×

‘ภากร’ เปิดแผนบุกตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มั่นใจ TDX บูมได้แม้ไม่มีบริการเทรดคริปโต พร้อมเผยกลยุทธ์เพิ่มเสน่ห์ให้ตลาดหุ้นไทย

24.01.2022
  • LOADING...
TDX

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมั่นใจตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลช่วยเสริมศักยภาพตลาดหลักทรัพย์ดั้งเดิม เดินหน้าลงทุนและพัฒนาระบบไอทีเพื่อเชื่อมโยงการลงทุน 2 ตลาดอย่างไร้รอยต่อ หวังตอบโจทย์นักลงทุนที่เน้นมองหาเครื่องมือกระจายความเสี่ยง ขณะที่ความคืบหน้าเรื่องภาษีขายหุ้นนั้นต้องรอภาครัฐเคาะข้อสรุป ย้ำจุดยืนอัตราภาษีต้องเหมาะสม

 

ผ่านปี 2565 ไปราว 1 เดือน ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ล้วนเผชิญกับความผันผวนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร สินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะคริปโตเคอร์เรนซี ที่มีเพอร์ฟอร์แมนซ์โดดเด่นมากในปี 2564 แต่กลับหักหัวลงในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังจะก้าวมาเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขอไลเซนส์จากสำนักงาน ก.ล.ต. และดำเนินการเรื่องการลงทุนและพัฒนาระบบไอทีควบคู่กันไป ตามไทม์ไลน์แล้วคาดว่าน่าจะเปิดให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange: TDX) ได้ในไตรมาส 3/65 

 

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลก็ไม่ได้ต่างจากตลาดหลักทรัพย์ดั้งเดิม หรือ Traditional Market มากนัก จะต่างกันเพียงแค่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอีโคซิสเต็มและวิธีการทำงานเท่านั้น แต่วัตถุประสงค์ยังคงมุ่งเน้นให้บริการแก่ผู้ต้องการระดมทุนและผู้ลงทุน อีกทั้งยังมีความเชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้วตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็ต้องปรับตัวให้เท่าทันกับอีโคซิสเต็มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น 

 

โดยบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะผู้เล่นในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล คือผู้เชื่อมต่อส่วนประกอบต่างๆ ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเข้าเป็นอีโคซิสเต็มเดียวกัน และเชื่อมโยงตลาดดั้งเดิมเข้ากับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไร้รอยต่อ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ต้องการระดมทุนและนักลงทุน

 

“เรามองว่าเราก็ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว ทำไมเราไม่มาเป็นหนึ่งในผู้เล่นในตลาดนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ตอนนี้ทุกคนในอีโคซิสเต็มนี้เป็นระบบปิด ต่างคนต่างมีระบบของตัวเอง แต่เราจะทำแพลตฟอร์มใหญ่ ทำเป็นระบบเปิดเพื่อเชื่อมโยงแต่ละอีโคซิสเต็มเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ” ภากรกล่าว 

 

ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาระบบ API ให้เป็น Open API เพื่อให้ TDX Ecosystem Provider หรือ Infrastructure Provider ที่เชื่อมกับ Service Provider เจ้าอื่นๆ โดยการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงทุนระบบและสร้าง Infrastructure เป็นการลดต้นทุนให้กับผู้เล่นรายอื่นๆ ช่วยให้ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน 

 

ประเดิมบริการด้วย Investment Token

บริการแรกใน TDX จะเน้นบริการซื้อขายสินทรัพย์ประเภท Investment Token เป็นหลัก โดยยกตัวอย่างสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Investment Token คือ SiriHub Token ที่ได้ระดมทุนแบบ ICO ไปเมื่อปีที่แล้ว 

 

นอกจากนี้ยังมีแนวทางที่จะรองรับ Utility Token เนื่องจากมองเห็น Pain Point ว่าแต่ละ Token ไม่เชื่อมต่อกัน ทำให้ไม่สามารถมาแลกเปลี่ยนกันได้อย่างสะดวกมากนัก อย่างไรก็ตาม ในการให้บริการรองรับ Utility Token ยังไม่ใช่แผนงานในเร็วๆ นี้ 

 

“สำหรับคริปโต ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ถ้ามี Crypto Exchange ต้องการแปลงเงินดิจิทัลมาเป็นเงินตราจริง (Fiat Money) และโอนเงินมาเชื่อมต่อตลาด TDX ของเรา เราก็พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้เกิดธุรกรรมขึ้น เพราะเรามองเป็นส่วนเสริมที่ทำให้ทุกคนที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทำได้สะดวกขึ้น” ภากรกล่าว 

 

เชื่อ TDX บูม แม้ไม่มีบริการเทรดคริปโต 

เขากล่าวว่า แม้ TDX จะไม่รองรับบริการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโต แต่เชื่อว่าตลาด TDX จะได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากมีความโดดเด่นเฉพาะตัว (Niche) โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการหา Investment Token ที่น่าสนใจ ตรงกับความต้องการนักลงทุน และเหมาะกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ยกตัวอย่างเช่น Investment Token ที่มีสินทรัพย์หนุนหลังที่ไปผูกกับหุ้นหรือตราสารในต่างประเทศ หรือธุรกิจ SMEs ที่น่าสนใจในประเทศ 

 

กลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่คาดว่าจะมาใช้บริการ TDX น่าจะเป็นนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ระดับกลาง และมีความเชื่อการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ขณะที่นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงมากและต้องการสินค้าที่เก็งกำไร อาจจะไม่เหมาะกับแพลตฟอร์ม TDX 

 

ทั้งนี้ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย หรือ TDX จะมีบริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด เป็นผู้ให้บริการและดูแลระบบ โดยปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษาเงื่อนไขด้านเวลาในการให้บริการว่าจะเปิด 24/7 หรือไม่ แต่เบื้องต้นคาดว่าการให้บริการจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ เช่น Investment Token ที่ไปผูกกับสินทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา ก็ต้องสามารถซื้อขายได้ตามเวลาสหรัฐฯ 

 

ยึด ‘ความน่าเชื่อถือ’ เป็นจุดยืนหลัก 

ภากรกล่าวว่า ในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล หัวใจสำคัญคือการไม่มีตัวกลาง (Decentralize) ซึ่งแตกต่างจากสินทรัพย์ดั้งเดิมอย่างมาก ดังนั้นความน่าเชื่อถือจึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับ TDX​ โดยบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากจะเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือแล้ว จะให้ความสำคัญกับการสร้าง Third Party ที่จะมาทำหน้าที่เป็นผู้รีวิว แนะนำ วิเคราะห์สินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ รวมถึงทำหน้าที่ Verify Smart Contract ต่างๆ 

 

“ในตลาดดั้งเดิม เรามีสำนักงาน ก.ล.ต. มีทริสเรทติ้ง มีตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแบงก์ชาติ คอยมอนิเตอร์ ตรวจสอบความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นและอาจสร้างความเสียหายแก่นักลงทุน แต่ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีบล็อกเกอร์คนกลางเป็นคนทำหน้าที่พวกนี้ ซึ่งที่อยากฝากถึงนักลงทุนคือ อย่าคาดหวังว่าโลกดิจิทัลจะมีคนกลางหรือหน่วยงานกลาง ทั้งตลาดเองและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องโปรโมต Third Party Reviewer ให้เกิดขึ้น และนักลงทุนต้องเป็นคนให้คะแนนความน่าเชื่อถือผู้ที่รีวิวอีกที” ภากรกล่าว 

 

เชื่อสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตคู่กับสินทรัพย์ดั้งเดิม

สำหรับไทม์ไลน์การเปิดให้บริการ TDX นั้น ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของสำนักงาน ก.ล.ต. ในระหว่างนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เดินหน้าทำงานด้านลงทุนและพัฒนาระบบเพื่อสร้าง Infrastructure ที่เหมาะสม และยังได้ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์หลายราย จึงเชื่อว่าเมื่อเปิดให้บริการช่วงแรกจะมีสินค้าเข้ามาซื้อในแพลตฟอร์มจำนวนหนึ่ง 

 

“สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือ ตลาดไหนเหมาะสม ทางผู้ระดมทุนและนักลงทุนต้องสามารถเลือกได้ การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้เล่นในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นการทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น ทำให้คนมาใช้บริการมากขึ้น ทำให้มีคนเริ่มมาใช้ตลาดทุนมากขึ้น เป็น End Result ที่ควรจะเป็น” ภากรกล่าว 

 

นักลงทุนสนใจ ‘ลงทุนต่างประเทศ’ เพิ่ม

เขากล่าวเพิ่มว่า ปี 2565 โจทย์ที่เห็นชัด นักลงทุนไทยอยากไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงโปรโมตสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงสินทรัพย์อ้างอิงที่ไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น เช่น Depositary Receipt หรือ DR ทั้งนี้เพื่อให้นักลงทุนมี Asset Class ที่หลากหลายมากขึ้น และสามารถลงทุนได้ง่าย สะดวก และตอบโจทย์เรื่องมูลค่าการลงทุนที่ต้องไม่สูงเกินไป  

 

“ในการลงทุนต่างประเทศ นักลงทุนสถาบัน นักลงทุน High Networth ไม่ต้องห่วง พวกเขามีทางเลือก มีประสบการณ์ และมีเงินลงทุนจำนวนมาก แต่นักลงทุนที่เป็นชนชั้นกลาง เด็กรุ่นใหม่ที่อยากลงทุนหลากหลายในจำนวนเงินที่ไม่เยอะ เราต้องดูแลโดยหาผลิตภัณฑ์ที่ตรงความต้องการและเข้าถึงได้ เช่น นักลงทุนสนใจลงทุนในหุ้น Apple เราก็จะให้ผู้ออกหลักทรัพย์อ้างอิงในไทยออก DR ที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะและนักลงทุนเข้าถึงได้ง่าย” เขากล่าว 

 

‘ภาษีขายหุ้น’ ยังต้องรอข้อสรุป

สำหรับความคืบหน้าเรื่องการจัดเก็บภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax: FTT) กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า ขณะนี้ยังต้องรอข้อสรุปจากสรรพากร​ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสรรพากรอย่างต่อเนื่อง และได้ย้ำจุดยืน 3 เรื่องมาตลอด ประกอบด้วย 

 

  1. อัตราภาษีที่จัดเก็บต้องเป็นอัตราที่เหมาะสม

 

  1. ประเภทธุรกรรมที่จัดเก็บควรเป็นแบบไหน ประเภทใด ต้องมั่นใจได้ว่าไม่ได้จัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน เนื่องจากไม่ใช่ทุกธุรกรรมควรโดนเก็บภาษี 

 

  1. ควรแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มได้รับรู้ล่วงหน้า เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมตัวในเรื่องการจัดทำระบบต่างๆ เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีดังกล่าว

 

นอกจากนี้ยังได้ให้ข้อมูลในเรื่องผลกระทบไปด้วย ทั้งนี้เพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานภาครัฐ โดยจากการศึกษาถึงผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีขายหุ้น มีผลกระทบ 2 เรื่องหลัก คือ ต้นทุนการลงทุนที่สูงขึ้น และสภาพคล่องในตลาดที่จะหายไป ซึ่งก็สอดคล้องกับจุดยืนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ย้ำอยู่ตลอดว่า อัตราการจัดเก็บภาษีและประเภทธุรกรรมที่ต้องเสียภาษีต้องมีความเหมาะสม หากการจัดเก็บภาษีทำให้พฤติกรรมนักลงทุนเปลี่ยน นั่นก็สะท้อนว่าอัตราที่จัดเก็บภาษีสูงเกินไป 

 

คาดปีนี้ ‘หุ้นเก็งกำไร’ ลดลง 

ภากรกล่าวถึงกระแสหุ้นเก็งกำไรในปี 2565 น่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่กระแสดังกล่าวร้อนแรงมาก โดยมีหุ้นที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายสูงถึง 153 บริษัท ทั้งนี้เนื่องจาก 2 สาเหตุคือ บริบทเรื่องสภาพคล่องที่เปลี่ยนไป และการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการกำกับ 

 

โดยปี 2565 เริ่มเห็นเทรนด์ที่ชัดขึ้นแล้วว่าสภาพคล่องทั่วโลกจะลดลง จากการดำเนินนโยบายลดสภาพคล่องของ Fed และธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งเป็นภาพที่ตรงกันข้ามกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่สภาพคล่องล้นโลก ทำให้เกิดแรงเก็งกำไรในทุกสินทรัพย์ ทั้งตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ทองคำ และคริปโต 

 

นอกจากนี้ การเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการกำกับการซื้อขายในปลายปี 2564 น่าจะช่วยลดความร้อนแรงของหุ้นเก็งกำไรในตลาดหุ้นไทยได้เช่นกัน ซึ่งแนวทางดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อเรื่องหุ้นเก็งกำไร ยังคงเน้นการทำงานควบคู่กับสำนักงาน ก.ล.ต. เหมือนที่ผ่านมา 

 

“เมื่อสภาพคล่องลดลง ดอกเบี้ยกำลังจะเป็นขาขึ้น แรงเก็งกำไรก็น่าจะลดลง และหากเรามีการควบคุมที่เข้มขึ้น ก็น่าจะช่วยลดช่วงเวลาของการเก็งกำไรลงได้ แม้จำนวนหุ้นเก็งกำไรจะไม่ลดลง แต่ระยะเวลาที่จะเกิดแรงเก็งกำไรน่าจะสั้นลง นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจัดเก็บภาษีขายหุ้นด้วย การเข้ามาเก็งกำไรก็น่าจะลดลง” ภากรกล่าว 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising