ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดหุ้นไทยรับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทั่วโลกน้อย ชี้สภาพคล่องในระบบสูง กำไร บจ. มีแนวโน้มเติบโตดี ระบุเป็นโอกาสเข้าลงทุนหลังจากดัชนีหุ้นไทย 6 เดือนแรกย่อลง 5.4% ด้าน บล.ดีบีเอส หั่นเป้าดัชนีปีนี้เหลือ 1,680 จุด
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานสรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนมิถุนายน 2565 ว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเรื่องความไม่แน่นอนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เชื่อว่าตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบไม่มาก สะท้อนจากเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะเดียวกัน สภาพคล่องปัจจุบันในประเทศยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) มีแนวโน้มดีขึ้น
“ปัจจัยบวกเหล่านี้จะทำให้ Fund Flow ไหลออกจะน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งสะท้อนได้จากตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) เงินทุนต่างชาติยังเป็นบวกอยู่ราว 109,067 แสนล้านบาท” ภากรกล่าว
ภากรกล่าวว่า ปัจจัยเรื่องความไม่แน่นอนที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นทั่วโลกมีอยู่ 3 ปัจจัย ประกอบด้วย
- ธนาคารกลางทั่วโลกต่างลดการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบ ซึ่งทำให้สภาพคล่องของโลกจะลดลง
- ความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมันและอาหารสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อย่างมาก
- ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่ยังไม่จบ
“หากดูจาก 3 เรื่องนี้ สิ่งที่กระทบต่อตลาดทุนไทยเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ จะค่อนข้างน้อย” ภากรกล่าวสรุป
สำหรับผลกระทบต่อภาคการระดมทุนนั้น เขาประเมินว่ามีผลกระทบไม่มาก โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดและภาวะเศรษฐกิจไม่ดี แต่มูลค่าการระดมทุน รวมถึงปริมาณบริษัทที่ต้องการเข้าระดมทุน และความหลากหลายของธุรกิจก็ยังคงใกล้เคียงกับปี 2564 ที่ผ่านมา และปัจจุบันยังมีบริษัทจำนวนมาก ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ที่รอเข้าระดมทุนอยู่
ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนหันมาถือเงินสดมากขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังรอความชัดเจนในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องภาวะดอกเบี้ย, ราคาน้ำมัน, ทิศทางเศรษฐกิจ และภาวะเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่ปัจจัยต่างๆ มีความชัดเจน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันก็น่าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นปกติ เพราะ Valuation ของหุ้นไทยตอนนี้ถือว่ายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย รวมถึงยังเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยตอนนี้จะยังไม่เกิดภาวะตลาดหมี เนื่องจากยังมีแรงผลักดันจากกลุ่มการท่องเที่ยวและส่งออกที่ยังไปได้อยู่
บล.ดีบีเอส หั่นเป้าดัชนีปีนี้เหลือ 1,680 จุด
อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ตลาดหุ้นผันผวน ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดเป้าหมายดัชนีหุ้นปีนี้ลงเหลือที่ระดับ 1,680 จุด จากเดิมที่บริษัทตั้งเป้าหมายดัชนีปีนี้อยู่ที่ระดับ 1,800 จุด
การปรับลดเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นในปีนี้ลง เนื่องจากมองว่าตลาดยังมีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อสูง และวิตกกังวลว่าอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงาน ธัญพืชและอาหารสูงขึ้น นอกจากนี้ตลาดยังมีความกังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจและรายย่อย ภายใต้เศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยพยุงจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกที่ยังเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งประเทศไทยยังมีความมั่นคงทางอาหารสูง
ธนวัฒน์ ปัจฉิมกุล ผู้อํานวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในไตรมาส 3/65 ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อสูงจะยังคงเป็นภัยคุมคามการลงทุนอยู่ ซึ่งจะหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อจนกว่าจะเห็นปัญหา Supply Chain Disruption และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศคลี่คลาย
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในไตรมาส 3/65 ฝ่ายวิจัย บล.ดีบีเอส ยังคงแนะนำเพิ่มน้ำหนักในหุ้นจีนและญี่ปุ่น เนื่องจากมองว่าหุ้นทั้งสองประเทศนี้มีความโดดเด่นและน่าสนใจ เพราะผู้นำจีนประกาศแนวนโยบายหนุนเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ขณะที่หุ้นญี่ปุ่นมักจะ Outperform เมื่อค่าเงินเยนอ่อน ส่วนหุ้นยุโรปแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุน
สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปิดที่ 1,568.33 จุด ปรับลดลง 5.7% จากเดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 SET Index ปรับลดลงเพียง 5.4% ซึ่งลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 71,693 ล้านบาท ลดลง 26.2% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน