูกลอบยิงระหว่างปราศรัยในเมืองนารา
- สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า อาเบะถูกยิงเมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. ของวันนี้ (8 กรกฎาคม) ตามเวลาท้องถิ่น ในระหว่างที่เขาปราศรัยช่วยพรรค LDP หาเสียงเลือกตั้งบนถนนในเมืองนารา เขาล้มลงหมดสติและมีเลือดออก ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า มีเสียงปืนดังขึ้น 2 นัด ซึ่งอาเบะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยรถพยาบาลต่อด้วยเฮลิคอปเตอร์ โดยหน่วยจัดการภัยพิบัติของกระทรวงมหาดไทยและการสื่อสารของญี่ปุ่นเผยว่า เขามีบาดแผลที่คอฝั่งขวาและหน้าอก
- ทีมแพทย์พยายามช่วยชีวิตอาเบะอย่างเต็มที่ในระหว่างรักษาตัวในห้องผู้ป่วยฉุกเฉินที่โรงพยาบาลในเมืองนารา ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
- หลังเกิดเหตุลอบยิง ตำรวจจับกุมตัวชายผู้ต้องสงสัยชื่อ เทตสึยะ ยามางามิ เป็นชาวนารา วัยประมาณ 40 ปี โดยสำนักข่าว NHK รายงานว่า หลังก่อเหตุเขาไม่ได้หลบหนี และถูกควบคุมตัวไว้สอบปากคำที่สถานีตำรวจนารานิชิ ส่วนอาวุธปืนนั้น เบื้องต้นสื่อรายงานว่าเป็นปืนพกที่ผลิตเอง
- เบื้องต้นยังไม่ทราบแรงจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้ แต่ BBC รายงานว่า ยามางามิเคยเป็นสมาชิกกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น ซึ่งเทียบเท่ากับกองทัพเรือของประเทศ ขณะที่สำนักข่าว Reuters อ้างอิงรายงานจากสำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่นว่า ผู้ต้องสงสัยให้ปากคำกับตำรวจว่า เขาไม่พอใจอาเบะและต้องการจะสังหารเขา
- การปราศรัยของอาเบะที่เมืองนารานั้นเป็นการช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครของพรรค LDP ก่อนหน้าศึกเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันอาทิตย์นี้ ซึ่งเดิมเขามีแผนจะเดินทางต่อไปยังเมืองเกียวโตเป็นจุดหมายถัดไป ก่อนจะเดินทางไปไซตามะ
- ผู้นำทั่วโลกต่างออกมาแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดย จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ระบุใน Twitter ว่า เธอรู้สึกตกใจกับข่าวที่ได้รับ โดยอาเบะถือเป็นผู้นำคนแรกๆ ที่อาร์เดิร์นได้พบหลังเข้ารับตำแหน่ง นอกจากนี้ยังระบุว่า อาเบะเป็นคนที่มุ่งมั่นกับบทบาทที่เป็น แต่ก็ใจดีและเอื้อเฟื้อ ส่วน บอริส จอห์นสัน ที่กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ระบุว่า เขาตกใจและเสียใจอย่างมาก เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย ที่แสดงความเสียใจและโศกเศร้าอย่างสุดซึ้ง
- ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของญี่ปุ่น เผยว่า รัฐมนตรีของรัฐบาลทุกคนได้รับคำสั่งให้กลับกรุงโตเกียว แต่ยังไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกำหนดการการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกที่จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์นี้ นอกจากนี้ยังเผยว่า แม้แรงจูงใจของมือปืนนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ก็ไม่อาจตัดความเชื่อมโยงกับการหาเสียงในการเลือกตั้งที่กำลังดำเนินอยู่ได้
ภาพ: Franck Robichon – Pool / Getty Images
อ้างอิง: