×

ชินโซ อาเบะ ฟื้นคืนชีพเศรษฐกิจ ปลดปล่อยญี่ปุ่นจาก The Lost Decade

13.07.2022
  • LOADING...
ชินโซ อาเบะ

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโลกหลังโควิดต้องจารึกอีกครั้ง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2022 กับการสูญเสียอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ผู้กอบกู้ประเทศญี่ปุ่นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาอย่างยาวนานจนถูกนานาชาติมองข้าม เขาปั๊มชีพจรเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้สามารถกลับมาเชิดหน้าในเวทีโลกได้อีกครั้งในช่วงเวลาที่รับตำแหน่งปี 2011-2020 และถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นด้วย

 

ชินโซ อาเบะ ถือเป็น ‘ฮีโร่’ ของโลกอีกคนหนึ่ง เราคงปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ครับว่า อาเบะเข้ามาทำให้ประเทศญี่ปุ่นที่เปรียบเสมือนคนแก่ถือไม้เท้าในเวลานั้นกลับมาวิ่งได้อีกครั้งในเวลานี้ ด้วยการประกาศใช้นโยบาย ‘Abenomics’ ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาเอง

 

ผมชื่นชมฝีมือของอาเบะที่มุ่งมั่นเดินหน้าลุยนโยบาย ‘Abenomics’ ด้วยการลงมือทำในสิ่งที่ต้องทำ แม้จะรู้ว่ามันยาก และต้องพบกับกระแสต่อต้านมากแค่ไหน ต้องใช้เวลาพิสูจน์นานเท่าไร แต่ก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งใจจะสร้างโอกาสการเริ่มต้นใหม่ในวิถีเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลับมามีพลังได้อีกครั้ง 

 

@Abenomics กับเส้นทางการฟื้นคืนชีพญี่ปุ่น 

แม้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่ได้มีพื้นที่ใหญ่โต แต่ก็เป็นประเทศร่ำรวยภายใต้ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา และจีน ตามลำดับ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมาจากทั้งในประเทศและการออกไปกระจายลงทุนนอกประเทศทั่วทุกมุมโลก ปี 2020 เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงถึง 170 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทยถึง 10 เท่าทีเดียว

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในอดีตเคยรุ่งเรืองสุดๆ ถือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอีกประเทศที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สุดของโลก เคยครองสถิติประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจติดอันดับ 2 ของโลกมายาวนานถึง 42 ปีในอดีต เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น

 

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 20 ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในญี่ปุ่น การก่อการร้าย และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบเต็มๆ จากที่เคยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจกลับต้องมาเผชิญกับความไม่แน่นอนจนปรับตัวไม่ทัน ทำให้เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะชะงักงันมากว่า 20 ปี ญี่ปุ่นมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงถึง 266% ขณะที่หลายรัฐบาลที่ผ่านมาได้พยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งญี่ปุ่นต้องมาเผชิญกับคู่แข่งทางการค้ารายสำคัญอย่างจีน ส่งผลให้ญี่ปุ่นสูญเสียการเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกให้กับจีนซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไปจนถึงปัจจุบันนี้

 

ตลอดเวลาช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างเชื่องช้าและเผชิญกับปัญหาเงินฝืดในช่วงปี 1990-2003 เป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นถูกมองว่าเข้าสู่ ‘ทศวรรษที่สาบสูญ’ หรือ ‘The Lost Decade’ โดยในช่วง 14 ปีดังกล่าว GDP ญี่ปุ่นเติบโตเฉลี่ยเพียงแค่ 1.1% ต่อปี เป็นระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้ธนาคารกลางญี่ปุ่นและรัฐบาลจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ก็ตาม ท่ามกลางแรงกระแทกซ้ำเติมจากวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009

 

แล้วญี่ปุ่นก็เริ่มมีแสงสว่างปลายอุโมงค์ เมื่อ อาเบะ หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ แอลดีพี ได้ลงสมัครในการเลือกตั้งทั่วไปของญี่ปุ่นในปี 2012 และใช้สโลแกนการหาเสียงที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง คือ ‘Nippon o Torimodosu’ หรือ ‘ฟื้นคืนชีพญี่ปุ่น’ ครับ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นถูกโลกจับตามองอีกครั้ง

 

นับเป็นประโยคที่มีพลังและเปี่ยมไปด้วยความหวังมากๆ อาเบะสามารถโน้มน้าวประชาชนญี่ปุ่นให้มีความเชื่อมั่นในตัวเขามากยิ่งขึ้น และนำมาสู่ชัยชนะของการเลือกตั้งแบบถล่มทลายในปี 2012 เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งจากที่ในปี 2006 เขาเคยเป็นนายกฯ มาในช่วงสั้นๆ 

 

อาเบะประกาศแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นขนานใหญ่ หวังให้หลุดพ้นจากความตกต่ำ นั่นก็คือ ‘Abenomics’ ที่ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้านหลัก เรียกกันว่า ‘Three Arrows’ หรือลูกศร 3 ดอก ประกอบด้วยการใช้นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซามายาวนาน

 

ลูกศรดอกที่ 1: การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสูงสุดที่มาแรงสุดๆ เวลานั้น ‘การตั้งอัตราดอกเบี้ยติดลบ’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งสร้างเงินเฟ้อ ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาแล้วแห่งเดียวที่ใช้ดอกเบี้ยนโยบายติดลบ ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากในญี่ปุ่นติดลบด้วย พูดง่ายๆ คือถ้าคุณฝากเงินไว้กับธนาคารในญี่ปุ่น คุณจะต้องเสียดอกเบี้ยให้ธนาคารแทนที่จะได้ดอกเบี้ยเพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทญี่ปุ่นนำเงินไปลงทุน แบงก์ก็ต้องปล่อยสินเชื่อมากขึ้นด้วย ขณะที่คนญี่ปุ่นก็จะหลีกเลี่ยงการฝากเงินไว้เฉยๆ แต่ต้องเอาไปลงทุนเช่นกัน และเมื่อการลงทุนในประเทศสูงขึ้นก็ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ และช่วยผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ภายใต้เป้าหมายกรอบเงินเฟ้อที่ 2%

 

ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ก็เริ่มใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ตั้งแต่ปี 2001 แล้วก่อนที่ธนาคารกลางของอีกหลายประเทศนำไปปรับใช้ ทำให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นมหาศาลในระบบ ช่วยแก้ไขปัญหาเงินฝืดในเวลานั้น สภาพคล่องล้นไหลเข้าไปลงทุนและเก็งกำไรในตลาดตราสารทุน ตราสารหนี้ทั่วโลก ในจังหวะที่เศรษฐกิจฟื้นกลับมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ทะยานขึ้นทำลายสถิติกันคึกคัก ขณะที่ผลของการทำมาตรการ QE ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นถือสินทรัพย์มากที่สุดในโลกที่ 70% ของ GDP เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

 

ลูกศรดอกที่ 2: จัดสรรงบประมาณอย่างคล่องตัวและถูกจุด รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณไปใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นและสามารถประคองเศรษฐกิจได้ด้วย เช่น การเพิ่มสวัสดิการ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านการใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาล การใช้นโยบายการคลังนี้อาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นชัดเจนมากนัก แต่เรามองว่าเป็นส่วนที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่เจอกับปัญหาเศรษฐกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในระหว่างที่กำลังแก้ไขปัญหาที่ใหญ่กว่า

 

ลูกศรดอกที่ 3: การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่น ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุด และลูกธนูดอกนี้ก็ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักวิเคราะห์หลายสำนัก เพราะอาเบะกล้าออกมาตรการหลายอย่างที่ขัดกับขนบธรรมเนียมเดิมของญี่ปุ่นเพื่อพลิกฟื้นให้เศรษฐกิจกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง 

 

ปกติการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างที่ฝังรากลึกในสังคมว่ายากแล้ว แต่เมื่อเป็นญี่ปุ่น ภารกิจการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างยิ่งทวีความยากมากขึ้นกว่าเดิมมากนะครับ นั่นเพราะญี่ปุ่นคือประเทศที่ให้คุณค่ากับภูมิปัญญา และมีนิสัยในการหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนแบบสุดๆ นั่นเอง

 

มาตรการที่รัฐบาลอาเบะทำมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้บริษัทจ้างพนักงานหญิงมากขึ้น การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งขัดกับภาระหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นที่สัดส่วนสูงที่สุดในโลก การเปิดรับแรงงานต่างชาติเพื่อแก้ปัญหาขาดแรงงานเนื่องจากญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว และเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มมากเกือบ 20 ล้านคนในช่วงก่อนโควิด ซึ่งขัดกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยเปิดรับคนต่างชาติเท่าไรนัก แต่ก็ทำให้ภาคท่องเที่ยวในญี่ปุ่นขยายตัว และยังมีการปฏิรูปกฎระเบียบเกี่ยวกับพลังงาน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ รวมถึงปรับปรุงวิธีการลงทุนของรัฐบาล

 

และที่สำคัญคือการผลักดันให้บริษัทญี่ปุ่นทำ Digital Transformation มากขึ้น ซึ่งขัดกับวัฒนธรรมการทำธุรกิจของญี่ปุ่นที่มีความอนุรักษ์นิยมสูง รัฐบาลในยุคสมัยที่อาเบะกุมบังเหียน เราได้เห็นผลิตภัณฑ์และแนวทางใหม่ๆ จากบริษัทญี่ปุ่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวเครื่องเล่นเกม Nintendo Switch ที่เคยเงียบหายไปนาน หรือการก่อตั้ง SoftBank Vision Fund ซึ่งเป็นกองทุน Venture Capital ด้านเทคโนโลยีที่มีเงินลงทุนสูงที่สุดโลก

 

@ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2021 GDP กลับโตในรอบ 3 ปี

นายกรัฐมนตรีสายเหยี่ยวท่านนี้ วางยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านนโยบาย Abenomics โดยในช่วงวาระแรกๆ ก็สามารถจุดเชื้อไฟเศรษฐกิจติดขึ้นมาได้ แต่เมื่อมาถึงสมัยวาระที่ 2 เขาต้องเผชิญกับศึกรอบด้าน ทำให้ไฟเศรษฐกิจแผ่วลง สะท้อนผ่านตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2012-2018 จาก GDP อยู่ที่ระดับ 1.4, 2, 0.3, 1.6, 0.8, 1.7, 0.6% และเริ่มหดตัวในปี 2019 ติดลบ 0.2%

 

และในปี 2020 ติดลบหนักถึง 4.5% เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิดรุนแรงทั่วโลก เศรษฐกิจญี่ปุ่นจึงสะดุดลงอีกครั้งจากการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวลงแรง (ภาคการบริโภคเอกชนมีขนาดใหญ่เกินกว่าครึ่งของ GDP ญี่ปุ่น) และยังเป็นปีที่ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกนับจากปี 2015 หรือรอบ 4 ปีครึ่ง อาเบะเผชิญกับปัญหาท้าทายรอบด้านรุมเร้ารวมถึงปัญหาสุขภาพในที่สุด เขาตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 57 ของญี่ปุ่นในปีนั้น แม้ว่าจะยังทำตามเป้าหมายไม่สำเร็จก็ตาม

 

ถึงอาเบะจะใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องหลายปีในการจุดเชื้อไฟเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ติดขึ้นมา แต่เขาก็สามารถแก้ไขปัญหาเงินฝืดได้ เพิ่มรายได้ประชาชาติ บริษัทเอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานญี่ปุ่นต่ำสุดในรอบ 27 ปี ขณะที่ค่าจ้างแรงงานก็สูงขึ้นในบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม บรรลุเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น การบรรลุข้อตกลงในการเจรจา TPP ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นกว่า 32 ล้านคนในปี 2019 จากปี 2012 ที่มีนักท่องเที่ยวแค่ประมาณ 8 ล้านคนเท่านั้น

 

แต่ภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เห็นเหล่านี้ถูกแลกมาด้วยการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลเช่นกัน ที่ทุกวันนี้ยังเป็นปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีหนี้สาธารณะสูงอันดับ 3 ของโลก ส่งผลให้บริษัทเอกชนกังวลว่ารัฐบาลอาจจำเป็นต้องเก็บภาษีเพิ่ม ท่ามกลางเสียงนักวิเคราะห์ประเมินว่านโยบาย Abenomics ไม่มีประสิทธิภาพมากนักผ่านลูกศร 3 ดอก การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ประสบผลสำเร็จ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ค่อยให้ผลตอบแทนกลับมาเท่าที่ควร ปัญหาการซื้อสินทรัพย์ และพันธบัตรที่ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อน ที่แม้จะเป็นผลดีกับธุรกิจภาคส่งออก แต่ก็ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น ส่งผลต่อภาคครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ท่ามกลางปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับขึ้นตาม แต่อัตราค่าจ้างปรับขึ้นตามไม่ทันเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

 

แม้ในที่สุดปี 2021 เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็กลับมาขยายตัวได้ถึง 1.7% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี แต่นี่ก็เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านนายกรัฐมนตรี ‘ฟูมิโอะ คิชิดะ’ ที่เข้ามาบริหารประเทศ และให้คำมั่นว่าจะใช้ระบบทุนนิยมใหม่กับญี่ปุ่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มรายได้ให้ชนชั้นกลาง ในขณะเดียวกันก็ยังคงใช้นโยบาย ‘Abenomics’ ในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังและการเงิน โดยยังคงอัตราภาษีการบริโภคและคงเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 2%

 

ในบทวิเคราะห์รายประเทศฉบับเดือนเมษายน 2022 ทาง IMF ได้คาดการณ์ว่า GDP ของญี่ปุ่นจะขยายตัว 2.4% ในปี 2022 และ 2.3% ในปี 2023 ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดของญี่ปุนในรอบ 12 ปี

 

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสูงมากและต้องเจอกับราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น แต่ก็ยังมีอัตราการเติบโตในระดับนี้ได้ ต้องบอกว่าน่าประทับใจมากทีเดียวครับ

 

โดย IMF บอกว่าการเติบโตนี้เป็นผลมาจากการผ่อนคลายด้านนโยบายของรัฐ การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และการทำ Digital Transformation ในญี่ปุ่นที่อาเบะเป็นผู้ริเริ่ม จนถูกนำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

 

อาเบะได้ใช้ช่วงเวลาเหล่านี้อย่างคุ้มค่า เขามุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก กล้าริเริ่มทำสิ่งที่ยากอย่างมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ว่าต้องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้มีสุขภาพดีขึ้นอีกครั้ง โลกก็เริ่มเห็นแล้วว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นดูมีชีวิตชีวาขึ้นมา หลังจากทำตัวเหมือนคนแก่เซื่องซึมมานานหลายสิบปี

 

แม้เส้นทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากนี้ยังต้องใช้อีกหลายปีกว่า ‘ภารกิจคืนชีพญี่ปุ่น’ จะสำเร็จโดยสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยรากฐานใหม่ที่อาเบะได้วางไว้ให้จะนำทางให้แดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้เดินบนเส้นทางแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน จุดประกายให้พลเมืองญี่ปุ่นมีความหวังมากขึ้นในโลกดิจิทัลที่ญี่ปุ่นเคยหลุดจากวงโคจรไปแล้ว

 

แม้วันนี้อาเบะจะไม่ได้มีโอกาสชื่นชมญี่ปุ่นในแบบที่ตนเองวาดฝันไว้ แต่เขาก็ได้พิสูจน์ตัวเองในฐานะผู้นำที่กล้าทำในสิ่งที่ยาก ต่อสู้กับระบบเก่าๆ ที่ฝังรากลึก และฝ่าฟันกระแสต่อต้านต่างๆ นานา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างยั่งยืน

 

อาเบะ คือ ‘ฮีโร่’ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เรามุ่งมั่นต่อสู้ข้อจำกัดด้านการลงทุนในปัจจุบัน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้โลกแห่งการลงทุนอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน

 

เราก็หวังว่าสิ่งที่ดีๆ ที่อาเบะได้ทำให้กับญี่ปุ่นจะคงอยู่ตลอดไป และในวันหนึ่ง ประวัติศาสตร์จะต้องจารึก ‘ฮีโร่’ คนนี้ ว่าเป็นผู้ที่มอบ ‘จุดเริ่มต้นใหม่’ ให้ญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม

 

แม้ผมจะไม่ใช่คนญี่ปุ่น แต่ก็รู้สึกสะเทือนใจต่อการจากไปอย่างกระทันหันของอาเบะมากเหมือนกันครับ ผมและทีมงาน Jitta และ Jitta Wealth ทุกคนขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวและประชาชนชาวญี่ปุ่นสำหรับความสูญเสียในครั้งนี้ครับ 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising