×

เศรษฐพุฒิย้ำ ไทยไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม Fed ยอมรับอาจทำตลาดเงินผันผวนบ้าง

19.05.2022
  • LOADING...
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าแบงก์ชาติเผย ไทยไม่จำเป็นต้องขยับดอกเบี้ยนโยบายตาม Fed โดยการขึ้นดอกเบี้ยจะพิจารณาจากปัจจัยภายใน ได้แก่ เสถียรภาพด้านราคา การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน เป็นหลัก มอง GDP ไทยปีนี้โอกาสที่จะโตต่ำกว่า 2% มีน้อย ยังไม่เข้าข่าย Stagflation 

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็ว เพื่อดูแลเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะไม่เป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันให้ ธปท. ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตาม แต่ยอมรับว่าช่องว่างดอกเบี้ยที่ถ่างกว้างขึ้นจะมีผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนได้

 

“การที่ไทยมีอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่ยืดหยุ่นทำให้เราไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม Fed ต่างจากประเทศที่นำค่าเงินไปผูกติดไว้กับเงินดอลลาร์ที่ต้องปรับดอกเบี้ยให้ไปในทิศทางเดียวกัน แต่แน่นอนว่าผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายคงเลี่ยงไม่ได้ แต่ในภาพรวมเรายังไม่พบอะไรร้ายแรง เรามีความเปราะบางต่ำ มีหนี้ต่างประเทศน้อย มีทุนสำรองสูง” ผู้ว่า ธปท. กล่าว

 

เศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ ธปท. จะติดตามและให้น้ำหนักมากกว่าในการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยคือปัจจัยภายในประเทศ เช่น เสถียรภาพด้านราคา การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน โดยการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่ต้องติดตามและพิจารณา

 

เศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า ความผันผวนของเงินบาทในช่วงนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยภายนอกเป็นหลัก อย่างไรก็ดี หากนับจากต้นปีเงินบาทก็ยังอ่อนค่าเพียง 3% ซึ่งอ่อนค่าน้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งนี้ ธปท. จะจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลให้เงินบาทเคลื่อนไหวในระดับที่มีเสถียรภาพไม่ผิดปกติ 

 

นอกจากนี้ ผู้ว่า ธปท. ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการแถลงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยของทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ว่าตัวเลขที่ออกมามีความใกล้เคียงกับมุมมองของ ธปท. โดยสภาพัฒน์ประเมินว่า GDP ไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 2.5-3.5% มีค่ากลางที่ 3% ขณะที่ ธปท. ประเมินตัวเลขเอาไว้ที่ 3.2%

 

อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่ออกมาดีจะไม่มีผลต่อการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. เช่นกัน เนื่องจากในเชิงนโยบาย ธปท. จะมองไปที่แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว โดย ธปท. จะมีการแถลงมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ 

 

เศรษฐพุฒิยังให้ความเห็นถึงความผันผวนของตลาดคริปโตที่รุนแรงในช่วงนี้ด้วยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า สิ่งที่ ธปท. แสดงความกังวลและย้ำจุดยืนมาโดยตลอดว่าคริปโตไม่เหมาะกับการเป็นสื่อกลางในการชำระสินค้าและบริการเป็นความจริง

 

ช่วงเช้าที่ผ่านมา ผู้ว่า ธปท. ยังได้ขึ้นเวทีเสวนา ‘Better Thailand Open Dialogue’ ในหัวข้อ ‘มองเศรษฐกิจโลกสะท้อนเศรษฐกิจไทย’ ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์

 

บนเวทีดังกล่าว เศรษฐพุฒิได้พูดถึงบทบาทของ ธปท. ในช่วงวิกฤตโควิดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ว่า เป้าหมายของ ธปท. คือการทำให้ระบบการเงินยังทำงานได้ตามกลไกปกติ เพราะช่วงเวลาที่เศรษฐกิจในภาพรวมหดตัว สินเชื่อมักจะหดตัวลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องในระบบมีปัญหาซ้ำเติมภาคธุรกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา ธปท. จึงปรับลดดอกเบี้ยนโยบายและผ่อนเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้มีความยืดหยุ่นขึ้น 

 

“ผลที่ตามมาคือ 2 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมสินเชื่อในระบบของไทยมีการเติบโตขึ้นจาก 13 ล้านล้านบาท เป็น 15 ล้านล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 11% และล่าสุดในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สินเชื่อไทยก็ยังขยายตัวได้ 7% สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซียที่สินเชื่อโต 6% ฟิลิปปินส์ 5% และมาเลเซีย 4%” เศรษฐพุฒิระบุ 

 

เศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า นอกจากการดูแลสภาพคล่องแล้วในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ยังได้ออกมาตรการเสริม ได้แก่ การ ‘แก้หนี้เดิม’ และ ‘เติมเงินใหม่’ โดยในส่วนของการแก้หนี้เดิมทำผ่านมาตรการพักหนี้และแก้หนี้ระยะยาว ขณะที่การเติมเงินใหม่ทำผ่านมาตรการซอฟต์โลนและสินเชื่อฟื้นฟู มุ่งเป้าไปที่กลุ่มธุรกิจ SMEs คิดเป็นเม็ดเงินรวมกันราว 3 แสนล้านบาท หรือ 10% ของสินเชื่อ SMEs ทั้งระบบ

 

เศรษฐพุฒิระบุอีกว่า โจทย์ของ ธปท. ตอนนี้คือ ดูแลไม่ให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสะดุดจากความผันผวนของตลาดเงินโลก หนี้เสีย และเงินเฟ้อ โดยมองว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะ Stagflation หรือการที่ GDP ไทยในปีนี้จะเติบโตได้ต่ำกว่า 2% มีน้อยมาก เนื่องจากฐานในปีที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำ 

 

“GDP ไทยในปีนี้จะโตต่ำกว่า 2% ได้ในกรณีที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวช้าและแย่กว่าที่คาดไว้ เช่น นักท่องเที่ยวมาแค่ 3 ล้านคน จากเป้าหมาย 5-6 ล้านคน การส่งออกก็ต้องโตได้ต่ำมากๆ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณดังกล่าว โอกาสที่จะเกิดขึ้นจึงมีน้อยมาก” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

ด้าน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวบนเวทีเดียวกันว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้กู้เงินจำนวน 1.5 ล้านล้านบาท มาดูแลด้านสาธารณสุขและออกมาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน เราชนะ และคนละครึ่ง นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังมีการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีให้กับประชาชนและภาคธุรกิจอีกหลายประเภท โดยโครงการเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนที่รัฐบาลต้องจ่ายทั้งสิ้น 

 

อาคมระบุอีกว่า เมื่อมีภาระมากขึ้น การเดินหน้าต่อจากนี้ของกระทรวงการคลังคือการมุ่งเน้นสร้างการเจริญเติบโต โดยมองว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสมาด้วย ซึ่งไทยต้องใช้โอกาสจากเทคโนโลยี เช่น การผลักดันอุตสาหกรรม EV ให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องลดการพึ่งพาชาติตะวันตกและหันมาหาตลาดใหม่ๆ เช่น ตลาดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างการเติบโต

 

ขณะที่ สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ความท้าทายในระยะยาวของประเทศไทยขณะนี้ไม่ใช่วิกฤตโควิดหรือสงครามในยูเครน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือ Tech Disruption ที่จะเข้ามาเปลี่ยนสินค้าและบริการในโลก หากไทยไม่ปรับตัวก็จะหลุดออกจากการอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก

 

“ในช่วงที่ผ่านมาเรายังอาศัยการเติบโตแบบ Outside In ได้ แต่จะเห็นว่าเราเติบโตช้าลงๆ ในระยะข้างหน้าเราอาจต้องปรับไปเติบโตแบบ Inside Out โดยอาศัยธุรกิจขนาดใหญ่ออกไปเชื่อมตลาด กุยทางให้รายเล็กๆ ตามออกไป ในโลกใหม่นี้ยังมีหลายอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาด หากวางแผนถูก เราจะมีโอกาสเติบโตได้” สมประวิณกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X