รู้หรือไม่ คนไทยกว่าร้อยละ 90 ในกลุ่มคนวัย 50 ปีขึ้นไป เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน และมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดเมื่ออายุมากขึ้นจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกัน และโรคงูสวัดสามารถเกิดได้ในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือเป็นโรคที่ต้องกินยากดภูมิคุ้มกันด้วย2 ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีคำตอบ
ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บอกว่า ถึงเวลาที่คนไทยควรตระหนักรู้ถึงความรุนแรงของโรคงูสวัด เพราะจากที่เคยเข้าใจว่า ตุ่มน้ำใสที่เกิดขึ้นทำให้มีอาการปวดแสบร้อนตามแนวเส้นประสาทนั้นจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น นอนไม่หลับ อารมณ์หงุดหงิด ขยับตัวลำบาก ยกของหนักไม่ได้ เท่านั้น ทว่าปัจจุบันทั่วโลกพบว่า จำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัด โดยเฉพาะผู้สูงวัยนอนโรงพยาบาลมากขึ้น และมีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับการเกิดเส้นเลือดอุดตันในสมอง (สโตรก)4
ทำไมคนที่เคยเป็น ‘โรคอีสุกอีใส’ ถึงมีโอกาสเป็น ‘โรคงูสวัด’
ก่อนจะลงลึกถึงความรุนแรงของโรคและวิธีป้องกัน ประเด็นที่หลายคนสงสัยคือ ทำไมคนที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสถึงมีโอกาสเป็นโรคงูสวัด ศ.นพ.ธีระพงษ์ บอกว่า โรคงูสวัด คือโรคที่เกิดจากไวรัส VZV (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส2
“แม้ว่าอาการผื่นของโรคอีสุกอีใสจะหายไป แต่เชื้อไวรัส VZV ยังคงหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทบริเวณไขสันหลัง กล่าวโดยสรุปว่า คนที่เคยเป็นอีสุกอีใสจะมีเชื้อไวรัส VZV ซ่อนอยู่ในปมประสาททุกคน”2
เนื่องจากเชื้อโรคซ่อนตัวอยู่ในปมประสาท เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดลง เชื้อโรคที่ซ่อนอยู่จึงแสดงอาการของโรคงูสวัดและทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทร่วมด้วย โดยมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง มีผื่นแดงขึ้นบริเวณที่ปวดแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส มักเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแถวยาวตามแนวเส้นประสาท และมีอาการปวดรุนแรงขึ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลและตกสะเก็ด หลังจากผื่นงูสวัดหาย ยังคงมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือปวดแบบเหมือนมีเข็มมาทิ่มแทง อาจเป็นตลอดเวลาหรือเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการปวดเจ็บแบบแปลบๆ ตามแนวเส้นประสาท หลังจากที่ผื่นหรือตุ่มน้ำของงูสวัดหายไปแล้ว5,6
เชื้อไวรัส VZV กลับมาได้อย่างไร?
มีสองปัจจัยหลักที่ทำให้เชื้อไวรัส VZV กลับมาแสดงอาการเป็นโรคงูสวัด นั่นคือ อายุที่เพิ่มขึ้นและคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง7,8
“กลุ่มคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงชัดเจน เพราะยิ่งอายุมาก ภูมิคุ้มกันยิ่งเสื่อมถอย ความสามารถในการควบคุมและต่อสู้กับเชื้อไวรัสจึงลดลง แม้จะเป็นคนวัย 50 ปีขึ้นไปที่ร่างกายแข็งแรงก็ยังมีความเสี่ยง เพียงแต่โอกาสเกิดของโรคน้อยกว่า แต่ประเด็นสำคัญคือ ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดลงไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุที่มากขึ้นอย่างเดียว นั่นหมายความว่ากลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น คนที่ปลูกถ่ายไขกระดูกหรือปลูกถ่ายอวัยวะ คนที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน คนที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองอย่างเช่นโรคเอสแอลอี คนที่ติดเชื้อเอชไอวี คนที่ได้รับยารักษาโรคมะเร็ง รวมทั้งคนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด ล้วนมีโอกาสที่จะเป็นโรคงูสวัดได้เช่นกัน”2
ภาวะแทรกซ้อนและความรุนแรง (ที่แท้จริง) ของโรคงูสวัด
มีข้อมูลทางวิชาการเก็บสถิติของผู้ป่วยโรคงูสวัด พบว่าร้อยละ 5-30 ของผู้ป่วยโรคงูสวัด เมื่อผื่นตุ่มใสบนผิวหนังหายแล้วจะยังคงมีอาการปวดบริเวณผื่นตามแนวเส้นประสาทนานเกิน 3 เดือน อาจเป็นปี หรือบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น นอนไม่หลับ อารมณ์หงุดหงิด ขยับตัวลำบาก ยกของหนักไม่ได้ อวัยวะบริเวณนั้นไม่มีแรง และขยับหรือเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนนั้นได้น้อยลง3
“งูสวัดเป็นโรคที่รบกวนการใช้ชีวิตของผู้ป่วย แม้โรคจะหายแต่ในบางคนอาการของโรคยังคงสร้างความเจ็บปวดเรื้อรัง จะบอกว่ารบกวนแค่ตัวผู้ป่วยก็ไม่ใช่ เพราะผลกระทบของมันอาจทำให้ต้องได้รับยาระงับการปวด รบกวนการหลับ9 เกิดโรคแทรกซ้อน ต้องนอนโรงพยาบาล กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนใกล้ตัว
“แย่ไปกว่านั้นคือโรคงูสวัดอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย ที่น่ากังวลคือภาวะโรคงูสวัดแพร่กระจายทั่วร่างกายในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีขั้นรุนแรง ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือเปลี่ยนถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูก อาจทำให้เชื้อที่ติดเชื้อในเส้นประสาทแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด รุนแรงกว่านั้นคือเชื้อแพร่ไปที่ปอด สมอง ทำให้อวัยวะเหล่านั้นเกิดการอักเสบและรุนแรงจนเสียชีวิตได้ แม้จะพบได้น้อยแต่ก็ถือว่ามีความเสี่ยง”10
ศ.นพ.ธีระพงษ์ ยังบอกด้วยว่า ที่สหรัฐอเมริกามีรายงานผู้ป่วยจากโรคงูสวัด โดยเฉพาะผู้สูงวัยนอนโรงพยาบาลมากขึ้นและนานขึ้น เนื่องจากอาการของโรคงูสวัดอาจไปกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วยเพิ่มเติมในผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอยู่แล้ว4
“คนที่เป็นโรคหัวใจ พอเป็นงูสวัดและเกิดไข้ ยิ่งเสี่ยงทำให้หัวใจวายมากขึ้น และยังมีข้อมูลที่เชื่อมโยงอาการของงูสวัดมีโอกาสทำให้เกิดเส้นเลือดอุดตันในสมอง (สโตรก) สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เป็นโรคงูสวัดบนใบหน้า เพราะอาจเกิดการแพร่กระจายทางเส้นเลือดจนทำให้เส้นเลือดอักเสบในสมองได้”4
“ความน่ากลัวคือไม่มีสัญญาณบ่งชี้หรืออาการที่บอกได้ว่างูสวัดจะเกิดเมื่อใดหรือที่จุดไหนของร่างกาย เรารู้เพียงว่าคนอายุ 50 ปีขึ้นไป และคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องมีโอกาสเป็นสูง และเชื้อจะปะทุทันทีเมื่อร่างกายอ่อนแอ”
รักษาได้แต่ไม่หายขาด
“การรักษานั้น ปัจจุบันมียาต้านไวรัสหลายชนิดที่นำมาใช้รักษาโรคงูสวัด พบว่าการเริ่มให้ยาต้านไวรัสภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีอาการจะมีประสิทธิภาพดีกว่า ทำให้ตุ่มขึ้นน้อยลง2 ในขณะที่ยาบางตัวสามารถลดการปวดเรื้อรังในอนาคตได้11 สำหรับคนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมากๆ จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัสทางเส้นเลือด จึงจำเป็นต้องเข้านอนโรงพยาบาล12 แต่เมื่อเป็นโรคงูสวัดนี้ไม่หายขาด เป็นแล้วก็มีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก เพราะการรักษายังไม่สามารถกำจัดเชื้อทั้งหมดที่หลบอยู่ในเส้นประสาทได้ พบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสให้กับเด็กในปัจจุบัน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัส VZV เข้าสู่ร่างกาย แม้ว่าสามารถลดการเกิดโรคงูสวัดได้บ้างในเวลาต่อมา13 แต่อาจต้องใช้เวลาศึกษาอีกหลายปีเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนว่าสามารถป้องกันการเกิดโรคงูสวัดในผู้สูงวัยได้หรือไม่”
โรคงูสวัดป้องกันได้ หากรู้ทันโรคและวิธีการดูแลตนเอง
ศ.นพ.ธีระพงษ์ ย้ำว่า ต่อให้ร่างกายแข็งแรง แต่ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น ภูมิคุ้มกันของร่างกายก็ลดลง ความสามารถในการป้องกันไวรัสไม่ให้เกิดโรคงูสวัดก็ลดลงตามไปด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดคือการป้องกันวิธีหนึ่ง
“ปัจจุบันโรคงูสวัดสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคงูสวัดควรดูแลตัวเองให้สุขภาพแข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และควรปรึกษาแพทย์ของตนเองเพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมในการป้องกันโรคงูสวัด”
#SponsoredbyGSK
This program is supported by GSK
GSK takes no responsibility nor liability for any further distribution of this material beyond the GSK original published site or permitted publishers.
NP-TH-HZU-ADVR-230001
อ้างอิง:
- Thantithaveewat T., et al. Southeast Asian J Trop Med Public Health 2019; 50:94-100.
- Harpaz R, et al. MMWR Recomm Rep. 2008;57:1-30.
- Kawai K, et al. BMJ Open. 2014 Jun;4(6):e004833.
- Marra F et al. BMC Infect Dis. 2017;17:198.
- Weinberg JM. J Am Acad Dermatol. 2007;57:S130–135.
- Dworkin RH et al. Clin Infect Dis. 2007;44:S1–26.
- Lal H et al. N Engl J Med 2015;372:2087–2096.
- Cunningham AL et al. N Engl J Med. 2016;375:1019–1032.
- Lukas K et al. J Public Health. 2012;20:441–451.
- Cohen Jl et al. N Engl J Med. 2013;369:255-263.
- Chen N, et al. Cochrane Database Syst Rev. 2014, 6(2) CD006866.
- Saguil A, et al. American Family Physician. 2017; 96: 656-663.
- CDC;2023;1-4;SHINGLES (Herpes Zoster) -Clinical Overview