×

ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง ภาพยนตร์ชีวประวัติ สืบ นาคะเสถียร จดหมายรักที่ทำให้ ‘ลูกสาว’ ได้เข้าใจถึงสิ่งที่พ่อทำอีกครั้ง

01.09.2019
  • LOADING...
ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง

เสียงปืนลั่นปังออกมาในค่ำคืน ช่วงเช้ามืดของวันที่ 1 กันยายน 2533 สืบ นาคะเสถียร เขียนจดหมายด้วยข้อความสั้นๆ ไว้ 6 ฉบับ เพื่อชี้แจงการฆ่าตัวตาย

 

“ผมมีเจตนาจะฆ่าตัวตายเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”   

 

ข้อความสั้นๆ ที่สืบเขียนทิ้งไว้ พร้อมกับร่างไร้วิญญาณ ได้สื่อสารถึงอุดมการณ์อันแรงกล้าที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า หลังจากเหนื่อยล้ากับการต้องต่อสู้กับอำนาจที่หวังจะมาทำลาย ฉกฉวยผลประโยชน์อันทรงคุณค่าของผืนแผ่นดินไทยจาก ‘ป่าสำคัญของประเทศ’ อย่าง ‘ห้วยขาแข้ง’ 

 

เสียงปืนในวันนั้นเป็นการจุดชนวนครั้งสำคัญ อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนจากหลายฝ่ายได้ตื่นขึ้นในการที่จะร่วมกันใส่ใจและอนุรักษ์ธรรมชาติสืบต่อมา

 

ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง

 

1 กันยายน THE STANDARD POP ร่วมรำลึก ‘วันสืบ นาคะเสถียร’

 

บุรุษธรรมดา ผู้เป็นตำนานนักอนุรักษ์แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเรื่องราวในชีวิตของสืบนั้น ต่อมาได้ถูกนำมาสร้างเป็น ‘ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง’ หนึ่งในสี่ภาพยนตร์โครงการคีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์ ผลงานกำกับของ โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ที่เราคิดว่าเป็นหนึ่งในงานที่ถ่ายทอดเรื่องราว ตัวตน และอุดมการณ์ ก่อนจะถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตได้อย่างทรงพลัง ติดตราตรึงใจ  

 

ตัวอย่าง ‘ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง’ ภาพยนตร์ในโครงการคีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์

 

หนังเล่าถึงช่วงเวลา 5 ปีสุดท้ายในชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร (รับบทโดย ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม) ที่ได้สารตั้งต้นสำคัญจากฟีเจอร์บทความในนิตยสาร ‘สารคดี’ ต่อยอดกลายมาเป็นบทภาพยนตร์ ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง

 

โอ๋ ภาคภูมิ ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ เล่าถึงช่วงเริ่มต้นในตอนนั้นเอาไว้อย่างน่าสนใจ และเรามองว่าในเวลาต่อมา มันได้กลายเป็นจดหมายสำคัญฉบับใหม่ ที่ข้อความในนั้นได้ช่วยบอกเล่าถึงความคิด อุดมการณ์ และความรู้สึกรู้สาของผู้เป็น ‘พ่อ’ ผ่านไปถึง ‘ลูกสาว’ ที่ในเวลานั้นอยู่ในวัยเพียง 11 ปี ได้อย่างซาบซึ้ง เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ

 

“ผมไปชวน อมราพร แผ่นดินทอง ซึ่งเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์ให้หนังดีๆ หลายต่อหลายเรื่องของ GTH มาเป็นคนเขียนบทให้ ผมบอกเขาว่ามาทำบทหนังเกี่ยวกับ สืบ นาคะเสถียร กันไหม พอบอกไปเขาก็สนใจเพราะเคยได้ยินชื่อ แต่ไม่รู้ว่าเรื่องราวในชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง ผมเลยส่งเรื่องราวของสืบในนิตยสารสารคดี ที่ผมถ่ายเอกสารเก็บไว้ไปให้อ่าน ปรากฏว่าพอนัดเจอกันวันรุ่งขึ้น เขาบอกว่าเมื่อคืนฉันอ่านเรื่องคุณสืบซะน้ำตาแตกเลย (หัวเราะ) พลิกอ่านไปแล้วเขาอินไปหมด เพราะมันมีแต่ของดีๆ อยู่ในเรื่องราวของเขาเต็มไปหมดเลย 

 

“ผมรู้สึกว่าช่วง 4-5 ปีสุดท้ายก่อนที่สืบจะเสียชีวิต มันเป็นชีวิตที่เขาต้องสู้อย่างทรหดที่สุด เป็นช่วงที่เล่าทุกอย่างเกี่ยวกับชีวิตของเขาได้อย่างสมบูรณ์มาก

 

แต่พออ่านเพิ่มไปเรื่อยๆ จนพบว่าสืบมีลูกสาว (น้ำฝน-ชินรัตน์ นาคะเสถียร วัย 11 ปี ขณะคุณสืบเสียชีวิต) และยิ่งเมื่อตามไปอ่านสิ่งที่ลูกสาวเขาพูดถึงพ่อ ซึ่งในความรู้สึกเขาก็เหมือนจะมีปมตรงนี้อยู่ เพราะเขาไม่ได้รับการอธิบายว่า 

 

“ทำไมคุณพ่อถึงฆ่าตัวตายแล้วทิ้งเขาไว้ 

 

“สำหรับผม ผมถือว่าสิ่งที่สืบทำมันเป็นการเสียสละอย่างหนึ่ง และถ้าเขามีโอกาสได้พูดกับลูกสาว เขาจะพูดว่าอะไร…ตรงนี้แหละที่ผมคิดว่าน่าเอามาใส่ไว้ในช่วงเปิดและปิดของหนัง หลังจากนั้นผมก็เริ่มเขียนบทจากการใช้มุมมองนี้เป็นหลัก 

 

“ด้วยความที่น้ำฝน ลูกสาวสืบทำงานอยู่เมืองนอก ซึ่งเราก็ติดต่อเขาไม่ได้ โทรไปเขาก็ไม่รับสาย ฝนก็เลยไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับการทำหนังครั้งนี้เลย… 

 

“วันเวลาผ่านไปจนถ่ายทำเสร็จ หนังจะโปรโมตเพื่อฉายจริงอยู่แล้ว ปรากฏว่าน้ำฝนเขาบินกลับมาเมืองไทย แล้วด้วยความบังเอิญว่าช่องเคเบิลที่บ้านของเขาเสีย เขาก็เลยเรียกช่างมาซ่อม ปรากฏว่าพอช่างซ่อมเสร็จ ภาพแรกที่ติดขึ้นมาคือตัวอย่างหนัง คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์ ซึ่งก็มีตอน ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง ด้วย พอเห็นปุ๊บ เขาก็เอ๊ะว่านี่เป็นหนังเรื่องราวของพ่อนี่ ทำไมใครทำแล้วไม่บอกเลย 

 

“พอดูตัวอย่างจบ น้ำฝนก็ตามหาเบอร์ติดต่อบริษัท แล้วก็โทรตามวันนั้นเลยว่าใครเป็นคนทำหนังเรื่องนี้ ทำกันอย่างไร และมีผลประโยชน์อะไรหรือเปล่า ฯลฯ พอทราบว่าบริษัทไหนทำเขาก็ขอดูหนัง ขอเจอผู้กำกับ ซึ่งผมก็ใจคอไม่ดีอยู่เหมือนกัน (หัวเราะ) แต่พอได้เจอกัน ได้พูดคุยกัน เราเหมือนถูกชะตากันตั้งแต่แรก รู้สึกซี้กันมาก…แล้วพอน้ำฝนดูหนังจบ เขาก็ดูเหมือนจะเฉยๆ ไม่ได้แสดงความรู้สึกอะไร พูดแค่ว่า “ก็ทำออกมาได้สมบูรณ์ดีนะคะ” แค่นี้เลย 

 

“วันเวลาผ่านไป เราไปเจอกันอีกทีในวันฉายภาพยนตร์รอบสื่อมวลชน ในวันนั้นผมรู้สึกว่าน้ำฝนดูแฮปปี้ขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้ผมปลื้มที่สุด คือข้อความที่น้ำฝนส่งมาหาผมหลังจากนั้น จำได้ว่าตอนนั้นผมขับรถอยู่ แล้วพอได้อ่านข้อความผมถึงกับจอดรถที่ข้างทางแล้วน้ำตารื้นเลย เพราะฝนเขียนมาบอกประมาณว่า…

 

“เขามาคิด ทบทวนเกี่ยวกับเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้น คือเขารู้ว่าพ่อทำคุณูปการให้กับประเทศแหละ แต่ในมุมของความเป็นลูกสาว ในตอนนั้นเขาก็รู้สึกว่าทำไมพ่อถึงทิ้งเขาไป แต่พอได้ดูหนัง มันทำให้เขาได้ย้อนกลับไปมองในช่วงเวลานั้น แล้วทำให้เขาได้เข้าใจพ่ออีกครั้ง…ผมเองก็ขอบคุณเขา และเขาเองก็ขอบคุณผมที่ทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา”  

 

ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง

 

โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ เล่าถึงช่วงเวลาน่าประทับใจในวันนั้น ขณะเดียวกัน ในความรู้สึกส่วนตัว เขาก็แสดงทัศนะทิ้งท้ายถึง สืบ นาคะเสถียร ซึ่งตัวเขาเองก็ถ่ายทอดสิ่งนั้นลงไปใน ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง ด้วยเช่นกันว่า 

 

“ผมมองว่าสืบเป็นคนชัดเจน เป็นคนประเภทยอมหักไม่ยอมงอ อะไรที่ไม่ถูกต้อง เขาจะต้องออกมาต่อสู้ เขาไม่ใช่คนทำงานประเภทซิกแซก มีนอกมีใน หรืออะลุ่มอล่วยกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่ว่ามันจะต้องผ่านการต่อสู้ที่ลำบากจนเลือดตาแทบกระเด็นขนาดไหน เขาก็จะบุกผ่าและพุ่งชนเข้าไป

 

“ผมไม่อยากเล่าเรื่องราวในหนังให้เหมือนว่าสืบเป็นซูปเปอร์ฮีโร่ ประเภทที่ทำอะไรก็เก่ง ทำอะไรก็ดีไปหมด แต่ผมอยากจะแสดงภาพของสืบแบบปุถุชนคนหนึ่งที่มีชีวิตเหมือนกับคนทั่วไป เพียงแต่เขาเลือกที่จะทำงานและใช้ชีวิตในแนวของตัวเอง”

 

เสียงปืนในวันนั้นผ่านมานานหลายทศวรรษแล้ว แต่เรื่องราวและอุมดมการณ์ของมนุษย์ตัวเล็กๆ มนุษย์ธรรมดา ชายไทยผู้เป็นพ่อของลูกสาว จะเป็นต้นน้ำสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นหลังไปอีกยาวนาน THE STANDARD POP เชื่ออย่างนั้น

 

ขอบคุณเรื่องของ น้ำฝน-ชินรัตน์ นาคะเสถียร และขอบคุณเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนจากบทสัมภาษณ์ โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ และปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม จากนิตยสาร HAMBURGER เดือนพฤศจิกายน ปี 2558  

 

ขอบคุณข้อมูลภาพจาก 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising