×

“สถาปนิกสำหรับผมไม่ใช่งาน” Shigeru Ban ผู้คิดนวัตกรรมโครงสร้างกระดาษม้วน วัสดุรีไซเคิล และงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

12.11.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS. READ
  • “สถาปนิกสำหรับผมไม่ใช่งาน อย่างที่บอกว่าผมไม่สนใจเรื่องเงิน การออกแบบบ้านพักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ หรืองานออกแบบเชิงพาณิชย์สำหรับผมไม่ต่างกัน ผมสนใจเรื่องที่อยากทำมากกว่า และผมสนใจที่ได้สอนหนังสือ เพราะผมเองก็ได้รับการสอนมาจากอาจารย์ที่ดี สิ่งที่ผมทำได้ก็คือส่งต่อความรู้เหล่านี้ไปสู่สถาปนิกรุ่นต่อไป”
  • ชิเงรุ บัน (Shigeru Ban) คือสถาปนิกชื่อดังระดับโลก เจ้าของรางวัล Pritzker Architecture Prize 2014 โดดเด่นในด้านนวัตกรรมการใช้วัสดุและแนวทางการออกแบบเพื่อสังคม โดยเขาได้ก่อตั้ง Shigeru Ban Architects ขึ้นในปี ค.ศ. 1985 และต่อมาภายหลังในปี ค.ศ. 1995 ได้ก่อตั้งองค์กรบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งใช้ชื่อว่า Voluntary Architects’ Network (VAN) 
  • บ้านพักชั่วคราวที่ใช้กระดาษม้วนมาเป็นผนังและโครงสร้างหลัก หลังคาใช้แผ่นเมมเบรน ฐานรากด้วยลังเบียร์ที่ขอมาจากโรงงานในท้องถิ่น ตัวบ้านขนาด 16 ตารางเมตร ใช้ทุนสร้างเพียง 250,000 เยน (69,000 บาท) ซึ่งเมื่อเทียบกับบ้านชั่วคราวอื่นๆ แล้วนับว่าราคาถูกกว่า ทั้งยังสร้างได้ง่ายและรวดเร็วกว่า และเมื่อไม่ใช้งานแล้วก็ยังนำวัสดุที่ใช้ไปรีไซเคิลได้ด้วย

“Same Price, Same Size ถ้าออกแบบให้ดูสวยน่าอยู่กว่า สะดวกกว่า ในราคาเท่าเดิม ผมก็จะทำ ผมจะติดต่อหน่วยงานนั้นๆ เพื่อทำให้มันเกิดขึ้น” 

 

ชิเงรุ บัน (Shigeru Ban) สถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่นเล่าถึงโปรเจกต์การออกแบบที่พักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติที่เมืองมิยางิ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2011 เมื่อเขาเสนอทางภาครัฐว่างานออกแบบของเขาใช้พื้นที่เท่าเดิม ราคาเท่าเดิม ทั้งยังออกมาสวยงาม สะดวกสบาย น่าอยู่กว่าแบบเดิมที่ทางภาครัฐอนุมัติ และจากภาพต่อไปนี้ คุณคงได้เห็นแล้วว่าบ้านพักชั่วคราวแต่ละยูนิตนั้นดูเรียบง่าย สะดวกสบายไม่แพ้บ้านพักจริงๆ แม้แต่น้อย

 


Container Temporary Housing – Onagawa, Miyagi, 2011

 

นี่คือตัวอย่างส่วนหนึ่งจากงานเลกเชอร์ Shigeru Ban Lecture Works and Humanitarian Activities เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดย ชิเกรุ บัน บินตรงมาจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อบรรยายให้แฟนๆ ชาวไทยได้เข้าใจเบื้องหลังงานออกแบบตลอด 30 ปีชีวิตการทำงานของเขา และได้รับแรงบันดาลใจในวิธีคิดจากการทำงาน ที่ทั้งฉลาด คิดนอกกรอบ สนุกสนาน ท้าทาย ได้มีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และยังช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยบทบาทสถาปนิกที่ทำงานท่ามกลางภัยพิบัติ

 

“สถาปนิกสำหรับผมไม่ใช่งาน อย่างที่บอกว่าผมไม่สนใจเรื่องเงิน การออกแบบบ้านพักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัย หรืองานออกแบบเชิงพาณิชย์สำหรับผมไม่ต่างกัน ผมสนใจเรื่องที่อยากทำมากกว่า และผมสนใจที่ได้สอนหนังสือ เพราะผมเองก็ได้รับการสอนมาจากอาจารย์ที่ดี สิ่งที่ผมทำได้ก็คือส่งต่อความรู้เหล่านี้ไปสู่สถาปนิกรุ่นต่อไป”

 

 

ชิเงรุ บัน คือสถาปนิกชื่อดังระดับโลก เจ้าของรางวัล Pritzker Architecture Prize 2014 โดดเด่นในด้านนวัตกรรมการใช้วัสดุและแนวทางการออกแบบเพื่อสังคม โดยเขาได้ก่อตั้ง Shigeru Ban Architects ขึ้นในปี ค.ศ. 1985 และต่อมาภายหลังในปี ค.ศ. 1995 ได้ก่อตั้งองค์กรบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งใช้ชื่อว่า Voluntary Architects’ Network (VAN) 

 

เอกลักษณ์งานออกแบบของ ชิเงรุ บัน คือความฉลาดคิดในรายละเอียด การใช้วัสดุรีไซเคิล โดยเฉพาะม้วนกระดาษแข็ง การนำเอาพื้นที่อินดอร์เชื่อมโยงกับเอาต์ดอร์ได้อย่างชาญฉลาด ประหยัดพลังงาน และยังคงใช้ภูมิปัญญาการต่อไม้ของญี่ปุ่นผสมผสานในงานสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว

 

ชิเงรุ บัน เดินขึ้นมาบนเวทีด้วยชุดสบายๆ เสื้อและกางเกงสีดำ ท่าทางเป็นกันเอง หยอดด้วยมุกสนุกสนานระหว่างการบรรยายที่ทำให้เข้าถึงตัวตนของเขาที่สะท้อนผ่านงานออกแบบช่างคิด 

 

เขาเริ่มต้นบรรยายด้วยการย้อนไปที่งานออกแบบตั้งแต่เริ่มแรก ยกตัวอย่างไล่เลียงมาถึงปัจจุบัน โดยผลงานออกแบบที่น่าสนใจคือ Paper Log House ที่เมืองโกเบ ในปี 1995 ที่มีโครงสร้างหลักเป็นม้วนกระดาษ 110 ชิ้น เนื่องจากชิเงรุรู้ดีว่ากระดาษแข็งแรงพอจะใช้เป็นโครงสร้างหลักได้ แต่รัฐบาลไม่อนุมัติ เขาจึงออกแบบและสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมาเพื่อให้ภาครัฐเห็นว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นความจริง นี่จึงเป็นโปรเจกต์แรกที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐให้นำม้วนกระดาษมาใช้เป็นโครงสร้างหลักได้ ชิเงรุ บัน ยังเล่าแบบติดตลกว่า “จริงๆ แล้วผมเป็นคนไม่ชอบวันหยุด เพราะผมทำงานทุกวัน แต่ผมก็ต้องสร้างบ้านตากอากาศของผมเอง เพราะอยากให้ภาครัฐเห็นว่ามันทำได้จริง”

 

Shigeru Ban

Paper Log House, Kobe, Japan, 1995

 

จากนั้น ชิเงรุ บัน ได้เล่าถึงโปรเจกต์ต่างๆ ที่เน้นย้ำเรื่องการใช้ม้วนกระดาษมาเป็นโครงสร้างหลักที่ทั้งแข็งแรง ทนทาน และราคาไม่แพง โดยเฉพาะงานออกแบบ Tokyo Design Museum ที่โตเกียว ในปี 2003 ที่เขาได้รับโจทย์ให้ออกแบบโครงสร้างสำหรับใช้งานราว 10 ปี วัสดุรีไซเคิลและวัสดุที่นำกลับมาใช้ต่อได้จึงเป็นไอเดียหลัก เขาใช้ม้วนกระดาษมาเป็นโครงสร้างหลัก และใช้ตู้คอนเทนเนอร์เก่ามาเป็นผนัง ด้านบนเป็นหลังคากระจก 

 

หรืออย่างโปรเจกต์ The Metal Shutter House คอนโดมิเนียมที่ย่านเชลซี นิวยอร์กในปี 2010 ด้วยความที่ตั้งอยู่รายล้อมด้วยตึกสูง เขาจึงออกแบบให้ตัวอาคารเปิดรับแสงธรรมชาติ แต่ละห้องพักเพดานสูงและใช้กระจกพับที่เปิดและปิดได้ เพื่อใช้พลังงานธรรมชาติร่วม ในช่วงอากาศดีๆ ก็สามารถเปิดกระจกรับอากาศภายนอก ซึ่งเชื่อมโยงพื้นที่ภายในไปสู่ภายนอกได้ด้วย 

 

ในปี 2004 เขาได้ไปทำงานออกแบบให้กับ Pompidou Center ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างที่หาออฟฟิศชั่วคราวเขาก็พบว่าราคาค่าเช่าแพงมาก จึงคุยกับไดเรกเตอร์ของพิพิธภัณฑ์ Pompidou เพื่อขอเช่าพื้นที่บนดาดฟ้าของ Pompidou Center พร้อมอธิบายตัวออฟฟิศชั่วคราวที่สร้างจากกระดาษทั้งหมด ทางไดเรกเตอร์ตอบตกลง ยอมให้ ชิเงรุ บัน สร้างออฟฟิศชั่วคราวได้ฟรี โดยขอแลกให้คนที่มาพิพิธภัณฑ์ขึ้นไปเยี่ยมชมออฟฟิศเขาได้ด้วย

 

Shigeru Ban

Paper Temporary Studio – Paris, France, 2004

 

Shigeru Ban

Centre Pompidou-Metz, France, 2010

 

อาคาร Centre Pompidou-Metz (2010) เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะและโรงละคร จึงเป็นผลงานออกแบบที่ ชิเงรุ บัน สร้างขึ้นจากออฟฟิศชั่วคราวบนดาดฟ้าพิพิธภัณฑ์ Pompidou Center โดยเขาได้แรงบันดาลใจจากหมวกสานไม้ไผ่ของจีน เลือกใช้วัสดุไม้ลามิเนตสานด้วยแพตเทิร์นแปดเหลี่ยม คลุมด้วยไฟเบอร์กลาสเคลือบเทฟล่อนที่ปล่อยให้แสงธรรมชาติส่องผ่านสู่อาคาร โดยแต่ละชั้นยังมีหน้าต่างบานใหญ่ที่มองเห็นวิวสำคัญของเมืองปารีส 

 

โปรเจกต์อีกชิ้นที่ฝรั่งเศสของ ชิเงรุ บัน คือ La Seine Musicale อาคารแสดงดนตรีความจุราว 4,000 ที่นั่ง พร้อมด้วยพื้นที่อเนกประสงค์และโรงเรียนดนตรี เขาเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์เป็นวัสดุหุ้มอาคาร โดยจะมีปีกเคลื่อนที่ได้เพื่อย้ายตามแสงอาทิตย์ระหว่างวัน และด้วยตัวอาคารที่โดดเด่นก็ทำให้มิวสิกฮอลล์แห่งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองปารีสด้านตะวันตกไปโดยปริยาย

 

Shigeru Ban

La Seine Musicale, Paris vicinity, France, 2017

 

ผลงานที่นับว่าเป็นไฮไลต์ของ ชิเงรุ บัน โปรเจกต์หนึ่งก็คือ Mt. Fuji World Heritage Centre ที่เมืองชิซึโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2017 ซึ่งเขาเองเข้าร่วมแข่งขันออกแบบด้วยตัวเอง “ผมรู้เลยว่าคนส่วนใหญ่จะออกแบบเป็นภูเขาไฟฟูจิแน่นอน ผมเลยเลือกทำสิ่งที่แตกต่างด้วยการเอาภูเขาไฟฟูจิกลับหัว แล้วให้ภาพสะท้อนน้ำตรงสระน้ำด้านหน้าอาคารมองเห็นภูเขาไฟฟูจิได้ปกติด้วย” 

 

ตัวโครงสร้างเขาเลือกใช้ไม้สนแบบเดียวกับที่ขึ้นอยู่บนภูเขาฟูจิ ทางเดินวนขึ้นสูงไปสู่ชั้นบนของอาคารเลียนแบบการเดินขึ้นภูเขา มีวิดีโอภาพวิวทิวทัศน์เลียนแบบของจริงอยู่เป็นระยะตามความสูง และเมื่อถึงชั้นบนสุดเขาปล่อยพื้นที่ให้เห็นวิวภูเขาไฟฟูจิได้อย่างเต็มตา ที่น่าทึ่งอีกอย่างคือการนำระบบน้ำจากภูเขาฟูจิจำลองมาใช้ในอาคาร ตัวระบบปรับอากาศใช้น้ำจากภูเขาฟูจิ ไหลเวียนไปถึงบ่อน้ำด้านหน้าอาคาร ตามความหมายของภูเขาฟูจิที่ว่า ภูเขาแห่งน้ำ

 

Shigeru Ban

Mt. Fuji World Heritage Centre, Shizuoka, Japan, 2017

 

ครึ่งหลังของการบรรยาย ชิเงรุ บัน เน้นไปที่เรื่องการออกแบบเพื่อผู้ประสบภัยพิบัติที่เขาเริ่มต้นทำงานมาตั้งแต่ปี 1994 เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ ในตอนนั้นเขาเห็นว่าแม้ทางการจะสร้างบ้านพักชั่วคราวให้แล้วแต่ยังมีประชาชนมากมายคงอยู่ในเต็นท์ชั่วคราว เขาจึงเดินทางไปที่โกเบจึงได้รู้ว่าที่พักอาศัยชั่วคราวนั้นอยู่ไกลไปอีกหนึ่งชั่วโมง ผู้คนที่ต้องทำงาน เรียนหนังสือที่เมืองนั้นจึงเลือกอยู่ที่เต็นท์เพื่อให้สะดวกกับชีวิต สภาพอากาศที่หนาวเย็น ฝนที่ตก รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาดทำให้ ชิเงรุ บัน ตัดสินใจออกแบบบ้านอย่างรวดเร็วและสร้างเสร็จได้ด้วยตัวคนเดียว

 

บ้านที่เขาออกแบบใช้กระดาษม้วนมาเป็นผนังและโครงสร้างหลัก หลังคาใช้แผ่นเมมเบรน ฐานรากด้วยลังเบียร์ที่ขอมาจากโรงงานในท้องถิ่น ตัวบ้านขนาด 16 ตารางเมตร ใช้ทุนสร้างเพียง 250,000 เยน (69,000 บาท) ซึ่งเมื่อเทียบกับบ้านชั่วคราวอื่นๆ แล้วนับว่าราคาถูกกว่า ทั้งยังสร้างได้ง่าย รวดเร็วกว่า และเมื่อไม่ใช้งานแล้วก็ยังนำวัสดุที่ใช้ไปรีไซเคิลได้ด้วย

 

เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในประเทศรวันดาราวปี 1994 ที่เกิดสงครามและผู้คนกว่าสองล้านคนกลายเป็นผู้อพยพ ชิเงรุ บัน เห็นว่าเต็นท์ที่ทางองค์การสหประชาชาติมอบให้นั้นเป็นผ้าใบที่อบอุ่นไม่พอ ทั้งยังต้องตัดต้นไม้เพื่อนำมาใช้เป็นเสากางผ้าใบ เขาจึงเดินทางไปที่กรุงเจนีวา เพื่อขอพบและขอออกแบบที่พักชั่วคราวให้กับองค์การสหประชาชาติ สิ่งที่เขาออกแบบคือแผ่นเมมเบรนและม้วนกระดาษ ซึ่งสร้างง่าย กันแดดกันฝนได้ดี และราคาไม่แพง

 

Shigeru Ban

Paper Log Houses – Kobe, Japan, 1995

 

Paper Emergency Shelters For Unhcr – Byumba Refugee Camp, Rwanda, 1999

 

ชิเงรุ บัน มีส่วนช่วยผู้ประสบภัยพิบัติในฐานะสถาปนิกของเขาอีกหลายต่อหลายครั้ง ทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เฉิงตู ประเทศจีน, สึนามิ ที่ประเทศศรีลังกา, แผ่นดินไหวที่ L’Aquila, หรือเหตุการณ์โรงงานนิวเคลียร์ระเบิดที่ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น

 

“ถ้าเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ ผมจะลงพื้นที่เองเพื่อไปดูว่าสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร อากาศเป็นอย่างไร ท้องถิ่นนั้นมีอะไรที่นำมาใช้ได้บ้าง แล้วก็ปรึกษากับสถาปนิกพื้นที่ว่ามีคำแนะนำอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ออกแบบสิ่งที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น” ชิเงรุ บัน เล่าถึงการทำงานระหว่างลงพื้นที่ของเขา และเล่าต่อถึงโปรเจกต์สำคัญชิ้นหนึ่งที่มีจุดเริ่มต้นเมื่อบิชอฟจากประเทศนิวซีแลนด์ส่งอีเมลมาหาเขา

 

“ในปี 2011 เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ทำให้โบสถ์ The Christchurch Cathedral ที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเสียหาย ท่านบิชอฟได้ส่งอีเมลมาขอให้ช่วยออกแบบที่พักชั่วคราวสำหรับนักบวช พอเราได้คุยกันแล้ว ผมก็บอกว่าจะต้องใช้กระดาษม้วนเป็นโครงสร้างหลัก ผมรู้สึกได้ว่าท่านบิชอฟอาจไม่ค่อยแน่ใจในแผนนี้ ผมจึงบอกท่านว่าในภาษาญี่ปุ่นกระดาษแปลความหมายเดียวกับคำว่าพระเจ้า ท่านบิชอฟจึงเชื่อใจและยอมสร้างโบสถ์แห่งนี้ด้วยกระดาษ ซึ่งสุดท้ายก็ได้ใช้งานจริง และรองรับผู้คนได้มากกว่า 700 คน”

 

Shigeru Ban

Cardboard Cathedral, Christchurch, New Zealand, 2013

 

ช่วงสุดท้ายของการบรรยาย ชิเงรุ บัน ยังตอบคำถามผู้เข้าร่วมงาน และให้คำแนะนำดีๆ จนถึงคำถามสุดท้ายที่ว่า ถ้าสนใจจะเป็นสถาปนิกที่ดีต้องทำอย่างไรบ้าง เขาก็ตอบแบบจริงใจว่า “ออกเดินทางเลยครับ ไปดู ไปเห็นให้ทั่วโลกว่ามีอะไร เกิดอะไรขึ้นบ้าง มันคือประสบการณ์ตรงที่เราจะได้เรียนรู้” 

 

และการเดินทางทั่วโลกของเขาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ก็เป็นคำตอบในตัวเองว่าเขาเป็นสถาปนิกที่หวังให้ผู้คนไม่ว่าชาติใดภาษาใดได้มีที่พักอาศัยที่เหมาะสมกับการมีชีวิต เหมือนอย่างที่เขาตอบคำถามหนึ่งไว้ว่า “สถาปนิกสำหรับผมไม่ใช่งาน อย่างที่บอกว่าผมไม่สนใจเรื่องเงิน การออกแบบบ้านพักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยหรืองานออกแบบเชิงพาณิชย์สำหรับผมไม่ต่างกัน ผมสนใจเรื่องที่อยากทำมากกว่า และผมสนใจที่ได้สอนหนังสือ เพราะผมเองก็ได้รับการสอนมาจากอาจารย์ที่ดี สิ่งที่ผมทำได้ก็คือส่งต่อความรู้เหล่านี้ไปสู่สถาปนิกรุ่นต่อไป”

 

 

ภาพ: www.shigerubanarchitects.com

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X