×

เกิดอะไรขึ้นกับภาค Shadow Banking ในจีน? นักวิเคราะห์เตือนอาจคุกคามเศรษฐกิจในวงกว้าง!

25.08.2023
  • LOADING...

การเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคธนาคารเงาในจีนตั้งแต่ปี 2010 ได้รับความสนใจจากนักวิเคราะห์จำนวนมาก ทั้งในและนอกประเทศจีน เนื่องจากหลายคนยังคงกังวลกับบาดแผลจากวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯ เมื่อช่วงปี 2008 ที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก เนื่องจากทั้ง 2 เหตุการณ์นี้มาจากความเปราะบาง ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิด ในภาคการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) เหมือนกัน

 

ภาคธนาคารเงาในจีนคืออะไร?

 

ธนาคารเงา (Shadow Bank) หมายถึง บริษัทการเงินที่ทำหน้าที่คล้ายกับธนาคาร คือเป็นธุรกิจตัวกลางที่ทำหน้าที่รับฝากเงินจากผู้ที่ต้องการออมและนำเงินฝากไปปล่อยกู้ให้แก่ผู้ที่ต้องการเงินทุน แต่ไม่ได้อยู่ในภาคการธนาคารทางการ (Formal Banking Sector) 

 

หรือหมายถึงกลุ่มองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในระบบธนาคารตามปกติ แต่มีความเกี่ยวข้องกับการระดมเงินทุน การจัดการสภาพคล่องและระยะเวลาชำระหนี้ การรับโอนความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ และการใช้ Financial Leverage ทั้งทางตรงและทางอ้อม 

 

ซึ่งจะหมายความว่า บริษัทเหล่านี้จะขาดการกำกับดูแลความเสี่ยงที่เข้มงวดต่างๆ ที่ธนาคารพึงมี รวมไปถึงกฎระเบียบการประกันเงินฝาก หรือมีธนาคารกลางเป็นที่พึ่งแห่งสุดท้าย (Last Resort)

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารเงากลับมีบทบาทอย่างมากในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน เนื่องจากเป็นช่องทางหนึ่งในการระดมเงินทุนไปยังภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต อีกทั้งยังสร้างทางเลือกให้แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการได้เลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ผู้คนและภาคธุรกิจต่างๆ เข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายมากกว่าธนาคารปกติ เนื่องจากมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดน้อยกว่า และสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่า แม้ว่า Leverage ในลักษณะนี้ย่อมต้องแลกกับความปลอดภัยก็ตาม

 

โดยประโยชน์และความเสี่ยงเหล่านี้ได้สร้างความลำบากใจให้กับรัฐบาลและผู้กำกับดูแลของจีนไม่น้อย ในการพยายามรักษาสมดุลระหว่างการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจำกัดความเสี่ยง

 

ส่องประเภทธนาคารเงาในจีน

 

สำหรับธนาคารเงาในจีนแบ่งได้หลายประเภทตามการให้บริการ เช่น 1. ผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management Products:WMPs) ที่มักเสนอผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนในอัตราคงที่ และมากกว่าการฝากเงินแบบดั้งเดิม โดยได้อัตราผลตอบแทนมาจาก Performance หรือมูลค่าของสินทรัพย์ที่ใช้สร้างผลิตภัณฑ์ 2. ทรัสต์ (Trust) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลและบริหารจัดการทรัพย์สินในกองทรัสต์ ผ่านการออกหลักทรัพย์หรือแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT) 3. อื่นๆ เช่น Peer-to-peer Lending และ Micro-Financing เป็นต้น

 

โดยกองทรัสต์อาจเข้าไปซื้อลูกหนี้มาจากธนาคารพาณิชย์ โดยที่หนี้นั้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดจากการปล่อยกู้ให้แก่รัฐบาลท้องถิ่น หนี้ที่เกิดจากการลงทุนหรือให้กู้แก่กิจการอสังหาริมทรัพย์ บริษัทเหมืองถ่านหิน และบริษัทที่รัฐบาลท้องถิ่นจัดตั้งขึ้น เป็นต้น

 

ดังนั้น แหล่งรายได้ของกองทรัสต์ที่จะนำมาจ่ายผลตอบแทนจึงมาจากคุณภาพในการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าว เมื่อลูกหนี้เกิดปัญหาไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ กองทรัสต์ก็อาจไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้เช่นกัน ธุรกรรมของกองทรัสต์นี้จึงมีลักษณะคล้ายกับการออกตราสาร Collateralized Debt Obligations (CDOs) ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤตในสหรัฐอเมริกาและยุโรปในช่วงปี 2008

 

ภาคธนาคารเงาสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนและโลกแค่ไหน?

 

การประมาณขนาดของ Shadow Banking ในจีนมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับคำจำกัดความ โดยอยู่ที่ตั้งแต่ 3 ล้านล้านหยวน (กว่า 4 แสนล้านดอลลาร์) ไปจนถึง 50 ล้านล้านหยวน (หรือราว 7 ล้านล้านดอลลาร์) 

 

โดยตามรายงานของ Moody’s Investors Service เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า การให้กู้ยืมโดยบริษัทที่ไม่มีใบอนุญาตธนาคารในจีน มีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านล้านหยวน คิดเป็นประมาณ 40% ของ GDP จีน

 

ขณะที่ตามข้อมูลจากคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board: FSB) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่ม G20 เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาและกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแล Shadow Banking ระบุในรายงานประจำปีฉบับล่าสุดว่า ณ สิ้นปี 2021 ขนาดสินทรัพย์ของบริษัททรัสต์ในจีน อยู่ที่ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงประมาณ 22% เมื่อเทียบกับปี 2017 เนื่องจากทางการจีนได้ออกมาตรการกำกับดูแลธนาคารและบริษัททรัสต์เพิ่มเติมในปี 2017

 

อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นปี 2021 มูลค่าสินทรัพย์บริษัททรัสต์ในจีนยังคิดเป็น 79% ของ มูลค่าสินทรัพย์บริษัททรัสต์ทั่วโลกมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์อยู่

 

ด้วยขนาดภาคธนาคารเงาที่ใหญ่ประมาณนี้ ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนกังวลว่า จากภาวะเศรษฐกิจมหภาคและแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นอาจก่อให้เกิด ‘วิกฤตสภาพคล่อง’ ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมธนาคารเงา (Shadow Banking) ของจีน และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในภาคการเงินในวงกว้าง และท้าทายเศรษฐกิจจีนที่กำลังอ่อนแออยู่แล้ว

 

เกิดอะไรขึ้นกับธนาคารเงาในจีน?

 

โดยล่าสุด มีรายงานว่า Zhongrong International Trust พลาดการชำระเงิน (Missed Payment) สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากกว่า 30 รายการแล้ว ท่ามกลางรายงานปัญหาสภาพคล่องของ Zhongzhi Enterprise Group นอกจากนี้ ปัญหาดังกล่าวยังกำลังส่งผลต่อบริษัทจดทะเบียนอย่างน้อย 6 แห่ง 

 

ปัญหา Shadow Banking ระลอกนี้เกิดจากอะไร? 

 

Shen Meng ผู้อำนวยการบริษัท Chanson & Co ในปักกิ่ง กล่าวว่า “ปัญหาของ Zhongrong สามารถมองได้ว่า เป็นผลกระทบจากวิกฤตเงินสด (Cash Crunch) ในหมู่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่าง Country Garden ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลจีนที่พยายามลดภาระหนี้สิน (Deleverage) ในภาคส่วนนี้”

 

เนื่องจาก “รูปแบบธุรกิจของ Zhongrong คือการจัดหาเงินทุนให้กับนักพัฒนาที่มีปัญหา ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นรูปแบบธุรกิจที่ค่อนข้างปกติสำหรับบริษัททรัสต์ในจีน” Shen Meng กล่าว

 

ตามข้อมูลของ Bloomberg Economics ระบุว่า อุตสาหกรรมทรัสต์ในจีนลงทุนหรือมี Exposure ในภาคอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 2.2 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็น 10% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ณ สิ้นปี 2022 โดยผลิตภัณฑ์ทรัสต์จำนวนมากก็ถูกหนุน (Back) โดยโครงการอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทที่มีปัญหา รวมถึง China Evergrande Group ด้วย

 

จากรายงานประจำปีของ Zhongrong มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) มูลค่า 629,000 ล้านหยวน (หรือ 86.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2022 โดยจำนวนนี้เกือบ 11% เป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดย Zhongrong ยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการของบริษัทอสังหาที่มีปัญหา เช่น Shimao Group Holdings และ Sunac China Holdings เป็นต้น

 

จับตาผลกระทบจ่อลุกลาม?

 

Shen Meng ยังมองอีกว่า “การล่มสลายของ Zhongrong หรือบริษัทบริหารความมั่งคั่งขนาดใหญ่อื่นๆ อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระบบธนาคารเงาของจีน ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายต่อบริษัททรัสต์อื่นๆ แม้แต่บริษัทที่มีงบดุลค่อนข้างดี”

 

ขณะที่ CreditSights ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยเครดิตในนิวยอร์ก สหรัฐฯ กล่าวว่า วิกฤตทางการเงินที่ Zhongrong ดูเหมือนจะไม่เป็นปัญหาเชิงระบบ เนื่องจาก “ขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ของบริษัทมูลค่า 629,000 ล้านหยวน และจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับทั้งอุตสาหกรรมทรัสต์ ที่มีมูลค่า 21 ล้านล้านหยวนของจีน และภาคการธนาคารที่มีขนาดใหญ่กว่า”

 

อย่างไรก็ตาม หากมีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มเติมในภาคธนาคารเงาของจีนก็อาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุนและความเชื่อมั่นของตลาดเพิ่มเติม และทำให้เสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะสั้นต้องถูกทดสอบ

 

โดยหนังสือพิมพ์ South China Morning Post รายงานว่า Zhongrong พลาดการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยจากผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่ง มูลค่ารวม 140 ล้านหยวน ที่ขายให้กับบริษัทจดทะเบียนในประเทศหลายแห่ง รวมถึง KBC Corp. ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์คาร์บอน และ Nacity Property Service ตามเอกสารที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์

 

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า Zhongzhi กำลังเจรจากับ KPMG ให้ตรวจสอบงบดุลของบริษัท เพื่อวางแผนปรับโครงสร้างหนี้ และเพื่อทบทวนเพื่อจ่ายคืนให้กับนักลงทุน

 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X