×

การขายอีโรติก เซ็กซ์ ความใคร่ และความสัมพันธ์ของผู้ชายในวงการแฟชั่น (*NSFW)

โดย OPOLOP POPPY
29.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีหลายแบรนด์แฟชั่นที่มักทำการ Sex-Sell โดยเน้นไปที่ ‘ฝ่ายชายเป็นผู้ถูกกระทำ’ เพียงแต่จะมากน้อยขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมที่เปิดกว้างยอมรับเรื่องลักษณะนี้
  • สำหรับโลกแฟชั่นในทศวรรษนี้ที่มีการแข่งขันกันสูงสุดโต่ง การนำเรื่องเซ็กซ์กลับมาเรียกร้องความสนใจจึงกลายเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่แบรนด์ชั้นนำหยิบมาใช้ เพราะมันก่อให้เกิดการแชร์เป็นวงกว้างในระยะเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยสร้างสภาวะตื่นตัวและอารมณ์ร่วมกับผลงาน

* บทความนี้มีภาพประกอบที่ต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านและรับชม

 

ผมมีเรื่องเล่าแกมติดเรตให้รุ่นน้องฟังอยู่บ่อยครั้งว่า ถ้าหากคุณเป็นวัยรุ่นในช่วงยุค 80-90s แล้วเกิดนึกอยากโตไวข้ามเป็นผู้ใหญ่ด้วยการคิดที่จะซื้อหนังสือภาพอีโรติกมาดูเพื่อศึกษา หรือจะเพื่อนำไปอวดเพื่อนในโรงเรียนให้เห็นว่าเป็นคนเก๋าขนาดไหน แต่ใจดันไม่กล้าพอที่จะเดินตรงไปยังแผงเพื่อหยิบเล่มที่เล็งไว้เพราะรู้สึกเขินอาย กลัวคนขายจะทำสีหน้าไม่เป็นมิตรและมองว่าเป็นเด็กลามก มีวิธีทางแก้ที่หลายคนนิยมทำกันก็คือ หันไปซื้อนิตยสารแฟชั่นแทน !?!…

 

คุณผู้อ่านอย่าเพิ่งแปลกใจกับตัวเลือกทดแทนนี้ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะโลกแฟชั่นในช่วง 30-40 ปีก่อนหน้าเต็มไปด้วยการนำเสนอความเซ็กซี่ผ่านอาภรณ์ และเรือนร่างของเหล่านางแบบ-นายแบบ จนไม่ต่างอะไรกับการดูหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนตัวผมเองแม้ไม่ได้มีเจตนาซื้อนิตยสารแฟชั่นมาเพื่อนำไปใช้ในทำนองอย่างว่า แต่ก็รู้สึกเขินอายทุกครั้งที่พ่อแม่แอบเห็นว่ากำลังดูรูปรันเวย์และลุคบุ๊กของแบรนด์ดังๆ อย่าง Gucci, Gianni Versace, Jean Paul Gaultier และอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยกองทัพนางแบบโชว์นมหรา นายแบบแก้ผ้าโชว์แก้มก้น และเน้นสัดส่วนความเป็นชายอย่างชัดเจน ซึ่งทั้งหมดกลายเป็นเรื่องธรรมดาจนบางครั้งดูเหมือนโดดเด่นกว่าเสื้อผ้าด้วยซ้ำไป

 

แคมเปญของ Versace ในยุค 90s

 

แคมเปญของ Calvin Klein ที่โดนต่อต้านในปี 1995 เพราะการนำเสนอที่เลียนแบบการคัดเลือกนักแสดงชายสำหรับหนังโป๊

 

การขายกายภาพของตัวแบบเพื่อนำไปสู่เรื่องอีโรติกเป็นสิ่งที่นำมาใช้กับโลกของแฟชั่นอยู่เสมอ แต่ก่อนที่จะนำผู้อ่านไปเจอกับเรื่องราวที่ว่านั้น ผมขอเล่าเรื่องอะไรที่มันซอฟต์ๆ เพื่อเป็นการโหมโรง

 

หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับการให้ความสำคัญทางด้านกายภาพของนายแบบเพื่อสร้างแรงดึงดูดนั้น ผมคงต้องยกให้แบรนด์ที่ชื่อ Rick Owens เพราะเป็นนักออกแบบที่มักหยิบเอาเรื่องเซ็กซ์และเรือนร่างของมนุษย์มาเล่นเสมอ ดังเช่นการคัดเลือกนายแบบร่างบางผิวขาวราวกับเรือนร่างของหญิงสาวเช่นเดียวกับตัวละครหนุ่มๆ ในการ์ตูนและภาพยนตร์แนว Boy’s Love (การนำเสนอเรื่องความสัมพันธ์อันแสนโรแมนติกระหว่างชาย-ชาย) ไปจนถึงการไถ ‘ขนหน้าแข้ง’ ของบรรดานายแบบ ซึ่งหลายคนเห็นแล้วอาจแปลกใจว่าทำไมถึงต้องกำจัดสิ่งที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของบุรุษเพศ แต่การทำลักษณะนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สร้างความหลงใหลในตัวแบบได้อย่างแยบยล

 

มีหลายผลสำรวจที่นำมาสนับสนุนความคิดนี้ อย่างเช่นนิตยสาร Women’s Health ในปี 2016 ที่สำรวจความคิดของสาวๆ ในหัวข้อว่า ‘คุณคิดอย่างไรกับหนุ่มๆ ที่จัดการกับขนหน้าแข้งของตัวเอง?’ ผลปรากฏว่า 28.5% ชอบให้มีการเล็มรักษาความยาว ส่วนอีก 22.2% ชอบผู้ชายที่โกนขนหน้าแข้งจนเกลี้ยงเกลา ผลสรุปว่าเมื่อรวมเอาความชื่นชอบให้มีการกรูมมิ่งขนหน้าแข้งของหนุ่มๆ แล้วมีเปอร์เซ็นต์เกินครึ่ง ดังนั้นสิ่งที่ Rick Owens ทำจึงเป็นการเน้นย้ำถึงเสน่ห์ของชายวัยรุ่นตอนปลาย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่กายภาพสร้างแรงดึงดูดต่อสาวๆ (และหนุ่มๆ) ครึ่งค่อนโลกได้เป็นอย่างดี

 

จากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับเรียวขาของหนุ่มๆ ที่มีผลต่อรสนิยมและเสน่ห์ของตัวนายแบบ สู่ความลึกซึ้งอีกระดับขั้นกับกระแสที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งจากฟากฝั่งโลกบันเทิงตลอดจนถึงโลกแฟชั่น นั่นคือ Bromance (Brother-Romance) หรือความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างผู้ชายสองคน ซึ่งรูปแบบของโบรมานซ์นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของรสนิยมทางเพศในแบบชายรักชายเสมอไป (โดยสื่อส่วนใหญ่มักมุ่งนำเสนอความสัมพันธ์ของชาย-ชายช่วงวัยรุ่น) แต่สำคัญอยู่ที่ว่าต้องโรแมนติกมากพอที่จะทำให้กลุ่ม Yaoi หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ‘สาว Y’ กลุ่มสาวๆ ที่ชื่นชมและนิยมดูความหวานระหว่างชายและชาย หรือ ‘คู่จิ้น’ (OTP: One True Pairing) นั้นโดนใจ เพราะในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าได้มีปริมาณประชากรของสาวๆ กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากกระแสของ ‘โต้ง-มิว’ ในภาพยนตร์เรื่องดัง รักแห่งสยาม ที่ปูทางเอาไว้ จนถึงวินาทีนี้ที่มีซีรีส์กับบทการแสดงความสัมพันธ์อันแนบแน่นและลึกซึ้งระหว่างตัวละครชาย-ชายจนมากมายล้นจอ

 

การโกนขนหน้าแข้งนายแบบสำหรับโชว์ของ Rick Owens

 

Rick Owens สร้างความฮือฮาด้วยการออกแบบชุดที่โชว์อวัยวะเพศของวัยรุ่นชายในปี 2015

 

ในเมื่อกระแส ‘Bromance’ ได้ปูทางเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชายและชายเอาไว้ จึงไม่แปลกอะไรที่จะมีการข้ามขั้น โดยนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องราวอีโรติก หรือความรัก ความใคร่ ด้วยการเอาใจสาวๆ กับเนื้อหาที่มี ‘ผู้ชายเป็นฝ่ายถูกกระทำ’ เพื่อนำมาซึ่งความฟินของคุณผู้หญิงโดยเฉพาะ!

 

เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้วผมเชื่อว่ามีคุณผู้อ่านหลายท่านที่กำลังสงสัยว่า ทำไมการได้รับชมเรื่องอีโรติกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่ผู้ชายเป็นฝ่ายถูกกระทำเช่นที่เห็นใน ‘หนังโป๊ชาย-ชาย’ ถึงกลายเป็นตัวจุดชนวน ‘ความฟิน’ ของคุณผู้หญิง? หนึ่งในคำอธิบายที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เป็นผลงานการวิจัยของ Dr. Lucy Neville อาจารย์อาวุโสด้านอาชญาวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมิดเดิลเซ็กซ์ ได้อธิบายไว้ว่า ‘ผู้หญิงส่วนใหญ่ชื่นชอบการดูหนังโป๊ชาย-ชาย’ เพราะหนังโป๊ชาย-หญิงส่วนใหญ่มักนำเสนอภาพของการที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ในทางกลับกันแล้วหนังโป๊แบบชาย-ชายนั้นมีองค์ประกอบที่ช่วยสร้างความรู้สึกถึงความเท่าเทียม เพราะการกระทำระหว่างชายและชายนั้นสามารถผลัดกันเป็นฝ่ายรุกและรับได้ นอกจากนี้ ดร.ลูซี ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็น Feminism (การสนับสนุนหลักความเสมอภาคทางสังคมและการเมืองของสตรี) แต่อย่างใด แต่เป็นความสุขที่เกิดจากการที่ได้เห็นภาพของชายสองคนอยู่ด้วยกัน อันเป็นการหลอมรวมระหว่างความแข็งแกร่ง อ่อนโยน และอบอุ่นในคราวเดียว

 

ดังนั้นในอดีตจนถึงปัจจุบันจึงมีหลายแบรนด์แฟชั่นที่มักทำการ Sex-Sell โดยเน้นไปที่ ‘ฝ่ายชายเป็นผู้ถูกกระทำ’ เพียงแต่จะมากน้อยขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมที่เปิดกว้างยอมรับเรื่องลักษณะนี้ อย่างเช่นการที่ Gucci นำเสนอแคมเปญโฆษณาสำหรับฤดูร้อนปี 2000 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ระทึกขวัญว่าด้วยเรื่องของการนำผู้ชายหน้าตาดีมาทรมาน โดยจับขังไว้ในตู้กระจกบรรจุน้ำเพื่อให้กลุ่มสาวสังคมได้ชื่นชม

 

เรื่อยมาจนถึงช่วงเวลาปัจจุบันกับภาพแคมเปญแฟชั่นที่เน้นความเซ็กซี่และโรแมนติก แสดงออกถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของชาย-ชายจากแบรนด์ดังระดับโลกเช่น Calvin Klein และ D&G (ไลน์รองของ Dolce&Gabbana ที่ปิดตัวไปในปี 2012) แต่ที่ร้อนแรงที่สุดคงต้องยกให้อีกขั้นของความอีโรติกจาก Givenchy เมื่อ ริคคาร์โด ทิสซี อดีตครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแบรนด์ได้เลือกภาพโปรโมตหนังโป๊เกย์ชื่อดังของค่าย Sean Cody มาทำเป็นลายพิมพ์บนสินค้า ทั้งเสื้อเชิ้ตและกระเป๋า เพื่อเอาใจกลุ่มคนที่ชื่นชอบความสัมพันธ์รูปแบบนี้

 

แคมเปญประจำฤดูร้อนปี 2000 ของแบรนด์ Gucci

 

รูปโปรโมตหนังโป๊ชาย-ชายของค่าย Sean Cody ที่กลายมาเป็นลายพิมพ์ของแบรนด์ Givenchy ในปี 2013

 

สำหรับโลกแฟชั่นในทศวรรษนี้ที่มีการแข่งขันกันสูงสุดโต่ง การนำเรื่องเซ็กซ์กลับมาเพื่อเรียกร้องความสนใจจึงกลายเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่แบรนด์ชั้นนำหยิบมาใช้  เพราะมันก่อให้เกิดการแชร์เป็นวงกว้างในระยะเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยสร้างสภาวะตื่นตัวและอารมณ์ร่วมกับผลงาน อย่างน้อยๆ ก็ไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกอยากงีบหลับเมื่อเสื้อผ้าบนรันเวย์ไม่ได้มีความน่าสนใจมากพอ หรือแคมเปญบางตัวก็ชวนให้ผู้อ่านนิตยสารและเนื้อหาบนเว็บไซต์สนใจ เมื่อปรากฏเรือนร่างนายแบบปราศจากเสื้อผ้า สวมเพียงแค่ขายนาฬิกาที่ต้องการโปรโมตบนข้อมือหนึ่งเรือนเท่านั้น

 

แต่สิ่งที่ทำให้ Sex-Sell ในวันนี้แตกต่างจากในช่วง 2-3 ทศวรรษก่อนหน้า คือการที่แต่ละแบรนด์ต่างพยายามขายความอีโรติกแบบมีกึ๋น มีเรื่องราวสอดแทรกให้รู้สึกคล้อยตาม ไม่ใช่เอะอะอะไรก็จับนายแบบเปลือยกายล่อนจ้อนเพื่อเป็นการเอาใจ ‘ทาสไข่’ ซึ่งเป็นการพีอาร์ที่ไม่ต่างอะไรจากภาพยนตร์เกรด B (C D E…) ใช้กัน โดยมีฉากเกี่ยวกับเซ็กซ์แบบไม่บันยะบันยังทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องจัดให้คนดูมากขนาดนั้น เพราะเราต้องไม่ลืมว่าคนเสพยุคนี้ฉลาดมากพอที่จะตีค่า ชื่นชม และแยกแยะระหว่างงานศิลป์และความอนาจารที่เกิดจากการนำเสนอแบบสิ้นคิด

 

โฆษณาแนว Bromance ของ Calvin Klein

 

โฆษณาที่สื่อถึงความสัมพันธ์ของชายหนุ่มในยุคโรมันของ D&G

 

โฆษณาที่นำเรื่อง Fetish โดยมีฝ่ายชายเป็นผู้ถูกกระทำของ Dolce&Gabbana

 

ภาพประกอบ: Weerapat L.

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories