วานนี้ (2 มีนาคม) ทางการเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน เปิดเผยว่าท้องฟ้าจำลองเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Planetarium) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้ มีกำหนดทดลองเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายนนี้
ท้องฟ้าจำลองเซี่ยงไฮ้ตั้งอยู่ที่เขตใหม่ผู่ตง มีพื้นที่ใช้สอยรวมมากกว่า 38,000 ตารางเมตร และจะเป็นท้องฟ้าจำลองขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (วัดจากพื้นที่ใช้สอย) โดยถูกออกแบบมาให้มีอาคารหลัก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อาทิ ศูนย์สำรวจสำหรับเยาวชน และหอดูดาวสาธารณะ 2 แห่ง รวมทั้งพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการขนาด 12,500 ตารางเมตร
ท้องฟ้าจำลองแห่งนี้ได้รวบรวมชิ้นส่วนอุกกาบาตราว 70 ชิ้น ที่ได้มาจากดวงจันทร์ ดาวอังคาร และดาวเคราะห์น้อยเวสตา ตลอดจนสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ มากกว่า 120 ชิ้น และผลงานต้นฉบับจาก เซอร์ ไอแซก นิวตัน, กาลิเลโอ กาลิเลอี, โจฮันเนส เคปเลอร์ และผู้เชี่ยวชาญเลื่องชื่อคนอื่นๆ
ทั้งนี้ ท้องฟ้าจำลองจะปรับใช้เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการนำเสนอแผนภาพข้อมูล การจำลองภาพเสมือนจริง (VR) เทคโนโลยียืนยันตัวบุคคลหรือไบโอเมตริกซ์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้ทางดาราศาสตร์ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: สำนักข่าวซินหัว