×

เจาะลึกภารกิจเสินโจว-12 นักบินอวกาศ 3 นาย กับความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ของจีน

โดย Mr.Vop
18.06.2021
  • LOADING...
เสินโจว-12

องค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน หรือ CMSA ส่งนักบินอวกาศ 3 นาย ในภารกิจเสินโจว-12 ออกเดินทางด้วยจรวดลองมาร์ช-2เอฟ (Long March-2F) จากศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วเฉวียน (Jiuquan Satellite Launch Center) มณฑลกานซู ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ไปสถานีอวกาศของตน เมื่อเวลา 08:22 น. เช้าวานนี้ (17 มิถุนายน) ตามเวลาในประเทศไทย และสามารถเข้าต่อเชื่อมกับโมดูลเทียนเหอของสถานีอวกาศเทียนกงได้สำเร็จเมื่อเวลา 15:25 น. ของวันเดียวกัน

 

นักบินอวกาศทั้ง 3 นาย ได้แก่ เนี่ยไห่เซิ่ง รับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการภารกิจ ขึ้นบินวันนี้เป็นครั้งที่ 3 ติดตามด้วย หลิวโป๋หมิง ขึ้นบินวันนี้เป็นครั้งที่ 2 และทังหงโป ขึ้นบินวันนี้เป็นครั้งแรก หลังประตูเชื่อมต่อยานเปิดหากัน ทั้งทีมเคลื่อนออกจากยานเสินโจวเข้าสู่โมดูลหลักของสถานีอวกาศในเวลา 17:48 น. โดยปลอดภัย

 

เนี่ยไห่เซิ่ง (聂海胜) เกิดเดือนตุลาคม 1964 ที่มณฑลหูเป่ย เป็นนักบินกองทัพอากาศจีน เคยบินเครื่องบินขับไล่รุ่น F-5, F-6 และ F-7 อย่างปลอดภัยเป็นเวลา 1,480 ชั่วโมง แต่งงานกับเนี่ยเจี๋ยหลิน (聂捷琳) ทั้งคู่มีลูกสาวชื่อเนี่ยเทียนเสียง (聂天翔) เนี่ยไห่เซิ่งได้กลายเป็นนักบินอวกาศชุดแรกของจีนอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 1998 เป็นนักบินอวกาศชาวจีนคนแรกที่เข้าสู่อวกาศในฐานะนายพล โดยขึ้นสู่วงโคจรพร้อมกับผู้บัญชาการภารกิจ เฟยจุนหลง (费俊龙) ในตำแหน่งวิศวกรการบินของเที่ยวบินเสินโจว-6 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2005 และได้รับตำแหน่งผู้บบัญชาการภารกิจในเที่ยวบินเสินโจว-10 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2013 

 

การขึ้นสู่อวกาศของเนี่ยไห่เซิ่งในวันนี้ ทำให้เขากลายนักบินอวกาศที่อายุมากที่สุดของจีน ที่ได้เดินทางสู่อวกาศในวัย 57 ปี

 

 

หลิวโป๋หมิง (刘伯明) เกิดในเดือนกันยายน 1966 เป็นชาวอี้อาน มณฑลเฮยหลงเจียง มีชั่วโมงบินเครื่องบินขับไล่ 1,050 ชั่วโมง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นนักบินอวกาศชั้นพิเศษของกองพลน้อยนักบินอวกาศกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ยศพลอากาศตรี เคยออกเดินทางสู่อวกาศในตำแหน่งวิศวกรการบินของเที่ยวบินเสินโจว-7 ที่บัญชาการโดยจั๋ยจือกัง 翟志刚 ในเดือนกันยายน 2008

 

 

ทังหงโป (汤洪波) เกิดเดือนตุลาคม 1975 ที่เมืองเซียงถาน มณฑลหูหนาน มีชั่วโมงบินกับเครื่องบินขับไล่ 1,599 ชั่วโมง ได้รับเลือกให้เป็นนักบินอวกาศรุ่นที่สองของจีนในเดือนพฤษภาคม 2016 ได้รับเลือกให้เป็นนักบินอวกาศสำรองสำหรับภารกิจเสินโจว-11 ในเดือนธันวาคม 2019 และวานนี้ถือเป็นครั้งแรกของทังหงโปที่ได้ออกเดินทางสู่อวกาศในตำแหน่งวิศวกรการบินกับภารกิจเสินโจว-12 

 

ยานเสินโจว (神舟)

ยานอวกาศ ‘เสินโจว’ มีความหมายถึง เรือศักดิ์สิทธิ์ เป็นยานอเนกประสงค์ในโครงการ 921 ของจีน ลักษณะคล้ายยานโซยุซของรัสเซีย แต่มีขนาดใหญ่กว่า ออกแบบตามที่จีนลงได้นามในข้อตกลงกับรัสเซียในปี 1995 สำหรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีโซยุซ มีความยาว 9.25 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.80 เมตร ปริมาตร 14 ลูกบาศก์เมตร มีโมดูลสามโมดูลที่สามารถแยกออกจากกันได้ คือโมดูลออร์บิทัลที่อยู่ด้านหน้า (轨道舱) โมดูลเดินทางกลับโลก (返回舱) ที่อยู่ตรงกลาง และโมดูลบริการที่อยู่ด้านท้าย (推进舱) สามารถใช้งานได้ทั้งแบบมีนักบินบังคับหรือไม่มีนักบินบังคับ 

 

ยานเสินโจวลำแรกคือเสินโจว-1 ซึ่งเป็นยานไร้คนบังคับ ออกเดินทางจากโลกในเดือนพฤศจิกายน 1999 จากนั้นก็มีการส่งยานเสินโจวที่ค่อยๆ ปรับปรุงระบบการบินต่างๆ จนมาถึงลำที่ 12 ที่ออกจากโลกไปเมื่อเช้าวานนี้ โดยหลักแล้วยานเสินโจวถูกวางตำแหน่งไว้เพื่อเป็นยานที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่หลักในโครงการสถานีอวกาศเทียนกง (天宫号空间站) ยานลำที่สำคัญที่สุดในโครงการคือเสินโจว-5 ที่ทำหน้าที่ส่ง หยางลี่เว่ย 杨利伟 นักบินอวกาศคนแรกของจีนสู่อวกาศด้วยยานของจีนเอง

 

 

โครงการสถานีอวกาศเทียนกง (天宫号空间站)

จีนวางแผนจะสร้างสถานีอวกาศของตนเองมานานหลายปีในชื่อ ‘เทียนกง’ สื่อความหมายถึง ‘พระราชวังแห่งสรวงสวรรค์’ โดยแยกออกเป็น 3 เฟส เฟสแรกคือเทียนกง-1 โดยส่งโมดูลหลักออกเดินทางไปกับจรวด Long March 2F/G จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วฉวน เวลา 20:16 น. ตามเวลาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2011 วัตถุประสงค์เพื่อทดสอบการเชื่อมต่อและวางแผนหาตำแหน่งโคจร รวมทั้งสังเกตและปรับปรุงประสิทธภาพต่างๆ ในเฟสแรกนี้มีการส่งยานเสินโจวไป 3 ลำ ลำแรกคือ ยานเสินโจว-8 เป็นยานไม่มีนักบิน ออกเดินทางโดยจรวด Long March-2F จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วฉวน เวลา 04:58 น. เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2011 เพื่อทดสอบการเชื่อมต่อเข้ากับจุด Docking และเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจที่มีนักบินอวกาศจริงที่กำลังจะตามมา 

 

ยานเสินโจว-9 เป็นยานอวกาศที่ 2 ในโครงการเทียนกง แต่เป็นยานลำแรกที่มีผู้โดยสารเดินทางไปด้วย โดยยานเสินโจว-9 นักบินอวกาศไป 3 นาย ออกทางโดยจรวด Long March-2F จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วฉวน เวลา 17:37 น. ตามเวลาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2012 สิ่งสำคัญที่สุดของเสินโจว-9 คือการนำนักบินอวกาศกลับถึงพื้นโลกให้ปลอดภัย จากนั้นในอีก 1 ปีต่อมา ยานเสินโจว-10 ก็ได้นำ เนี่ยไห่เซิ่ง (聂海胜) สู่สถานีอวกาศเทียนกง-1 ในตำแหน่งผู้บัญชาการภารกิจ ตามที่เล่ามาด้านบน ยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วฉวนเมื่อเวลา 16:38  วันที่ 11 มิถุนายน 2013 รอบนี้ไปเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ รวมทั้งยังได้นำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ขึ้นไปบนสถานีอวกาศเทียนกง-1 ด้วย

 

จบจากสถานีอวกาศเทียนกง-1 ทางจีนก็เข้าสู่เฟส 2 โดยมีการส่งโมดูลหลักของสถานีอวกาศเทียนกง-2 ขนาดความยาว 10.4 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.35 เมตร ซึ่งเป็นขนาดเดียวกับโมดูลหลักของสถานีอวกาศเทียนกง-1 โมดูลหลักของเทียนกง-2 ออกเดินทางขึ้นสู่วงโคจรในเดือนกันยายน 2016 ในเฟสนี้มีการส่งยานบรรทุกสัมภาระคือ เทียนโจว-1 ขึ้นไปต่อเชื่อมกับโมดูลหลักด้วย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการส่งนักบินอวกาศทีมแรกขึ้นไปอยู่อาศัยในระยะ 30 วัน ในเฟสนี้มีการส่งยานโดยสารไปเชื่อมต่อเพียงลำเดียว นั่นคือยานเสินโจว-11 โดยนำนักบินไปด้วยเพียง 2 นาย แทนที่จะเป็น 3 นายตามจำนวนที่นั่ง ทั้งนี้ เพื่อเว้นที่ว่างไว้บรรทุกเสบียงและสัมภาระเพิ่มเติม การทดลองอยู่อาศัยของนักบินอวกาศในเฟสนี้เป็นการเตรียมตัวสู่เฟสที่ 3 ของโครงการเทียนกงที่กำลังจะตามมา

 

(สถานีอวกาศเทียนกง-1 และเทียนกง-2 หมดอายุใช้งาน ตกลงสู่ชั้นบรรยากาศโลกในเดือนเมษายน 2018 และกรกฏาคม 2019 ตามลำดับ)

 

 

สถานีอวกาศเทียนกงเฟส 3 

สถานีอวกาศรุ่นใช้งานจริงขององค์การอวกาศจีน และถือเป็นสถานีอวกาศแ​ห่งชาติ​จีนหรือ CSS ที่จะมีอายุใช้งานไม่ต่ำกว่า 10 ปี สถานีอวกาศขนาด 66 ตันนี้จะลอยสูงจากพื้นโลกที่ความสูงระดับ 340-450 กิโลเมตร ในวงโคจร LEO (Low Earth Orbit) ควบคุมโดย Beijing Aerospace Command and Control Center เมื่อประกอบทุกโมดูลเข้าด้วยกันจนสำเร็จในอนาคต สถานีอวกาศจีนแห่งนี้จะมีขนาดพอๆ กับสถานีอวกาศเมียร์ของรัสเซียในอดีต หรือประมาณ 1/6 ของสถานีอวกาศนานาชาติในปัจจุบัน

 

สถานีอวกาศเทียนกงเฟสสุดท้ายนี้มีแกนกลางคือโมดูลเทียนเหอ (天和) ในความหมายถึง ‘ความสามัคคีแห่งสวรรค์’ (สีส้มในภาพ) ที่มีชื่อนี้อาจเพราะเป็นส่วนที่อยู่ตรงกลางทำหน้าที่เป็นโมดูลหลักในการเชื่อมต่อกับโมดูลอื่นๆ ทุกโมดูล มีขนาดใหญ่กว่าสถานีอวกาศเทียนกงในเฟสแรก คือ มีความยาว 16.6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4.2 เมตร ถือเป็นโมดูลยานอวกาศที่ใหญ่และหนักที่สุดเท่าที่เคยสร้างมาของจีน โมดูลเทียนเหอออกเดินทางจากโลกโดยจรวดขนส่งลองมาร์ช-5บี วาย2 (Long March-5B Y2) จากศูนย์ปล่อยยานอวกาศเหวินชาง มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน เวลา 10:18 น. เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2021 ตามเวลาในประเทศไทย เพื่อขึ้นไปโคจรรอรับโมดูลอื่นที่จะตามมา

 

ด้านหลังของโมดูลเทียนเหอคือส่วนของยานเทียนโจว-2 (天舟) (สีบานเย็นในภาพ) ในความหมายถึง ‘นาวาสวรรค์’ เป็นโมดูลของยานบรรทุกสัมภาระที่มีขนาดเท่าโมดูลสถานีอวกาศเทียนกง-1 ในอดีต โมดูลเทียนโจว-2 ออกเดินทางจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศเหวินชาง มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน เวลา 19:55 น. เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2021 ทำหน้าที่นำเชื้อเพลิงหนัก 2 ตัน เสบียงอาหาร ออกซิเจน และสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพอีก 4.8 ตัน ขึ้นไปรอคอยนักบินอวกาศที่จะเดินทางตามไปภายหลัง ในอนาคตจะมีการส่งยานบรรทุกในซีรีส์เทียนโจวตามไปอีกเรื่อยๆ กำหนดไว้เบื้องต้นคือเทียนโจว-3 ในเดือน กันยายน 2021, เทียนโจว-4 ในเดือนเมษายน และเทียนโจว-5 ในเดือนตุลาคม 2022 ตามลำดับ

 

ด้านหน้าของโมดูลเทียนเหอ (สีเหลืองในภาพ) คือยาน ‘เสินโจว’ หมายเลขต่างๆ ที่จะเดินทางไปเชื่อมต่อและเดินทางกลับสู่โลก เพื่อนำนักบินอวกาศหมุนเวียนขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ และในวานนี้ก็เป็นลำดับของยานเสินโจว-12 ในการนำนักบินอวกาศทั้ง 3 นายคือ เนี่ยไห่เซิ่ง หลิวโป๋หมิง และทังหงโป ที่กล่าวมาข้างต้นไปสู่สถานีอวกาศ โดยมีกำหนดจะปฏิบัติหน้าที่บนวงโคจรนานถึง 3 เดือน ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติภารกิจในอวกาศยาวนานที่สุดของจีน จากนั้นก็จะอาศัยยานเสินโจวลำนี้ในการเดินทางกลับสู่ผิวโลกต่อไป

 

โมดูลที่เหลือคือโมดูลห้องทดลองชื่อเหวิ่นเทียน (问天) และเมิ่งเทียน (梦天) ซึ่งแต่ละโมดูลจะมีขนาดเท่ายานเทียนกง-1 ในอดีต (สีเขียวและน้ำเงินในภาพตามลำดับ) เป็นส่วนที่จะเดินทางตามขึ้นไปประกอบเข้ากันเป็นสถานีอวกาศที่สมบูรณ์ มีกำหนดจะออกเดินทางกลางปีและปลายปีหน้าตามลำดับ หลังจากนั้น ทางจีนก็จะเปิดโอกาสให้นานาชาติที่เป็นพันธมิตรสามารถนำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ขึ้นไปใช้งานห้องแล็บลอยฟ้านี้ได้ โดยจะแบ่งปันความรู้ร่วมกัน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

FYI
  • นักบินอวกาศคนแรกของจีนคือ เทย์เลอร์ กัน-จิน หวาง (王赣骏) (เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 1940)  ออกเดินทางไปกับกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์เที่ยวบินที่ 7 หมายเลขเที่ยวบิน STS-51-B ของ NASA ในปี 1985 แต่หากนับนักบินอวกาศที่เดินทางด้วยยานที่จีนสร้างขึ้นเอง ก็ต้องเป็น หยางลี่เว่ย ในยานเสินโจว-5
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X