สารภาพว่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนแอบลังเลคิดไม่ตกว่าจะเลือกดูซีรีส์เรื่องใดระหว่าง You และ Sex Education แต่เพราะเห็นว่าฝ่ายหลังเพิ่งออกอากาศบน Netflix ได้แค่วันเดียวเท่านั้น (ซีซันแรกเริ่มสตรีมวันที่ 11 มกราคม 2019) ประกอบกับส่วนตัวเป็นคนชอบหนังและซีรีส์แนว Coming of Age อยู่แล้ว เราเลยเทใจให้ Sex Education ไปในที่สุด
แล้วก็ไม่ผิดหวังจริงๆ เพราะเริ่มดำเนินเรื่องในเอพิโสดแรกได้แค่ไม่ถึงนาที ฉากโจ๋งครึ่มก็โผล่ออกมาจนเราแทบจะหยิบรีโมตมากดปุ่มหรี่เสียงโทรทัศน์ไม่ทัน!
อันที่จริงแล้วต้องบอกว่าฉากโป๊เปลือยที่ปรากฏในซีรีส์เรื่องนี้เป็นเพียงแค่เปลือกนอกเท่านั้น ไม่ต่างอะไรจากลูกกวาดสีสันฉูดฉาดที่เย้ายวนสายตา เพราะ ‘แก่น’ หรือสารแท้จริงที่ Sex Education ต้องการจะนำเสนอมีประเด็นน่าสนใจหลายๆ อย่างที่ทำให้เราตกหลุมรักจนแทบจะโงหัวไม่ขึ้น
Sex Education เป็นซีรีส์แนวดราม่าคอเมดี้จากเมืองผู้ดีอังกฤษ ความยาว 8 ตอนจบ (ซีซันแรก) กำกับโดย เคต เฮอร์รอน และเบน เทย์เลอร์ ว่าด้วยเรื่องราวของ โอทิส (นำแสดงโดย เอซา บัตเตอร์ฟีลด์) เด็กหนุ่มวัยรุ่นธรรมดาๆ ที่มีชีวิตแสนจะไม่ธรรมดา เพราะต้องอาศัยอยู่กับ จีน (นำแสดงโดย จิลเลียน แอนเดอร์สัน) คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวและ ‘นักบำบัดทางเพศ’
วันหนึ่งโอทิสบังเอิญจับพลัดจับผลูไปให้คำปรึกษาเรื่องเพศกับเพื่อนในโรงเรียนไฮสคูลเข้า ทำให้ชื่อเสียงของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักและนำไปสู่การตั้งคลินิกบำบัดเรื่องเพศอย่างลับๆ ในห้องน้ำร้างหลังโรงเรียนที่ครูใหญ่ป่าวประกาศว่าเต็มไปด้วยแร่ใยหิน โดยมี เมฟ (นำแสดงโดย เอ็มมา แม็กกี้) รับหน้าที่เป็นเอเจนต์จัดหาลูกค้าให้ พร้อม เอริก (นำแสดงโดย เอ็นคูติ กัตวา) เพื่อนซี้ที่โตมาด้วยกันสนับสนุนอยู่ไม่ห่าง
หากมองจากเรื่องย่อแค่ผิวเผิน ซีรีส์เรื่องนี้น่าจะดำเนินเรื่องไปในแนวทางเดียวกันกับสูตรสำเร็จของหนังแนว Coming of Age กลุ่มวัยรุ่นชายที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางเพศเหมือนๆ กับรุ่นพี่อย่าง American Pie หรือไม่ก็ The Girl Next Door แต่ Sex Education กลับทำในสิ่งที่ท้าทายกว่านั้น
พวกเขาเลือกหยิบจับประเด็นเรื่องเพศที่สดและใหม่กว่ามาพูดคุยในปี 2019 โดยเจตนาจะสื่อสารออกไปให้กลุ่มวัยรุ่นเข้าใจว่าทุกคนไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างเดียวดาย ไร้คนเข้าใจ ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจะชวนบรรดาผู้ปกครองมารับฟังปัญหาของพวกเด็กๆ แบบไม่ตัดสินไปก่อน สอดแทรกด้วยมุกตลกอารมณ์ขัน สิ่งเหล่านี้คือเสน่ห์ที่ Sex Education ทำได้ดีจนต้องชื่นชม
การเปลี่ยนคาแรกเตอร์เพื่อนสนิทตัวเอกของเรื่องให้เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็ถือเป็นอีกตัวอย่างการทลายขนบเดิมๆ ของหนังหรือซีรีส์แนวนี้ พร้อมถ่ายทอดปัญหาการได้รับการยอมรับจากคนในสังคมที่ตัวละครในเรื่องต้องเผชิญ (เรื่องทำนองนี้มีให้เห็นที่อังกฤษเป็นประจำ ตัวอย่างเช่น กรณีที่ แซม สมิธ เคยเปิดเผยว่าเขาถูกคนแปลกหน้าปรี่เข้ามาต่อยบริเวณลำคอ)
ในมุมมองส่วนตัว ผู้เขียนคิดว่าบางทีเหตุการณ์และเรื่องราวที่ตัวละครเอริกต้องเผชิญในเรื่องถือเป็นการตีความนิยาม Coming of Age ในแบบ Sex Education ได้เด่นชัดมากๆ ทั้งยังพยายามจะสื่อให้กลุ่มคนดูวัยรุ่นและผู้ใหญ่เข้าใจ พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เติบโตต่อไป และเรียนรู้ที่จะรักตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็น
นอกจากนี้ยังมีอีกสารพันปัญหาที่อัดแน่นอยู่ในซีรีส์ความยาว 396 นาทีเรื่องนี้ ตั้งแต่การตั้งรับความเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนเพศในช่วงวัยรุ่นตอนต้น การถูกพ่อแม่สอดแนมและโยนความกดดันให้ การถูกเปรียบเทียบกับลูกบ้านอื่น ความไม่เข้าใจเรื่องการช่วยตัวเองและการร่วมรัก หรือการถูก Bully ในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ
อีกจุดหนึ่งที่ผู้เขียนหลงรักคือแคสต์คาแรกเตอร์ชุดนี้ สำหรับ เอซา บัตเตอร์ฟีลด์ เราคงไม่ต้องกล่าวชมอะไรเขาให้ยืดย้วย เพราะพ่อหนุ่มวัย 22 ปีคนนี้มีทักษะการแสดงและเสน่ห์ที่เหลือล้นจนแฟนๆ หลงรักกันทั่วโลกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่สำหรับ เอ็มมา แม็กกี้ และเอ็นคูติ กัตวา ซีรีส์เรื่องนี้น่าจะเป็นผลงานชิ้นแจ้งเกิดของทั้งคู่เลยก็ว่าได้
ตัวละคร เมฟ ถือเป็นตัวละครที่มีมิติพอสมควร ทุกครั้งที่เธอปรากฏตัว เราแทบจะเดาไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่าภายในใจของเด็กหญิงย้อมผมสีบลอนด์กัดปลายผมสีชมพูคนนี้กำลังครุ่นคิดหรือรู้สึกอะไรอยู่กันแน่ ซึ่งก็ต้องชมเอ็มมาด้วยที่สามารถถ่ายทอดบทบาทนี้ออกมาได้ดี แถมในบางมุมเรายังรู้สึกว่าความสวยสะพรึงของเธอช่างละม้ายคล้ายนักแสดงรุ่นพี่ มาร์โกต์ ร็อบบี้ เสียเหลือเกิน
ฟากเอ็นคูติเองก็ถ่ายทอดบทบาทของเอริกได้สมบูรณ์แบบสุดๆ บทจะหวือหวาฉูดฉาดก็ทำออกมาได้สุดทางและพลอยทำให้โลกสดใสได้จริงๆ ครั้นจะเศร้าโศกเสียใจก็ทำให้เราดำดิ่งจนน้ำตารื้นให้เขามาแล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีตัวละครอื่นๆ ที่ยิ่งเห็นการเติบโตของพวกเขาก็อดไม่ได้ที่จะตกหลุมรัก เช่น เอมี กิบส์ (นำแสดงโดย เอมี ลู วูด) สาวน้อยฟันกระต่ายจอมแก่น หนึ่งในสมาชิกแก๊งสวยเริดเชิดหยิ่งประจำโรงเรียน หรือลิลลี่ (นำแสดงโดย ทันยา เรย์โนลด์ส) นักเรียนสาวจากวงดนตรีสวิงที่มีจินตนาการความต้องการเรื่องเพศในแบบของเธอเอง
หลังดูรวดเดียวจบทั้ง 8 เอพิโสด เราพบว่าตัวละครทุกตัวต่างก็มีปัญหาการใช้ชีวิตที่ต่างกันออกไปตามแต่ปัจเจก โดยเฉพาะเรื่องเพศ ซึ่งข้อดีในแบบฉบับของวัฒนธรรมตะวันตกคือการที่ผู้ใหญ่จะไม่ไปตัดสินว่าเซ็กซ์และการช่วยตัวเองเป็น ‘เรื่องผิดบาป’ ทางศีลธรรมเหมือนค่านิยมของวัฒนธรรมฝั่งเอเชีย
ตรงกันข้าม พวกเขาจะพยายามใช้วิธีการอธิบายให้เด็กๆ เข้าใจทั้งโทษและคุณของมันตรงๆ มากกว่า แล้วปล่อยให้ทุกคนออกไปเผชิญโลกแห่งความเป็นจริงอย่างมีภูมิคุ้มกันด้วยตัวเอง ไม่ใช่หวาดกลัวหรือใคร่รู้จนเตลิดเสียผู้เสียคนในที่สุด
เหมือนที่ตอนหนึ่งตัวละครแม่ในเรื่องเคยสอนลูกของเธอตั้งแต่ยังไม่รู้ประสีประสาเอาไว้ว่า
“Sex is when a man put his penis inside a woman vagina.”
“เซ็กซ์คือการที่ผู้ชายสอดใส่องคชาตเข้าไปในช่องคลอดของผู้หญิง”
“Intercourse can be wonderful but it can also cause tremendous plan and if you not careful sex can destroy life.”
“การมีเพศสัมพันธ์คือส่ิงสวยงาม แต่ในเวลาเดียวกันมันก็อาจจะทำให้เราเจ็บปวดได้ หากลูกไม่ระวัง มันอาจจะทำลายชีวิตของเรา”
สำหรับผู้เขียน Sex Education จึงเป็นมากกว่าแค่ซีรีส์วัยรุ่นธรรมดาๆ แต่เปรียบเสมือนตัวแทนบทเรียนเพศศึกษาสมัยใหม่ที่วางตัวอยู่ตรงกลางระหว่างวัยรุ่นและผู้ใหญ่ยุคนี้ เพื่อพยายามจูนแต่ละฝ่ายให้หันหน้าเข้าหากัน ปรับความเข้าใจให้ทุกคนพร้อมก้าวข้ามปัญหาต่างๆ และเรียนรู้ที่จะเติบโตแบบอบอุ่นหัวใจไปพร้อมๆ กัน
ภาพ: Netflix
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
https://www.youtube.com/watch?v=o308rJlWKUc
- ถ้าเปิด Sex Education ดูแบบรวดเดียวตั้งแต่ต้นจนจบจะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 6 ชั่วโมง 36 นาที
- ลอรี นันน์ คือผู้สร้างหน้าใหม่และผู้เขียนบท Sex Education (8 ตอน) โดยก่อนหน้านี้เธอเคยฝากผลงานการเขียนบทเอาไว้ในหนังสั้น Pregnant Pause (2016) เรื่องราวการตั้งท้องในวัยรุ่น
- เธอให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Thrillist ว่าไอเดียสร้างซีรีส์เรื่องนี้คือการสร้างค่านิยมใหม่ให้กับวัยรุ่นและผู้ปกครองว่าบทสนทนาและการให้ความรู้เรื่องเพศคือสิ่งที่ควรจะถูกพูดคุย ถกเถียง และให้คำปรึกษากันเป็นปกติได้
- ทั้งเคต เฮอร์รอน และเบน เทย์เลอร์ ถือเป็นสองผู้กำกับที่ถนัดการเล่าเรื่องในสไตล์คอเมดี้กันทั้งคู่ โดยข้อมูลจาก IMDB ระบุว่าเคตมักจะชื่นชอบการเล่าเรื่องโดยใช้ตัวเอกเป็นเพศหญิง ส่วนเบนเคยมีผลงานกำกับซีรีส์อยู่หลายต่อหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ Catastrophe
- โอทิส หรือเอซา บัตเตอร์ฟีลด์ นักแสดงนำของเรื่อง โลดแล่นอยู่ในวงการฮอลลีวูดมานานกว่า 13 ปีเต็ม (เข้าวงการตั้งแต่อายุ 9 ขวบ) โดยผลงานแจ้งเกิดของเขาคือการรับบทเป็น เจ้าหนูบรูโน จากภาพยนตร์เรื่อง The Boy in the Striped Pajamas
- ก่อนหน้านี้เอซาเคยมีชื่อติดอยู่ในโผแคนดิเดตสไปเดอร์แมนคนใหม่ ไล่กวดมากับ ทอม ฮอลแลนด์ ก่อนที่สุดท้ายฝ่ายหลังจะเข้าวินกลายเป็น ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ คนใหม่ไปในที่สุด จึงมีการใส่ Easter Egg เป็นภาพวาดสไปเดอร์แมนพร้อมสัญลักษณ์กากบาทตัวโตๆ ทับติดอยู่บนตู้เสื้อผ้าในห้องนอนโอทิส
- อีกสองตัวแสดงนำอย่าง เอ็มมา แม็กกี้ และเอ็นคูติ กัตวา เคยมีผลงานการแสดงในซีรีส์มาก่อนประปราย บทบาทที่ทั้งคู่ได้รับใน Sex Education จึงถือเป็นโอกาสที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตการเป็นนักแสดงเลยก็ว่าได้
- หลังการออกอากาศไปไม่ถึงสัปดาห์ กระแสตอบรับของผู้ชมและนักวิจารณ์จากเว็บไซต์ชั้นนำก็ถือว่ายอดเยี่ยมมากๆ โดยส่วนใหญ่บอกว่า Sex Education มีวิธีการเล่าเรื่องที่ฉลาดและเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน แถมคนดูยังเรียกร้องให้ผู้สร้างประกาศแผนสร้างซีซัน 2 ต่อได้แล้ว
- การทิ้งตอนจบเรื่องความสัมพันธ์ของตัวแสดงนำในเรื่องไว้เช่นนั้น ลอรีเล่าว่าเธออยากสร้างอุปสรรคให้กับตัวละครและความสัมพันธ์ของทั้งคู่ด้วยเหตุผลด้านความสดใหม่ของเนื้อเรื่อง ซึ่งอาจจะถูกคลี่คลายในซีซัน 2 (ถ้ามี)
- เช่นเดียวกัน เธอรู้สึกว่าตัวละคร โอลา (นำแสดงโดย แพทริเซีย อลิสสัน) และแจ็คสัน (นำแสดงโดย คีดาร์ วิลเลียมส์-สเตียร์ลิง) ก็มีเสน่ห์และน่าจะเป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ ได้ไม่ยาก
- แม้จะไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการ แต่เทคนิคการถ่ายทำในแต่ละฉากที่ตัวละครโอทิสพยายามจะช่วยตัวเองก็ชวนให้เราอดนึกถึงฉากเคลิบเคลิ้มจากยาเสพติดโดยตัวละคร มาร์ค เรนตัน (นำแสดงโดย ยวน แม็กเกรเกอร์) ในภาพยนตร์เรื่อง Trainspotting ไม่ได้