×

‘Me Time’ เคล็ดลับสร้างพลังทำงานท่ามกลางวิกฤตโควิดของ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

23.07.2021
  • LOADING...
Setthaput Suthiwatanaruput

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ถือเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 20 ลำดับที่ 24 ต่อจาก วิรไท สันติประภพ โดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งรุนแรงจากวิกฤตโรคระบาด ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนย่อมคาดหวังความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะ ธปท. ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจนโยบายการเงิน จึงเป็นธรรมดาที่ผู้รับตำแหน่งนี้จะเผชิญทั้งความเครียดและแรงกดดันต่างๆ นานา 

 

เศรษฐพุฒิเปิดใจให้สัมภาษณ์กับ BOT พระสยาม Magazine ซึ่งเป็นวารสารภายใน ธปท. ผ่านคอลัมน์ ‘Governor’s TALK’ ในหัวข้อ ‘เบื้องลึกภารกิจฟื้นฟูเศรษฐกิจของ ธปท.’ โดยช่วงตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์นี้เขาเล่าถึงแรงกดดันที่เผชิญและวิธีในการบริหารจัดการ

 

โดยเขาระบุว่า ในสถานการณ์ปกติการทำงานภายใต้ความคาดหวังของสังคมและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียกับมาตรการทางการเงินเป็นสิ่งที่ผู้ว่าการ ธปท. ต้องเผชิญอยู่แล้ว ยิ่งต้องทำงานแก้วิกฤต โดยเฉพาะเพื่อช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก็ยิ่งมีความคาดหวังแบบ ‘เล็งผลผลิต-เห็นผลเร็ว’ จากมาตรการ

 

ขณะที่ ธปท. ต้องทำงานบนหลัก ‘คิดรอบ ตอบได้’ แต่ก็ยังต้องตระหนักถึงความเร่งด่วนด้วย ซึ่งเศรษฐพุฒิยอมรับว่า บริบทเหล่านี้เป็นความท้าทายในการทำงาน

 

“ตอนที่ตัดสินใจมาสมัครตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ผมรู้อยู่แล้วว่าวิกฤตครั้งนี้หนักและท้าทาย แต่ยอมรับว่าวิกฤตครั้งนี้ยาวกว่าที่คาดและท้าทายกว่าที่คิด ประสบการณ์ทำงานอะไรที่เคยมี ตอนนี้ก็ควักออกมาใช้หมด เพราะหนึ่งในความท้าทายและเป็นความกังวลของผมด้วยคือ การจัดการความคาดหวังของคน อย่างตอนออกมาตรการฟื้นฟูฯ เรารู้ว่าทุกธุรกิจคาดหวังว่าจะต้องเข้าถึงสินเชื่อ พอปล่อยสินเชื่อแล้วคนก็คาดหวังว่ามาตรการจะคืบหน้าจนเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่การฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนี้จะไม่เร็ว”

 

เขายังเล่าถึงความท้าทายส่วนตัวที่เจอในช่วงเข้ารับตำแหน่งใหม่ ได้แก่ แฟ้มตารางการประชุมที่เต็มไปด้วยนัดประชุมที่มีทั้งต้องเข้าร่วมเองและที่ส่งตัวแทนไปได้

 

“ฟังดูเป็นความท้าทายเล็กๆ แต่ก็เป็นอะไรที่ปวดหัวพอสมควร เพราะขณะที่ผมรู้สึกว่าผมมาทำงานที่ ธปท. เพราะต้องการมาช่วยแก้วิกฤต มันมี Sense of Urgency อยู่ แต่งานประจำที่ต้องทำร่วมกับคณะทำงานทั้งภายใน ธปท. และหน่วยงานภายนอก กลับใช้เวลาและดูดพลังไปเยอะมาก ปัญหานี้คงไม่ได้มีแค่ที่ ธปท. ผมเชื่อว่าคนที่ทำงานตามหน่วยงานด้านนโยบายก็จะเจอกับความท้าทายนี้

 

“ดังนั้นความท้าทายของผมจึงอยู่ที่การบริหารจัดการเวลาและพลังของตัวเอง เพื่อไปออกแรงกับสิ่งที่ผมคิดว่าผมถูกจ้างมาให้ทำและเป็นโจทย์ใหญ่ของ ธปท. ที่ผมเรียกว่า ‘งานหางเสือ’ ซึ่งเป็นงานที่ ธปท. ต้องกำหนดเป้าหมายเอง จะปล่อยให้ไหลตามกระแสไม่ได้ โดยหนึ่งในงานหางเสือ ได้แก่ การออกมาตรการและผลักดันให้มาตรการบรรลุผลนั่นเอง”

 

นอกจากนี้เศรษฐพุฒิยังมองว่า อีกความท้าทายสำคัญในการทำหน้าที่ผู้ว่าการ ธปท. คือ การผลักดันให้เกิดการทำงานอย่างเป็นเอกภาพและบูรณาการ โดยเฉพาะภายใต้วิกฤตที่จำเป็นต้องมีการประสานความร่วมมือภายในสายงานต่างๆ ของ ธปท. เอง และการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก

 

“ขณะที่การทำงานแก้วิกฤตจะต้องอาศัยการผนึกกำลังร่วมกัน ทำงานข้ามสายงานเป็น ONE BOT แต่อาจไม่ง่ายสำหรับวัฒนธรรมของ ธปท. ที่ทำงานตามสายงาน และมีงาน BAU เกี่ยวข้องเยอะ ทว่า งานแก้วิกฤตมี Sense of Urgency รอไม่ได้ นี่จึงเป็นอีกความท้าทาย แต่ที่สุดของความท้าทายคือ การทำงานร่วมกับสารพัดหน่วยงานเพื่อออกมาตรการ โดยที่ยังสามารถประสานประโยชน์ของทุกฝ่ายได้อย่างสมดุล และยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ”

 

แม้วิกฤตโควิดจะสร้างความกังวลใจและท้าทายการทำงานในฐานะผู้ว่าการ ธปท. แต่เศรษฐพุฒิมองว่า อนาคตอันใกล้ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาที่จะสร้างความกังวลใจใหญ่หลวงไม่แพ้กับปัญหาเฉพาะหน้าในตอนนี้ นั่นคือปัญหาเชิงโครงสร้างที่รอการปะทุหลังวิกฤตคราวนี้คลี่คลาย

 

“ผมพยายามปลอบใจตัวเองว่าหน้าที่ของคนแบงก์ชาติคือ เขาจ้างมาให้เรากังวล เพื่อที่คนอื่นจะได้ไม่ต้องกังวลมาก เพราะโดยหน้าที่ เรากังวลและระแวงแทนคนอื่นไปแล้ว”

 

ความกังวลใหญ่เรื่องแรกของเศรษฐพุฒิคือ ความเร็วในการกระจายวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ให้เท่าทันกับการพัฒนาสายพันธุ์ของโควิด ซึ่งจะเป็นทางเดียวในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดและนำพาเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างการท่องเที่ยวกลับมา

 

“จะว่าไปแล้วมาตรการทางการเงินและมาตรการต่างๆ ก็เป็นแค่การซื้อเวลา เหมือนกับการพยุงอาการคนไข้เพื่อรอวันที่คนไข้จะฟื้นตัวกลับมาเอง ท้ายที่สุดแล้วเศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการทางการเงินหรือการคลัง แต่คนต้องมีรายได้ ต้องมีงานทำ แต่โครงสร้างเศรษฐกิจไทย ถ้าการท่องเที่ยวไม่กลับมา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็กลับมาได้ลำบาก เพราะภาคการท่องเที่ยวไม่ใช่มีสัดส่วนแค่ 11-12% ของ GDP แต่เป็น 20% ของการจ้างงานด้วย ตราบใดที่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ต่อให้เรายืดหนี้ ลดต้น-ลดดอกเบี้ย ลูกหนี้ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้

 

“การท่องเที่ยวจะกลับมาได้ขึ้นอยู่กับวัคซีน สิ่งที่ผมกังวลคือ เราจะมีวัคซีนพอฉีดไหม ประสิทธิผลของวัคซีนสามารถป้องกันสายพันธุ์ใหม่ได้แค่ไหน การกระจายการฉีดวัคซีนเร็วพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนที่สายพันธุ์ใหม่จะดื้อต่อวัคซีนจะระบาดไหม คนพร้อมจะฉีดด้วยไหม ฯลฯ ซึ่งการหยุดวิกฤตนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ไม่เช่นนั้นเราก็จะติดกับดักวงจรอุบาทว์คือ ‘ระบาดระลอกใหม่’ ล็อกดาวน์ รัฐเยียวยา เริ่มมาตรการฟื้นฟู การ์ดตก ระบาดใหญ่ วนไปไม่มีวันหลุดพ้น”

 

ผู้ว่าการ ธปท. มองว่า วิกฤตครั้งนี้สะท้อนความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป โดยไม่มีเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นรองรับ นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะชี้ชะตาความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในอนาคต 

 

“ประเทศไทยไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องนี้มานาน คล้ายๆ กับเราซื้อเวลาด้วยการทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ให้ตัวเลขออกมาดูดี สนับสนุนให้คนเป็นหนี้ กู้ง่าย การบริโภคก็เลยดูดี เศรษฐกิจก็โตขึ้นมาได้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว ถึงเวลาแล้วที่ทั้งประเทศต้องฉุกคิด ไม่ใช่แค่เรื่องของการจะออกจากวิกฤตครั้งนี้ แต่หลังจากนี้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยควรเป็นอย่างไร และถ้าจะให้ดี สิ่งที่เราทำระหว่างทางเพื่อแก้วิกฤตควรต้องตอบโจทย์ระยะยาวของประเทศด้วย”

 

ความกังวลใหญ่ข้อถัดไปเป็นเรื่องของภูมิทัศน์ของธุรกิจและเศรษฐกิจไทยที่จะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม ดังนั้นผู้ประกอบการ SMEs ควรวางแผนระยะยาวตั้งแต่วันนี้ หากธุรกิจมีหนี้ก็ควรใช้ช่วงเวลานี้ปรับโครงสร้างหนี้และหาสภาพคล่องเพื่อมาปรับรูปแบบหรือโครงสร้างธุรกิจ รองรับการทำธุรกิจยุค New Normal 

 

ส่วนความกังวลใหญ่ประการสุดท้ายคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยผลพวงจากวิกฤตโควิดจะขยายแผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยิ่งรุนแรงขึ้น ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงมากจะเป็นตัวฉุดการฟื้นตัวของหลายๆ ครัวเรือน ซึ่งจะซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งหนักขึ้น จนอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา

 

“โดยธรรมชาติแล้ว ผมเองเป็นคนขี้กังวล มาทำงานที่นี่มีข้อดีคือ พอเจอกับสถานการณ์ที่ต้องคิดหนักคิดมาก ก็รู้จักที่จะบังคับตัวเองให้หยุด ไม่อย่างนั้นจะไม่ไหว ก็เลยได้ปรับตัวและปรับปรุงตัว ผมจะมี ‘Me Time’ ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนนอน เป็นช่วงเวลา Cool Down และ Shut Down อยู่กับตัวเอง ไม่คุยกับใคร อ่านหนังสือหรือไม่ก็ฟัง Audio Book เป็นหนังสืออะไรก็ได้ที่ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ทุกวันนี้พอคิดถึงชั่วโมง Me Time ก็ทำให้ระหว่างวันเรามีพลังในการทำงาน” ผู้ว่าการ ธปท. ทิ้งท้ายถึงเคล็ดลับง่ายๆ ในการสร้างพลังการทำงาน

 

QUOTE_WEALTH

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

อ้างอิง:

  • BOT​ พระสยาม Magazine 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X