ตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา หลายคนอาจจะรู้สึกว่าตลาดหุ้นไทยเหมือนจะดูนิ่งๆ ด้วยภาพของดัชนี SET ที่เคลื่อนไหวขึ้นสลับลงอยู่ในกรอบ 1,300-1,600 จุด เป็นส่วนใหญ่
ย้อนกลับไปเมื่อสิ้นปี 2012 ดัชนี SET ในเวลานั้นอยู่ที่ 1,391.93 จุด ก่อนจะมีช่วงเวลาที่วิ่งทะลุขึ้นไป 1,800 จุด แต่ด้วยวิกฤตโควิด-19 ทำให้หุ้นไทยต้องสะดุดลงอีกครั้ง และค่อยๆ จะฟื้นตัวกลับมายืนเหนือระดับ 1,600 จุดได้อีกครั้ง
10 ปีที่ผ่านมา หากเปรียบหุ้นไทยเป็นใครสักคนหนึ่ง ก็อาจเป็นเหมือนคนที่กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อคว้าโอกาสที่จะเข้ามาเปลี่ยนให้ชีวิตกลับไปสู่ความรุ่งโรจน์อีกครั้ง
จากงานเสวนา Thailand Focus 2022 ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อาจเป็นจุดหนึ่งที่ร่วมชี้ให้เห็นถึงโอกาสครั้งใหม่ของประเทศไทยและตลาดทุนไทย ไม่ว่าจะเป็นมุมมองจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เริ่มรู้สึกถึงความหวังของเศรษฐกิจและบรรยากาศการลงทุนของประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกลับไปสู่เส้นทางที่ดีอย่างต่อเนื่องได้อีกครั้ง
ปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาช่วยปลดล็อกศักยภาพของประเทศไทยได้อีกครั้งคือเทคโนโลยี ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างมูลค่าเพิ่มในหลายอุตสาหกรรมของไทย
‘เทคโนโลยี’ หัวใจสำคัญต่อการเติบโตครั้งใหม่
อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย มองว่า อุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนด้านเทคโนโลยีของไทยที่ผ่านมาคือกฎหมายและภาษีที่ไม่เอื้ออำนวยแก่นักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ
ก่อนหน้านี้หากมองเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้าในอาเซียนเป็น 100% ประเทศไทยได้สัดส่วนมา 14% เมื่อปี 2015 ก่อนจะลดลงมาเหลือเพียง 3% ในปี 2021 ตามหลังทั้งอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม
“ประเทศอื่นๆ มีกฎระเบียบที่เป็นมิตรมากกว่า เช่น การยกเว้นภาษี Capital Gains Tax นอกจากนี้ คนไทยยังขาดทักษะดิจิทัล ถ้าจะเปรียบให้ชัดคือ มาเลเซียมีโปรแกรมเมอร์สูงมากกว่าไทยถึง 11 เท่า
อย่างไรก็ตาม เราเริ่มเห็นกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ทั้งการอนุมัติยกเว้นภาษี Capital Gains Tax ถึงเดือนมิถุนายน 2032 เพื่อจูงใจ Start-up ให้ยังคงลงทุนในไทยต่อไป รวมถึงการออกวีซ่าระยะยาว 10 ปี ให้กับกลุ่มคน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมั่งคั่ง กลุ่มเกษียณ กลุ่มคนทำงานในไทยให้บริษัทต่างชาติ และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานให้บริษัทไทย และยังเล็งออกมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมให้กับกลุ่มฟรีแลนซ์ และ Digital Nomad เพื่อให้มาลงทุน อยู่อาศัย และทำงาน เสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจไทย
ในมุมมองมหภาค อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังฟื้นตัวอย่างดีหลังจากวิกฤตโควิด-19 และจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ปีนี้ที่ตั้งไว้ 3.5% และเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีแผนที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมใน 5 ส่วนหลัก ได้แก่
- โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการก่อสร้างขนาดใหญ่
- อุตสาหกรรมสีเขียว เช่น EV และพลังงานทดแทน
- ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมให้มีความทันสมัย
- เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
- กลุ่ม SMEs และ Start-up ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมใหม่
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญที่ประเทศไทยกำลังพุ่งเป้าไปคือการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น โดยเน้นการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2065
ขณะที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พูดถึงความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่า สภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบันกำลังฟื้นฟูและกลับมาเติบโตมากขึ้นจากการท่องเที่ยวของต่างชาติ การบริโภค และการจ้างงานที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
แต่ยังมีประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญและควบคุม ได้แก่ 1. ควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป 2. รักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เงินลงทุนเริ่มไหลกลับมาอีกครั้ง
ตั้งแต่ต้นปี 2022 นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยราว 1.7 แสนล้านบาท และเป็นการกลับมาซื้อสุทธิครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน รัชนี วัฒนวิศิษฏพร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า การลงทุนจากต่างประเทศยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019 โดยมีมูลค่าราว 6.37 แสนล้านบาทในปี 2021 เพิ่มขึ้นจาก 4.04 แสนล้านบาทเมื่อปี 2020
“การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะนี้นักลงทุนส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ สหรัฐฯ และไต้หวัน ซึ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ เกษตรกรรม และอาหารแปรรูป”
อีกทั้ง BCG Economy Model หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคตที่รัฐให้ความสำคัญในการลงทุน พร้อมออกนโยบาย 30/30 เพิ่มสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ 30% ภายในปี 2030 และทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของโลก ด้วยการเพิ่มศักยภาพทางด้านการแข่งขันของประเทศ
ในส่วนของกรุงเทพมหานครถือเป็นเป้าหมายสำคัญและเป็นด่านแรกที่ต่างชาติจะเข้ามาท่องเที่ยวหรือลงทุนในไทย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ มีความสำคัญในแง่ของการมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 32% ของ GDP ของไทย ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีความพร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศด้วยปัจจัยด้านสาธารณสุขที่สามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง
“เรามั่นใจว่าประเทศไทยสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลก พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับกรุงเทพมหานครให้กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยสำหรับทุกคนด้วยแนวคิด Bangkok a liveable city for all”
หลังจากวิกฤตโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้ง ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ด้วยปัจจัยบวกหลายด้าน ทั้งการควบคุมโควิดที่มีประสิทธิภาพ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นตั้งแต่การเปิด Phuket Sandbox และการเปิดประเทศในช่วงต้นปี จนคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวแตะ 10 ล้านคนในปีนี้ พร้อมทั้งได้รับการจัดอันดับ 2022 Annual Global Retirement Index ในลำดับที่ 5 ยิ่งช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวไทยได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้นยังชูนโยบายการท่องเที่ยวมูลค่าสูง โดยจัดแคมเปญ ‘From A to Z: Amazing Thailand Has It All’ ในปี 2022-2023 เน้นการท่องเที่ยวด้านสุขภาพ (Medical Tourism) การท่องเที่ยวพร้อมทำงาน (Workation) และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ (Zero Food Waste)
โอกาสของแต่ละอุตสาหกรรม
หนึ่งในจุดเด่นของเศรษฐกิจไทยนับแต่อดีตคือภาคการเกษตร แต่จุดเด่นที่ว่านี้ก็ค่อยๆ จางลง ภาพรวม GDP ของไทย 60% อยู่ในภาคบริการ 32% อยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรม และ 9% อยู่ในธุรกิจการเกษตร ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรคิดเป็นเพียง 6% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด
“ธุรกิจภาคการเกษตรยังมีโอกาสเติบโตและลงทุนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต” วิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าว ประเทศไทยเริ่มมีธุรกิจการเกษตรที่ปรับตัวเป็น Smart Farming มากขึ้น เพื่อเสริมจุดแข็งของประเทศในด้านการเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก
ในมุมของบริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของไทยอย่าง บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร มองว่า เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทำให้ธุรกิจพัฒนาขีดความสามารถได้ดีขึ้น เช่น การนำอุปกรณ์เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้แทนแรงงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและผลผลิต ไปจนถึงรักษามาตรฐานคุณภาพได้แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยุคใหม่ต่างกำลังมองหาอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับคุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วน
วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) มองว่า เทคโนโลยียังช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งช่วยสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ตอบโจทย์ช่วยเสริมความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน การปรับตัวของบุคลากร พร้อมทั้งต้องลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น แหล่งโปรตีนทางเลือก
ไม่เพียงแค่อาหาร ยา หรืออาหารเสริม แต่ ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ คือสิ่งที่คนยุคใหม่ให้ความสำคัญ ในมุมของ วิเวก ดาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บมจ.เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ (MEGA) มองว่า กระแสดังกล่าวทำให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และทำให้คนอายุยืนยาวขึ้น การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพเพื่อให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบริโภคทั่วไปจึงเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เอื้อให้ไทยสามารถเติบโตต่อไปได้ เช่น การมีโรงพยาบาลชั้นนำหลากหลายแห่ง ธุรกิจบริการที่หลากหลาย เช่น สปา หรือโรงแรม นอกจากนั้นยังมีบุคลากรและเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ
วิกฤตโควิด-19 เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการ Work from Home และทำกิจกรรมต่างๆ จากที่บ้าน
พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ทำให้ พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (ORI) มองว่า หากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สามารถปรับตัวเพื่อตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ๆ เหล่านี้ ก็เป็นโอกาสที่จะต่อยอดให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาอยู่อาศัยและทำงานในไทยได้ และยังมีข้อได้เปรียบด้านอาหาร ราคาของอสังหาาริมทรัพย์ ที่ต่ำกว่าต่างประเทศ การบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพสูง ค่าครองชีพที่ต่ำกว่าหลายประเทศ
ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่าง บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล แอสเสท แมนเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ธนพล ศิริธนชัย กรรมการบริหาร มองว่า ความต้องการอีกด้านหนึ่งที่เพิ่มขึ้นสูงมากในปัจจุบันคือคลังสินค้าแบบทันสมัย หรือ Smart Warehouse ซึ่งมีความจำเป็นมากขึ้นสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคอุตสาหกรรม
เพราะการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซทำให้คลังสินค้าในปัจจุบันต้องไม่เป็นเพียงโรงเก็บของ แต่ต้องมาพร้อมระบบการจัดการที่พร้อมตอบสนองธุรกิจอีคอมเมิร์ซ พร้อมส่งสินค้าถึงมือผู้ซื้อได้อย่างง่ายดายและเป็นระบบ
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการใช้หุ่นยนต์มาช่วยเสริมสร้างศักยภาพ และยังต้องคำนึงถึงการมอบสวัสดิการที่ดีขึ้นให้กับแรงงานอีกด้วย
เช่นเดียวกับธุรกิจด้านการแพทย์ พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) มองว่า นี่คือโอกาสของประเทศไทยที่มีจุดแข็งหลายอย่าง ทั้งนโยบายรัฐบาลสนับสนุนศูนย์กลางการแพทย์แห่งเอเชีย อัตราค่ารักษาที่ถูกกว่าประเทศคู่แข่งถึง 40-70% โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และบุคลากรทางการแพทย์มืออาชีพ อัธยาศัยของคนไทย และการเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก
สถานการณ์โควิด-19 ยังก่อให้เกิดโอกาสใหม่ในวงการแพทย์ BDMS จึงสร้างระบบการแพทย์ขึ้นเพื่อตอบสนองทุกกลุ่มลูกค้าในทุกช่วงวัย เช่น เทคโนโลยีและดิจิทัลรองรับระบบการแพทย์ทางไกล การรักษาทางไกล และบริการข้อมูล เป็นต้น
โอกาสของแต่ละอุตสาหกรรมข้างต้นเป็นกลุ่มตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่เราคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในตลาดทุนไทย และอาจนำไปสู่การกลับสู่เส้นทางการเติบโตครั้งใหม่ หลังจากที่ผ่านวิกฤตครั้งสำคัญอย่างโควิด-19
เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม
หนึ่งในกระแสหลักของโลกเวลานี้คือการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และร่วมมือกันเพื่อลดระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สำหรับประเทศไทยประกาศหมุดหมายสำคัญในปี 2065 ที่ต้องการจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ไปนั้น ก็ได้รับการตอบรับจากภาคเอกชน มีการปล่อยโรดแมป หรือแผนการเพื่อพัฒนาธุรกิจไปสู่เป้าหมายเดียวกันด้วย
สำหรับบริษัทพลังงานดั้งเดิมอย่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า บางจากพร้อมที่จะตอบรับนโยบายดังกล่าวด้วยแผนการปรับตัวและเปลี่ยนเข้าสู่นวัตกรรมพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการและดำเนินการ
ที่ผ่านมาบางจากได้ต่อยอดธุรกิจไม่เพียงแค่โรงกลั่นน้ำมันและให้บริการน้ำมัน แต่ยังขยายถึงการผลิตนวัตกรรมใหม่ เช่น การผลิตถ้วยที่สามารถย่อยสลายได้ (Biodegradable Cup) ใช้ในร้านกาแฟอินทนิลในปั้มน้ำมันบางจาก ธุรกิจเอทานอลจากโรงงานน้ำตาลในจังหวัดขอนแก่น
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยวางแผน ‘BCP 316 Net’ และหันไปมองหาแหล่งพลังงานสีเขียวซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) ระบุว่า ธุรกิจถ่านหินซึ่งเคยเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ยั่งยืนและปลดปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมจำนวนมาก กัลฟ์จึงมองหาช่องทางการลงทุนในธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่เพื่อทดแทน โดยเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด
การพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและประยุกต์ใช้ได้ในระยะยาว กัลฟ์จึงลงทุนธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น บล็อกเชน หรือคริปโตเคอร์เรนซี
ในด้านธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บรัษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้สูงถึง 99% อีกทั้งมีการตั้งศูนย์รับขยะพลาสติกเพื่อนำกลับมารีไซเคิลใหม่ เพื่อร่วมมือกับภาคเอกชนอื่นๆ
แม้ว่าธุรกิจ SCGP จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้เพียงไม่ถึง 2 ปี แต่ด้วยเป้าหมายที่จะเพิ่มตัวเลขรายได้ให้เติบโตเป็น 2 เท่าภายในระยะเวลา 5 ปี จึงต้องอาศัยแนวทางการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายผ่านการควบรวมกิจการที่เป็นธุรกิจหลักและธุรกิจด้านนวัตกรรมใหม่และธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ อย่างการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับบรรจุภัณฑ์ เช่น การผลิตพลาสติกโพลีเมอร์เพื่อบรรจุมะพร้าวสำหรับส่งออก ที่ช่วยยืดอายุสินค้าให้ยาวนานเพิ่มขึ้นจาก 1 เดือน เป็น 3 เดือน หรือการใช้กระดาษแข็งเพื่อผลิตเตียงให้ผู้ป่วยใช้ในโรงพยาบาลสนาม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อปรับใช้กับความท้าทายทางสังคมที่เปลี่ยนไป
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองว่า ธุรกิจในไทยปัจจุบันยังมีความเปลี่ยนแปลงจากธุรกิจจดทะเบียน ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เช่น ธุรกิจดิจิทัล หรือ S-Curve ใหม่ แต่ถึงแม้ธุรกิจต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราก็ยังต้องให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“เศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวต้องประสบกับความท้าทายมากมายและคงต้องปรับตัวให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ธุรกิจอาหารที่ต้องอาศัยนวัตกรรมใหม่ อย่างอาหาร Plant-based และอาหารเพื่อสุขภาพ หรือธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งปรับตัวตามลักษณะข้อมูลประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป”
สำหรับการกลับมาของ Thailand Focus ที่จัดในรูปแบบ Hybrid ทั้งการได้มาพบปะกัน และการชมการถ่ายทอดสดจากออนไลน์ในครั้งนี้ อย่างน้อยที่สุดนักลงทุนจากทั่วโลกจะได้เห็นโอกาสทางการเติบโตด้านการลงทุนในประเทศไทย ที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและปรับตัวเพื่อต้อนรับสภาวะเศรษฐกิจของไทยหลังวิกฤตโควิด-19 นี่คือโอกาสในการสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั่วโลก
สำหรับใครที่ยังไม่ได้รับชม Thailand Focus 2022 ไปดูกันได้เลยที่ https://www.set.or.th/thailandfocus/2022/summary.html