ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หวั่น 3 ปัจจัยเสี่ยง ราคาน้ำมัน-การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-ความไม่แน่นอนของปัจจัยใหม่ๆ จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปีหน้า พร้อมเดินหน้าเพิ่มสินค้าใหม่ให้นักลงทุนใช้เป็นช่องทางกระจายความเสี่ยง สร้างผลตอบแทนระดับสูง หวังดึงสภาพคล่องสู้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมี บจ.ไทย 6 กลุ่มอุตสาหกรรม จาก 8 กลุ่ม ที่ราคาหุ้นฟื้นตัวอย่างชัดเจน และยังปรับดีขึ้นกว่าการฟื้นตัวของดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับขึ้นมาราว 12% โดยทั้ง 6 กลุ่มประกอบด้วย
- สินค้าอุตสาหกรรม (Industrial) ปรับขึ้นราว 23.7%
- เกษตรและอาหาร (Agro & Food) ปรับขึ้นราว 14.6%
- เทคโนโลยี (Technology) ปรับขึ้นราว 13.9%
- บริการ (Service) ปรับขึ้นราว 13.7%
- ธุรกิจการเงิน (Financial) ปรับขึ้นราว 12.9%
- อสังหาริมทรัพย์ (Property) ปรับขึ้นราว 12.6%
นอกจากนี้ ภากรประเมินว่า ในปีหน้า บจ.ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการส่งออก, เกษตรและอาหาร, กลุ่มธุรกิจการเงิน, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์จะยังคงฟื้นตัวและเติบโตได้ต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่ยังไม่มีการเติบโตในปีนี้ เช่น กลุ่มทรัพยากร (Resource) และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumption) ที่ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมามีการฟื้นตัวเพียง 5.5% และ -3.3% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวดังกล่าวยังคงต้องติดตามผลกระทบจาก 3 ปัจจัย คือ 1. ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นเกินกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะยังปรับขึ้นต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อปัญหาเงินเฟ้อและสภาพคล่องของ บจ.หรือไม่ 2. การฉีดวัคซีนและการควบคุมการกลับมาแพร่ระบาดรุนแรงครั้งใหม่ของเชื้อโควิด และ 3. ความไม่แน่นอนจากปัจจัยใหม่ที่จะเกิดขึ้น
“การฟื้นตัวของ บจ. แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมไม่พร้อมกัน ตอนนี้มี 6 กลุ่มที่ฟื้นตัวดี และปีหน้ามองว่า ส่งออก, เกษตรและอาหาร, ไฟแนนซ์, อสังหาริมทรัพย์ น่าจะยังฟื้นตัวต่อไป และกลุ่มต่อมาน่าจะเป็นกลุ่มทรัพยากรและกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ปีหน้า บจ. จะฟื้นตัวได้เต็มที่หรือไม่จะต้องดูราคาน้ำมัน ดูการฉีดวัคซีน การควบคุมโควิด และดูความไม่แน่นอนที่จะเป็นปัจจัยใหม่ๆ ที่จะเข้ามา”
สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 12% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งอื่นๆ พบว่า ตลาดหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดของภูมิภาค คือ เวียดนาม เพิ่มขึ้น 30.8% รองลงมาคือ อินเดีย 26.4%, ไต้หวัน 15.3% และสิงคโปร์ 12.5% ตามลำดับ
ส่วนตลาดหุ้นที่ฟื้นตัวต่ำกว่าไทย เช่น อินโดนีเซีย 10.2%, ญี่ปุ่น 5.3%, เกาหลีใต้ 3.4%, จีน 2.1%, ฟิลิปปินส์ -1.2%, มาเลเซีย -4.0% และฮ่องกง-6.8% ตามลำดับ
ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,623.43 จุด เพิ่มขึ้น 1.1% โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทั้ง ตลท. และตลาด mai ที่ 88,298 ล้านบาท มี บจ.ใหม่เข้ามาซื้อขาย 3 บริษัท ด้านนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ 15,773 ล้านบาท
ขณะที่ช่วง10 เดือนแรก มูลค่าการซื้อขายหนาแน่นถึง 95,683 ล้านบาท บจ.ใหม่ที่เข้าซื้อขายใน ตลท. มีมูลค่าเสนอขายในตลาดแรก (IPO) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค
“ปีหน้าเรายังมองว่าแนวโน้ม IPO จะยังมีเข้ามาอย่างสม่ำเสมอทั้งหุ้นเล็ก กลาง และใหญ่ โดยมีทั้ง New Technology และ New S-Curve และคาดว่าน่าจะเข้ามามากขึ้น เพราะตลาดเรามีสภาพคล่อง การซื้อขายต่อวันมากขึ้นเกือบ 1 แสนล้านบาท”
ภากรยังกล่าวถึงผลกระทบจากปัญหาสภาพคล่องของตลาดหุ้นที่อาจหดหายไป และการปรับตัวของ ตลท. ต่อกรณีกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ได้เข้าซื้อหุ้น 51% ของ Bitkub ด้วยเงินลงทุนสูงถึง 17,850 ล้านบาทว่า ถือเป็นประเด็นที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะต้องนำมาพิจารณาถึงการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันระหว่างตลาดหุ้นกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง
โดยมองว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้รับความสนใจมากเนื่องจาก
- ผู้ลงทุนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายได้ง่ายๆ
- ตลาดมีสภาพคล่องสูง และสามารถซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่ดี และตรงตามเป้าหมายของผู้ลงทุน
โดยในส่วนของ ตลท. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการพัฒนาสินค้าที่จะแตกเป็นหน่วยสินทรัพย์ให้เล็กลง ซึ่งจะเป็นสินค้าใหม่ที่ง่ายต่อการพิสูจน์ตัวตนทางออนไลน์ (E-KYC) สามารถลงทุนได้ในสินทรัพย์ทั่วโลก ทั้งตลาดหุ้นหลักๆ เช่น Nasdaq, S&P 500, ตลาดหุ้นยุโรป, จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อกระตุ้นการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อย คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปีหน้า โดยสินค้าใหม่ดังกล่าวจะเป็น Depositary Receipt หรือ DR
สำหรับ Depositary Receipt หรือ DR เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่จดทะเบียนให้ซื้อขายได้เหมือนหุ้น โดยผู้ออก DR ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. จะเป็นผู้ที่ไปซื้อหุ้นต่างประเทศมา แล้วเสนอขายหุ้นต่างประเทศนั้นให้กับผู้ลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาท โดยมีสัดส่วน 1 DR = หุ้นต่างประเทศ 1 หลักทรัพย์ ดังนั้นผู้ถือ DR จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เสมือนไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่ต่างประเทศโดยตรง
การลงทุนเช่นนี้จะใช้โบรกเกอร์หรือบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงมากขึ้น ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยง และสร้างผลตอบแทนได้เพิ่มมากขึ้น
“Issue แบบนี้เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เหมือนที่เราเคยเปิดให้กองทุน FIF ออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ แค่ 2-3 ปีเม็ดเงินก็ไหลออกไปลงทุนมากขึ้น เรายังไม่มีนโยบายที่จะเข้าไปตลาดคริปโตเคอร์เรนซีเอง แต่เราจะทำผ่าน บล. ให้เป็นตัวกลาง เรายังดูการลงทุนที่จะผ่าน ETF ด้วย ว่าจะมีแนวทางได้อย่างไรบ้าง ที่จะทำให้การบริหารสภาพคล่องได้ดี
เราขอ ก.ล.ต. ที่จะ Underrigth Asset ได้มากขึ้น ภายใต้กฎหมายที่เปิดให้เราทำได้ ซึ่งเรื่อง Depositary นี้เราคิดว่าจะทำได้ในไตรมาส 4 แต่มีความล่าช้า ก็น่าจะเป็นต้นปีหน้า เริ่มแรกเราจะเริ่มจากตรงนี้ก่อน ที่จะขยายมากขึ้น มองว่าน่าจะเป็นสินค้าที่นักลงทุนสนใจ” ภากรกล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP