คำถามที่ว่าเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนไปบรรจบยังจุดที่ตลาดให้การยอมรับ ผู้ใช้งานมั่นใจที่จะใช้งานกันอย่างแพร่หลาย แล้วกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสถานีเติมน้ำมันหรือ ‘ปั๊ม’ จะไปอยู่ ณ จุดใด ได้กลายเป็นคำถามที่ถูกถามมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงระยะหลังๆ มานี้
ล่าสุดในการเปิดเผยแผนงานพัฒนาธุรกิจเพื่อปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ของ Royal Dutch Shell บริษัทที่ดำเนินกิจการด้านก๊าซและน้ำมันข้ามชาติจากเนเธอร์แลนด์-สหราชอาณาจักร หรือ ‘Shell’ ได้ออกมาเปิดเผยเป้าหมายของพวกเขาแล้วว่า จะดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ EV ให้ครบ 500,000 จุดภายในปี 2025
Royal Dutch Shell ระบุว่า พวกเขาจะเร่งขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจากปัจจุบันที่มีทั้งหมด 60,000 จุดในโครงข่าย ให้เพิ่มเป็น 500,000 จุดภายในปี 2025 หรืออีก 4 ปีต่อจากนี้
ความตั้งใจหลักๆ ของ Royal Dutch Shell หรือ Shell ในครั้งนี้ ก็คือการทรานส์ฟอร์มธุรกิจของพวกเขาให้มุ่งไปตอบสนองเทรนด์ตลาดที่หันมาเป็นยานยนต์พลังงานสะอาดมากขึ้น และเพื่อพัฒนาธุรกิจและสินค้าของบริษัทให้มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ให้สำเร็จภายในปี 2050 หรืออีก 29 ปีต่อจากนี้ตามความร่วมมือในข้อตกลงปารีสที่พวกเขาตั้งเป้าเอาไว้
นอกจากนี้ Shell ยังจะให้ค่าตอบแทนกับพนักงานกว่า 16,500 คนอีกด้วยเพื่อเป็นแรงจูงใจ หากว่าองค์กรสามารถดำเนินตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามสัดส่วนที่ระบุเอาไว้ได้สำเร็จ เช่น
- ลดคาร์บอนไดออกไซด์ 6-8% ภายในปี 2023
- ลดคาร์บอนไดออกไซด์ 20% ภายในปี 2030
- ลดคาร์บอนไดออกไซด์ 45% ภายในปี 2035
- ลดคาร์บอนไดออกไซด์ 100% ภายในปี 2050
ทั้งนี้ Shell ยังเปิดเผยอีกด้วยว่า ในปี 2018 ที่ผ่านมา พวกเขาได้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่สูงที่สุดนับตั้งแต่บริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจ ซึ่งคาดว่าสูงมากถึง 1.7 กิกะตันต่อปีเลยทีเดียว ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันในปี 2019 ที่ผ่านมานั้นถือเป็นปริมาณการผลิตนำ้มันที่ถึงจุดพีกที่สุดเท่าที่บริษัทเคยทำได้ โดยจากการคาดการณ์ของบริษัทนั้นเชื่อว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันของ Shell ต่อจากนี้จะลดลงเรื่อยๆ โดยคาดว่าจะลดลง 18% ภายในปี 2030 และ 45% ภายในปี 2050 (เท่ากับว่ายังคงผลิตมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่ออิงจากฐานการผลิตที่ 1.9 บาร์เรลต่อวันในปี 2019)
Ben van Beurden ซีอีโอ Royal Dutch Shell ระบุว่า “กลยุทธ์การเร่งการเติบโตของเราจะเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และจะนำเสนอคุณค่าที่ดีที่สุดให้กับผู้ถือหุ้น ลูกค้า และสังคม
“เราจำเป็นจะต้องส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ลูกค้าต้องการให้ได้ แล้วผลิตภัณฑ์นั้นๆ ก็จะต้องเป็นผลิตที่ส่งผลกระทบเชิงลบกับส่ิงแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะเดียวกันเราจะใช้ศักยภาพความแข็งแกร่งของเราในการสร้างพอร์ตโฟลิโอทางธุรกิจสำหรับการแข่งขันกับผู้ประกอบการเจ้าอื่นๆ ในช่วงที่เราทรานส์ฟอร์มตัวเองไปสู่การเป็นธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์
“ไม่ว่าลูกค้าของเราจะเป็นผู้ใช้ยานยนต์ เจ้าของบ้านหรือกลุ่มธุรกิจ เราก็จะใช้สเกลระดับโลกและแบรนด์ที่น่าเชื่อถือของ Shell ในการมุ่งเติบโตในตลาดที่มีดีมานด์ความต้องการผลิตภัณฑ์พลังงานสะอาดและบริการที่เป็นเลิศ รวมไปถึงการทำให้กระแสเงินสดของเราสามารถคาดการณ์ได้และสร้างผลตอบแทนที่สูง”
อย่างไรก็ดี หากมองในแง่กลยุทธ์ธุรกิจก็จะพบว่า แม้เป้าหมายจะมุ่งไปสู่การดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาดให้สำเร็จให้ได้ก็จริง แต่ Shell จะเน้นหลักไปที่การจำหน่ายพลังงานสะอาดให้ผู้บริโภคมากกว่า ขณะที่คู่แข่งของพวกเขาในตลาดเดียวกันอย่าง BP จะเน้นไปที่การลงทุนในเชิงการผลิตพลังงานทดแทนมากกว่า ซึ่ง ณ ขณะนี้บริษัทผู้ดำเนินกิจการด้านน้ำมันและก๊าซในยุโรปหลายแห่งเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมกันอย่างพร้อมเพรียงแล้ว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.shell.com/media/news-and-media-releases/2021/shell-accelerates-drive-for-net-zero-emissions-with-customer-first-strategy.html
- https://techcrunch.com/2021/02/11/planning-500000-charging-points-for-evs-by-2025-shell-becomes-the-latest-company-swept-up-in-ev-charging-boom/?tpcc=ECTW2020
- https://edition.cnn.com/2021/02/11/business/shell-oil-production-peak/index.html?utm_content=2021-02-11T17%3A30%3A12&utm_medium=social&utm_source=twCNNi&utm_term=link